บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น) สังคมท่ามกลางความขัดแย้ง (1) มีคำถามว่าจะปรองดองท้องถิ่นได้อย่างไร ถึงเวลาที่จะปรองดองท้องถิ่นหรือยัง เพราะดูแล้วท้องถิ่นมีปัญหาความขัดแย้งกันไปหมด ด้วยรูปแบบโครงสร้างที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ถูกออกแบบไว้ให้มีความขัดแย้งกันไปหมด และ ด้วยจำนวนของกลุ่มส่วนได้เสีย (Stakeholders) ที่มีมากมายหลายกลุ่ม หมายความว่า ท้องถิ่น หรือ อปท. มีคู่ขัดแย้งเต็มไปหมด ยิ่งอยู่ในช่วงสถานการณ์ที่ถูกแช่แข็ง “การเลือกตั้ง” (Freeze) ที่หมายความถึงการยุติการเมืองแบบการเลือกตั้งไว้เนิ่นนานถึง 7 ปี ถือเป็นภาวะวิกฤติยิ่งของท้องถิ่น โดยความหมายคำว่า “ปรองดอง” หมายถึง ออมชอม ประนีประนอม ยอมกัน ไม่แก่งแย่งกัน ตกลงกันด้วยความไกล่เกลี่ย ตกลงกันด้วยไมตรีจิต ในที่นี้ผู้เขียนจงใจให้ฝ่ายอำนาจรัฐ หรือ ที่อีกฝ่ายเห็นว่าเป็น “ฝ่ายอำนาจนิยม” (Authoritarianism) ให้เข้ามาแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ของท้องถิ่นด้วย (2) มีการเปรียบเทียบสภาพสังคมไทยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาว่าพ่อที่มีลูก 2 คนชอบทะเลาะตบตีกันมาตลอด ไม่เข้าใจว่าทำไมพ่อปล่อยให้ลูกทะเลาะกันโดยไม่ห้ามไม่ปรามให้หยุดหรือทำให้มีข้อยุติ จะบอกว่าคนไทยสบายมานาน ไม่เคยรู้จักรสชาติของการเป็นเมืองขึ้นเหมือนประเทศเพื่อนบ้านก็คงไม่ใช่ คงต้องช่วยกันหาเหตุผลว่า เหตุใดผู้มีอำนาจจึงไม่คิดไม่บริหารจัดการความขัดแย้งเพื่อให้มีข้อยุติ แนวคิดคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติก็มีมาแล้ว ในระบอบประชาธิปไตย ต้องไม่มีการแบ่งแยกเลือกพวกเลือกข้าง และต้องยอมรับในความเห็นต่าง (Open-Mindedness) ไม่เลือกปฏิบัติ (Non-discrimination) ในทุกฝ่าย แต่ “ความยุติธรรม” (Justice, Equity) ของประชาชนทุกกลุ่มยังเหลื่อมล้ำกันอยู่ ยิ่งปัจจุบันคำว่าความยุติธรรมนั้น มีแนวโน้มสูงว่าหมายรวมคำว่า “ความเป็นธรรม” (Fairness) เข้าไปด้วย ยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นอีกหลายเท่าตัว วาทกรรมแห่งความร้าวฉานร้าวลึก (1) การเกลียดชังกัน ดื้อรั้นไม่ยอมกันและกัน เช่น การสร้างวาทกรรมให้คนในประเทศเกลียดชังกันในหลายกลุ่มทั้ง Elite, นายทุน, ขั้วอำนาจการเมืองเก่า, กลุ่มคนรุ่นใหม่หัวใหม่หัวก้าวหน้า, กลุ่มอนุรักษนิยม ฯลฯ บวกสถานการณ์ผสมโรง ยุยง ปลุกปั่น โดยอาศัยวาทกรรมแห่งความร้าวฉาน (Hate speech) เป็นเงื่อนไขสำคัญที่นำสังคมไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรง เกิดคู่ขัดแย้งมากยิ่งขึ้น (2) ด้วยสถานการณ์แห่งความรู้สึกว่า “อยุติธรรม” หรือ “ไม่เป็นธรรม” เหล่านี้จะนำประชาชนเดินลงสู่ถนนที่ยากแก่การควบคุมได้ (3) “Hate speech” คำนี้มีคำอธิบายไว้แล้วตั้งแต่ปี 2557 ด้วยสถานการณ์แห่งความขัดแย้งเสื้อแดง นปช. กลุ่มพันธมิตร กลุ่ม กปปส. กลุ่มเสื้อเหลือง เป็น “วาทกรรมชังชาติ” ที่มีแนวโน้มพัฒนาเป็น “Hate crime” หรือ “อาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง” ได้ เลือกตั้งท้องถิ่นคือการปรองดอง (1) มาปรองดองกันเถอะ ท้องถิ่นต้องมีการเลือกตั้ง ด้วยการเรียกร้องของแนวร่วมหลายกลุ่มหลายฝ่ายที่เรียกร้องสอดรับกัน เสนอบันไดขั้นใหม่แห่ง “เลือกตั้งท้องถิ่น” ว่าท้องถิ่นแห่งใดจะจัดเลือกตั้งขึ้นเป็นแห่งแรก ก่อน กระทรวงมหาดไทยแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดให้ท้องถิ่นเตรียมการจัดทำงบประมาณค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (สถ.ผถ.) ในปี 2564 (2) “การแช่แข็งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นให้ประชาชนได้เรียนรู้ในการปกครองตนเอง ให้คนท้องถิ่นกำหนดนโยบายสนองความต้องการด้วยตัวเอง ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 พอกันทีกับการแช่แข็ง อปท. ไม่มีข้ออ้างเลื่อนการเลือกตั้งออกไปได้อีกแล้ว อย่าใช้ยุทธศาสตร์ “แช่แข็ง แกล้งถ่วง หวงอำนาจ” การรวมศูนย์อำนาจไว้ที่จุดเดียวหมดสมัยแล้ว (3) กระแสข่าวการเลือกตั้งท้องถิ่นในระยะหลังแรงมากขึ้น “พรบ.การเลือกตั้ง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562” มีผลบังคับใช้ 16 เมษายน 2562 ในมาตรา 11 และบทเฉพาะกาล มาตรา 142 ได้ระบุเงื่อนไขและขั้นตอนในการเลือกตั้งครั้งแรกภายหลังจากที่กฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับให้เป็นอำนาจของ “คณะรัฐมนตรี” (ครม.) เห็นสมควรให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใด ให้แจ้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทราบเพื่อประกาศให้มีการเลือกตั้ง (4) นักวิชาการมีข้อเสนอกระจายอำนาจ เร่งรัดรัฐบาลจัด 'เลือกตั้งท้องถิ่น' ภายในปี 2563 นี้ มันถึงเวลากระจายอำนาจ ท่ามกลางสถานการณ์ที่เปราะบาง ต้องสร้างวิกฤติให้เป็นโอกาส ท่ามกลางความสูญเสียต้องทำให้กำไรให้ได้ดี (5) มันรอเวลามานานแล้ว กลุ่มอนุรักษ์นิยมต่อต้านการเปลี่ยนแปลงมา 15 ปีนานพอแล้ว กระแสรูปแบบการปกครองท้องถิ่น “จังหวัดจัดการตนเอง” ถูกปลุกกระแสเข้ามาอีกหลังจากหายไปนายกว่า 7 ปี ตีเหล็กต้องตีตอนเหล็กร้อน สำคัญว่า การจุดติด “การเลือกตั้งท้องถิ่น” ตอนนี้จุดติดแล้ว การตีเหล็ก ต้องตีตอนเหล็กร้อน ท่ามกลางวิกฤติต่างๆ ของสังคม การลดหย่อนผ่อนปรนอะไรลงสักอย่าง จะทำให้วิกฤติต่างๆ ที่มีมากมายลดลงได้ เชื่อว่าคนที่อดรดทนอะไรไม่ได้ เมื่อได้ปลดปล่อยอะไรลงไปสักอย่าง ย่อมทำให้คนเหล่านั้นมีความรู้สึกที่ดีขึ้น มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น ไม่เก็บกด ฝ่ายรัฐไม่ควรมองข้ามจุดนี้ไป ไม่เชื่อก็ลงทำดูสิ การประกาศให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นขึ้นโดยเร็ว ย่อมสร้างความยินดีปรีดาแก่คนท้องถิ่น โดยเฉพาะคนรากหญ้าอย่างถ้วนหน้า จนลืมปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจปากท้องลงก็ได้