ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต “เงื่อนไขของสังคมประเทศอันเป็นแผ่นดินแม่ของเรากำลังคุกรุ่นไปด้วยปมขัดแย้งอันรนระอุที่หาทางออกอันลงตัวและมีคุณค่าไม่ได้เลย... ดูเหมือนว่าทุกสิ่งทุกอย่างทั้งกระบวนความคิดและการปฏิบัติจะดำเนินไปด้วยมิติความเชื่อเฉพาะตัวที่ไร้ขอบเขต บางขณะดูมืดมนและไร้เหตุผล ขณะที่อีกหลายๆขณะก็ไม่ปรากฏเจตจำนงอันบริสุทธิ์ที่จะมุ่งพัฒนาการแก้ไขปัญหาของสังคมอันวิกฤต ให้คืนกลับมาด้วยค่าความรู้ทางปัญญา... นั่นคือปัญหาที่กำลังตีบตันด้วยวิธีแก้ไขซึ่งนับวันก็จะยิ่งค่อยๆกัดกินตัวตนอันน่าเชื่อถือแห่งอำนาจของบุคคลลงอย่างสิ้นท่า... จนที่สุดต่างฝ่ายก็ต่างใช้อคติที่ไม่อาจควบคุมได้... เป็นปัจจัยในการแก้ไขปัญหาทางสังคม... ซึ่งก็ย่อมแน่นอนว่า... ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น... ย่อมหนีไม่พ้นหายนะแห่งโศกนาฏกรรม... ที่ประชาชนของสังคมทุกคนต้องตกเป็นผู้พ่ายแพ้ในนามของประเทศชาติ... จะไม่มีพันธสัญญาใดใดเกิดขึ้นเพื่อประชาคมอย่างแท้จริง... ตราบใดที่ฝูงชนที่กระหายอำนาจต่างยอมตนเป็นผู้มืดบอดทางจิตวิญญาณ และมุ่งกระทำแต่ความร้อนร้ายเพื่อสนองอัตตาจริตแห่งตนเพียงเท่านั้น”... นี่คือบทเริ่มต้นแห่งภาวะสำนึกแห่งอารมณ์ร่วมของประสบการณ์ทางสังคมที่กำลังดำรงอยู่จริงกับสาระอันเต็มไปด้วยคุณค่าของหนังสือที่ยิ่งใหญ่และมีคุณค่ามากที่สุดเล่มหนึ่งของโลก... หนังสืออันว่าด้วยบ่อเกิดและพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยในความเสมอภาค เสรีภาพ และภราดรภาพ ซึ่งสังคมไทยของเรากำลังกู่ตะโกนและหอนร้องกันออกมาด้วยน้ำเสียงสารพัดเสียงอันชวนขมขื่นและน่าเวทนา “สัญญาประชาคม” (Du Contract Social)... หลักแห่งสิทธิทางการเมือง... งานประพันธ์ของ “ฌอง ฌากส์ รูสโซ” (J. J. Rousseau) อันถือเป็นงานวรรณกรรมของฝรั่งเศสในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นยุคสมัยที่วรรณกรรมทั้งหลายที่สร้างขึ้นในเวลานั้น มีลักษณะพิเศษร่วมกันอย่างหนึ่ง คือนอกจากจะสะท้อนสภาพของการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมแล้ว ยังมีลักษณะที่ให้ความสำคัญต่อปรัชญาทางการเมืองอย่างหนักแน่นและจริงจัง อันถือเป็นคุณค่าที่โดดเด่นจนสามารถบดบังวรรณกรรมประเภทประโลมโลกย์ นิยาย กวีนิพนธ์ หรือบทละครลงไปได้... ความปั่นป่วนในวิกฤตทางการเมืองเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 18 สร้างผลกระทบอันใหญ่หลวงต่อสภาวะของสังคมและเศรษฐกิจของฝรั่งเศสโดยรวม ระบบที่เรียกว่า “ฐานันดร” ได้จัดการแบ่งชนชั้นของฝรั่งเศสในเวลานั้นออกเป็น 3 ชนชั้นอันประกอบด้วยฐานันดรที่หนึ่ง... คือเหล่าบรรดาพวกบรรพชิตในฝ่ายศาสนจักร... ฐานันดรที่สองคือหมู่ชนชั้นสูงอันได้แก่สถาบันกษัตริย์และขุนนาง ส่วนฐานันดรที่สามคือบรรดาสามัญชนซึ่งประกอบด้วยเกษตรกร พ่อค้า กระฎุมพีคนชั้นกลาง พวกช่างฝีมือ และผู้ประกอบอาชีพอิสระต่างๆ... บทบาทและสถานะของฐานันดรแต่ละฐานันดร ณ ขณะนั้นปรากฏว่ากลุ่มฐานันดรที่ 1 และฐานันดรที่ 2 เป็นเหล่ากลุ่มชนที่เป็น “อภิสิทธิ์ชน”... มีอำนาจและอภิสิทธิ์เฉพาะอย่างเหลือล้น... ต่างได้รับการยกย่องทางสังคมในระดับสูงให้สิทธิพิเศษต่างๆมากล้น โดยเฉพาะ... สิทธิยกเว้นในการเก็บภาษีอากร ส่วนกลุ่มชนที่อยู่ในฐานันดรที่ 3... กลับได้รับการดูหมิ่นเหยียดหยามจากพวกคนชั้นสูงและยังต้องแบกรับภาระในการเสียภาษีอากรต่างๆอย่างหนัก... ซึ่งยิ่งนับวันก็ยิ่งมีแต่เสียเปรียบ เพราะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ... ปรากฏการณ์แห่งความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในสังคมตลอดจนการก่อเกิดช่องว่างระหว่างชนชั้นที่ฉีกห่างและแตกต่างกันอย่างมาก... ทำให้สร้างความเดือดร้อนในสถานะทางเศรษฐกิจให้เกิดแก่ชนสามัญชาวฝรั่งเศสอย่างแสนสาหัส... ยิ่งบุคคลชั้นสูงผู้ยิ่งใหญ่ในฐานันดรที่เต็มไปด้วยอำนาจต่างกอบโกยผลประโยชน์เพียงเพื่อเฉพาะตัวเอง... และหมู่พวก ก็ยิ่งทำให้ประชาชนยากจนยิ่งขึ้น ต่างมีหนี้สินอันล้นพ้น โดยที่หมู่ชนชั้นสูงที่หลงระเริงอยู่กับความหรูหราฟุ่มเฟือย... ไม่เคยทอดสายตาและคำนึงถึงความเดือดร้อนทุกข์ยากของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศเลย และบริบทตรงส่วนนี้เองที่ทำให้ “รูสโซ” ได้ขบคิดถึงเรื่องในเชิงกฎหมายว่าด้วยสถานะและสถาบันต่างๆทางการเมือง นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1743… จนที่สุดก็สามารถรวบรวมความคิดทั้งหลายไว้ในงานเขียนซึ่งเป็นสาระสำคัญอันเป็นผลรวมของหนังสือเล่มนี้... “รูสโซ”เริ่มต้นบทประพันธ์แห่ง “สัญญาประชาคม” ด้วยแก่นความคิดที่... ชวนไตร่ตรองและชวนขบคิดกันอย่างลึกซึ้งและหนักแน่นว่า “มนุษย์เกิดมาเสรี แต่เขาถูกพันธนาการอยู่ทั่วทุกแห่งหน... ดังนั้นจึงควรทำลายสัญญาแบบดั้งเดิมที่อยุติธรรมนั้นทิ้งเสีย... นั่นคือสัญญาที่คนมีอำนาจกดขี่ข่มเหงผู้ที่อ่อนแอกว่า และสมควรที่จะทำสัญญาขึ้นใหม่ที่เรียกว่า... สัญญาประชาคม... ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองบุคคลแต่ละคนในสังคมและให้เสรีภาพตลอดจนความเสมอภาคแก่เขาด้วย” รูสโซตระหนักที่จะใช้วิธีคิดแบบนักปรัชญาและนักศีลธรรมโดยเฉพาะกับประเด็นที่มุ่งเน้นย้ำว่า... สังคมที่ยุติธรรมนั้นควรจะเป็นเช่นไร?... โดยเขาได้พินิจพิเคราะห์และตั้งกฎเกณฑ์ที่ดีที่สุดขึ้นมา และชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าผลต่างๆที่จะตามมาและสร้างคุณค่าต่อมวลมนุษย์ทั่วโลกนั้นเป็นอย่างไร? “ผู้เชื่อว่าตนเป็นนายคนอื่น กลับเป็นทาสเสียยิ่งกว่า... ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าจะทำให้การเปลี่ยนแปลงนี้ถูกต้องตามกฎหมายได้อย่างไร... แต่ข้าพเจ้าเชื่อว่าจะตอบคำถามนี้ได้...” ในฐานะผู้ประพันธ์... “รูสโซ” ได้เขียนคำนำของหนังสือเล่มนี้เอาไว้เพียงสั้นๆ โดยบอกว่า “ความเรียงสั้นๆชิ้นนี้สกัดมาจากงานชิ้นหนึ่งที่ยาวกว่า ซึ่งข้าพเจ้าได้เขียนขึ้นโดยไม่ดูความสามารถของตัวเอง และจึงถูกทิ้งมานานปี จากหลายส่วนที่พอจะดึงใช้ได้นั้น ส่วนนี้สำคัญที่สุด และข้าพเจ้าคิดว่าน่าจะเป็นส่วนที่ไร้ค่าน้อยที่สุด... อันพอจะเสนอต่อสาธารณชนได้... ส่วนอื่นๆนอกจากนี้ไม่มีอยู่แล้ว...” หากจะนับย้อนไปสู่ต้นกำเนิดอันแท้จริงของ “สัญญาประชาคม” ก็ต้องชี้ให้เห็นถึงที่มาที่ไปอันเป็นแรงผลักดันสำคัญที่กลายเป็นสิ่งบันดาลใจให้รูสโซได้ประพันธ์ผลงานอันมีค่านี้ขึ้นมา... ว่ากันว่าหากจริยวัตรของผู้ปกครองอันมีอำนาจสูงสุด... ไม่ได้หลงอยู่กับความหรูหราฟุ่มเฟือยจนลืมคำนึงถึงสภาพของประชาชนโดยทั่วไป... ถ้าหากไม่ได้หลงมัวเมารอยู่กับสิ่งจอมปลอม... ด้วยอำนาจการปกครองและบริหารราชการแผ่นดินแบบรวมศูนย์อำนาจ... ครอบคลุมไปถึงอำนาจการออกกฎหมาย อำนาจสั่งการให้หน่วยงานนำกฎหมายไปปฏิบัติ... ตลอดจนอำนาจในการพิจารณาตัดสินคดีความต่างๆ อันก่อให้เกิดความสับสนก้าวก่ายกันเองจนไม่อาจปฏิบัติการให้เป็นไปในแนวทางที่เป็นประโยชน์... ด้วยจุดบกพร่องเหล่านี้เองที่ได้กลายเป็นสาระสำคัญที่บรรดานักคิดนักเขียนต่างพากันวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างรุนแรง “เมื่อประชาชนถูกบังคับให้เชื่อฟัง เขาก็ต้องเชื่อฟัง เขาย่อมทำดีแล้ว แต่ทันทีที่เขาสลัดแอกทิ้งไปได้ เขาก็สลัดมันทิ้ง เขาทำได้ดียิ่งขึ้นเพราะสิทธิ์ที่เขาใช้เพื่อเอาเสถียรภาพคืนมานั้น ก็เป็นสิทธิ์เดียวกันกับที่ถูกใช้เพื่อแย่งมันจากเขา... จะพูดว่าประชาชนมีสิทธิ์ที่จะเอาเสรีภาพคืนมาได้ หรือจะบอกว่าไม่มีใครมีสิทธิ์แย่งมันไปก็ได้เหมือนกัน” ด้วยเหตุนี้... กลุ่มบรรดาสามัญชนที่ประกอบด้วยพ่อค้าและผู้ประกอบอาชีพอิสระซึ่งได้แก่ แพทย์ ทนายความ และนักเขียนซึ่งรวมตัวกันเรียกว่า “กระฎุมพี”... บุคคลในกลุ่มนี้มีการศึกษาสูง แต่กลับไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมชั้นสูง... คนกลุ่มนี้บางคนที่มาจากขุนนางหัวก้าวหน้าจึงรวมตัวกันเป็นนักคิดนักเขียนที่เรียกกันว่า “นักปรัชญา”... โดยถือเป็นกลุ่มที่นำการเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความคิด... ระบบการเมือง... ปรารถนาที่จะเป็นค่านิยมใหม่ๆ เรียกร้องถึง... เสรีภาพ ความยุติธรรม ความเสมอภาค ความก้าวหน้าของอารยธรรมอย่างมีเหตุผล... ทั้งหมดมีวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ มีความเชื่อมั่นว่า “เหตุผลสามารถเป็นเครื่องชี้นำมนุษย์ให้ไปสู่ความดีงามและความเจริญผาสุก... ตลอดจนยังมีพลังอิทธิพลที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ก้าวหน้าไปสู่สภาพสังคมที่ดีขึ้นเรื่อยๆ”... ดังนั้นพวกเขาจึงพยายามเผยแพร่แนวคิดที่ใช้เหตุผลและวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ไปสู่มหาชนโดยร่วมกันจัดทำหนังสือ “สารานุกรม” ที่บรรจุสรรพวิทยาทั้งปวง... หนังสือสารานุกรมฉบับดังกล่าวนี้เอง... ที่นับเป็นเครื่องมือในการหล่อหลอมและผนึกกำลังทางปัญญาวิชาการครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด... ในศตวรรษ... เป็นหนังสือที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงโดยที่นักเขียนเองก็คาดไม่ถึง... ทั้งนี้ไม่เพียงแต่สรรพวิทยาการที่เป็นเรื่องของเหตุผลทางการเมืองทางสังคม ความรอบรู้ทางธรรมชาติ หรือเรื่องของสติปัญญาเท่านั้น... หนังสือเหล่านี้ยังได้ให้ความสำคัญในเรื่องของสุนทรียศาสตร์ อีกทั้งเหล่านักคิดนักเขียนในกลุ่มนี้ยังใช้ข้อคิดข้อเขียนของตนวิพากษ์วิจารณ์สถาบันแห่งอำนาจและรัฐบาล... ได้ชี้ให้เห็นถึงข้อบกพร่องของสังคม... ความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ความอยุติธรรม อีกทั้งยังได้โจมตีความหลงงมงายต่อสถาบันศาสนจักรที่ค้ำจุนสถาบันแห่งอำนาจ พร้อมกับการเสนอแนะให้มีการร่วมกันศึกษาค้นคว้าถึงระบบการปกครองที่เชื่อได้ว่าจะเหมาะสมที่สุดกับประเทศ โดยมุ่งหวังให้เกิดการสร้างสรรค์สังคมแบบใหม่ที่เต็มไปด้วยความเจริญก้าวหน้า... โดยที่ประชาชนจะต้องมีชีวิตอยู่ด้วยความสุข... “สัญญาประชาคม” จึงถือเป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นโดยเงื่อนไขแห่งการสร้างสรรค์ระเบียบของสังคมใหม่ที่ดีกว่าโดยบรรดานักคิด... นักเขียนกลุ่มนี้และผลงานของพวกเขาที่ร่วมกันสร้างขึ้นมาทั้งหมด “ระเบียบของสังคมเป็นสิทธิ์อันศักดิ์สิทธิ์อันเป็นพื้นฐานของสิทธิ์อื่นๆทั้งมวล... แต่ทว่าสิทธิ์นี้ไม่ได้มาจากธรรมชาติ มันเกิดจากการตกลงร่วมกัน... เราจึงจำเป็นต้องรู้ว่าข้อตกลงเหล่านั้นมีอะไรบ้าง” “ฌอง ฌากส์ รูสโซ”... ได้เตรียมเขียน “สัญญาประชาคม” เมื่อปี ค.ศ. 1758 และตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม เมื่อเดือนเมษายน ปีค.ศ.1762 นับเป็นเวลา 248 ปีมาแล้ว... โดยแบ่งหนังสือออกเป็น 4 ตอน... แต่ละตอนได้แยกย่อยออกเป็นบทต่างๆเพื่ออธิบายรายละเอียดของเนื้อหาสาระอย่างกระจ่างและแยบยล... ในตอนที่หนึ่งเขาได้เริ่มต้นระบุถึงเจตจำนงที่อยากจะค้นคว้าดูว่า... ในระเบียบทางสังคมนั้น... จะสามารถมีหลักการที่ชอบธรรมและวางใจได้อยู่หรือไม่... โดยคำนึงถึงมนุษย์ตามที่เขาเป็น... คำนึงถึงกฎหมายตามที่สามารถจะเป็นไปได้ โดยการค้นคว้าของเขาได้พยายามประสานสิทธิ์ให้เข้ากับผลประโยชน์เพื่อไม่ให้ความยุติธรรมแยกออกจากอรรถประโยชน์ “แม้เสียงของข้าพเจ้าในการเสนอความเห็นต่อเรื่องราวทางสังคมจะแผ่วเบา แต่การมีสิทธิ์ออกเสียงก็เพียงพอที่จะทำให้ข้าพเจ้ามอบหน้าที่ให้ตัวเองศึกษาในเรื่องนี้ และข้าพเจ้ารู้สึกดีมาก... เพราะทุกครั้งที่ได้พินิจพิเคราะห์รัฐบาลประเทศต่างๆขณะทำการศึกษา จะพบเหตุผลใหม่ๆที่ทำให้ข้าพเจ้ารักรัฐบาลของประเทศตนเองเสมอ...” “รูสโซ” ได้ย้อนกลับไปชี้ให้เห็นถึงสังคมที่เก่าแก่ที่สุด... และเป็นสังคมที่เกิดโดยธรรมชาติเพียงสังคมเดียวคือครอบครัว กระนั้นลูกจะผูกพันกับพ่อนานเท่าที่ยังต้องการการดูแลจากพ่อเพื่อยังชีวิต... ทันทีที่ความต้องการนี้สิ้นสุดลง ความผูกพันโดยธรรมชาติก็จบสิ้นไปด้วย... ต่างฝ่ายต่างเป็นอิสระต่อกัน... และถ้าหากทั้งสองฝ่ายยังคงอยู่ด้วยกัน... นั่นก็ไม่ใช่ความผูกพันโดยธรรมชาติ แต่เป็นความผูกพันโดยความสมัครใจ... “เสรีภาพร่วมกันนี้เป็นผลของธรรมชาติมนุษย์... กฎข้อแรกของมนุษย์คือการดำรงอยู่ของตน การดูแลประการแรกของเขาคือการดูแลตนเอง ตัวเขาเองเท่านั้นที่จะตัดสินว่าจะดูแลตัวเองอย่าไรจึงจะดีที่สุด และดังนั้น... เขาจึงเป็นนายโดยสิ้นเชิง” “รูสโซ” ได้อธิบายถึงรายละเอียดในภาพกว้างของประเด็นนี้ว่า... หากจะถือเอาครอบครัวเป็นรูปแบบของสังคมทางการเมืองแบบแรกก็ย่อมได้... เพราะสามารถมีข้อเปรียบเทียบที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม... “ผู้นำทางสังคมคือพ่อ ประชาชนคือลูก ทุกคนเกิดมาเสรีและเท่าเทียมกัน... พ่อดูแลลูกโดยให้ความรักของตนเป็นเครื่องตอบแทน” ในขณะที่รัฐนั้น... ความพอใจที่ได้มีอำนาจบังคับบัญชากลับเข้ามาแทนที่ความรัก... ผู้นำรัฐจึงมักไม่มีความรักมอบให้แก่ประชาชน... “รูสโซ” ได้อ้างถึงข้อคิดจาก “อูโก โกรตีอุส” (ค.ศ.1583 – 1645) นักกฎหมาย นักการทูต และนักการเมืองชาวดัตช์ผู้ซึ่งงานเขียนทางกฎหมายของเขานับเป็นพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศยุคใหม่... โดยเขาปฏิเสธที่จะไม่ยอมรับว่าอำนาจทั้งหมดของมนุษย์ถูกสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกปกครองและยกเรื่องการ... เป็นทาส เป็นตัวอย่าง... วิธีการให้เหตุผลที่ “โกรติอุส” ใช้เสมอก็คือยกสิทธิ์ไปตั้งไว้บนฐานของข้อเท็จจริง... ซึ่งรูสโซก็ได้ชี้แจงว่า “เราอาจใช้วิธีที่มีเหตุผลกว่านี้ แต่ไม่ใช่วิธีที่จะเอื้อต่อทรราชมากขึ้น” “สัญญาประชาคม” (Du Contract Social) ในฉบับนี้... แปลเป็นภาษาไทยจากต้นฉบับภาษาฝรั่งเศสโดย... “วิภาดา กิตติโกวิท” โดยได้คงเนื้อหาไว้ทั้งหมดตามต้นฉบับ รวมทั้งได้ค้นคว้าข้อมูลประกอบจากแหล่งความรู้ต่างๆมาเป็นเชิงอรรถที่ค่อนข้างสมบูรณ์ แม้ภาษาไทยที่ใช้รองรับในการแปลจะเป็นภาษาที่ค่อนข้างยากและบางคำก็เป็นคำเฉพาะที่ประดิษฐ์ขึ้นมาให้สอดคล้องกับรากเหง้าแห่งความหมายของภาษาเดิมซึ่งมีส่วนที่ทำให้ต้องใช้ความพยายามในการตีความเพื่อความเข้าใจในเนื้อหาสาระอันเปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางสำนึกคิดให้ได้อย่างถ่องแท้... เมื่อสัญญาประชาคมถูกพิมพ์เผยแพร่ออกไปในยุคเริ่มต้นก็ได้กลายเป็นหนังสือที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางจากบุคคลในวงการต่างๆ.. ถึงขนาดนำเอาไปนั่งอ่านด้วยเสียงอันดังและวิพากษ์วิจารณ์แลกเปลี่ยนความคิดระหว่างกันตามร้านกาแฟ... บางครั้งก็นำไปอ่านในที่สาธารณะต่างๆ... “สัญญาประชาคม” กลายเป็นหนังสือคู่มือของนักศึกษา ปัญญาชนหัวก้าวหน้าและชนชั้นกลางใช้เรียกร้องทวงสิทธิ์ในการมีส่วนร่วมกับการปกครองบ้านเมือง... การปฏิวัติใหญ่ในฝรั่งเศสเมื่อ ค.ศ.1789 บรรดาพวกนักปฏิวัติต่างก็อ้างอิงถึงหนังสือเล่มนี้หลังจากที่หนึ่งปีก่อนหน้านั้น “มาราต์” นักปฏิวัติคนสำคัญคนหนึ่งได้ยกย่องให้เป็นประดุจคัมภีร์ “รูสโซ” เกิดที่รัฐเจนีวา... ปัจจุบันคือกรุงเจนีวาประเทศสวิตเซอร์แลนด์... ผลงาน “สัญญาประชาคม” ของพลเมืองแห่งเจนีวาผู้นี้ถือเป็นปฏิญญาสิทธิมนุษยชนและพลเมืองซึ่งตราขึ้นในสมัยปฏิวัติใหญ่... ซึ่งฝรั่งเศสมีหนังสือในด้านการเมืองเชิงวิชาการเช่นนี้อยู่ 4 เรื่อง... อันประกอบด้วย... “หนังสือหกเล่มว่าด้วยสาธารณรัฐ” ของ “ฌอง โบแดง”... “วิญญาณ (เจตนารมณ์)ของกฎหมาย” ของ “มองเตสกิเออ”... “ประชาธิปไตยในอเมริกา”ของ “ต็อกเดอะวิลล์” รวมทั้ง “สัญญาประชาคม” เล่มนี้... นี่คือหนังสือ... ที่เขียนขึ้นมาอย่างไตร่ตรองของนักปรัชญาและนักศีลธรรม... ที่ให้ข้อสรุปว่า... สังคมที่ยุติธรรมควรจะเป็นเช่นไร... โดยตั้งกฎเกณฑ์ต่างๆที่ดีที่สุดขึ้นมา และชี้ให้เห็นผลต่างๆที่จะมีค่าต่อมวลมนุษย์ทั่วโลกว่าเป็นเช่นไร? “หลังจากที่ได้วางหลักการอันแท้จริงในสิทธิทางการเมืองและพยายามวางรากฐานสำหรับการสร้างรัฐแล้วก็เหลือแต่ต้องให้ความมั่นคงแก่มันในความสัมพันธ์ภายนอกซึ่งจะต้องเกี่ยวข้องกับกฎหมายมหาชน การพาณิชย์ การเจรจาต่อรอง การทำสนธิสัญญา สิทธิประชาชน ฯลฯ แต่ทั้งหมดนี้นับเป็นเรื่องใหม่อีกเรื่องที่กว้างขวางมากจนเกินกว่าสายตาสั้นของข้าพเจ้าจะมองเห็น... ข้าพเจ้าจึงขอยึดแต่กับสิ่งที่ใกล้ตัวข้าพเจ้าเท่านั้น”