นายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงยุทธศาสตร์ฟื้นฟูการท่องเที่ยวเชิงรุกแบบเร่งด่วนภายใต้ภูเก็ตโมเดล ว่า เป็นการสร้างทางรอดให้กับการท่องเที่ยวไทย ในการที่จะนำไปเป็นโมเดลนำร่องให้กับการท่องเที่ยวส่วนภูมิภาคอื่นๆ ได้นำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ท่องเที่ยวต่อไป ซึ่งโครงการดังกล่าว เป็นการผลักดันให้ทางภาครัฐอนุญาตเปิดน่านฟ้าข้ามประเทศ รับเที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำ หรือ ชาร์เตอร์ไฟท์ กับ ไพรเวทเจ็ท ในกลุ่มที่แจ้งความประสงค์ เพื่อที่จะบินมาเที่ยวที่จังหวัดภูเก็ต และยินยอมกักตัว 14 วัน ซึ่งในประเด็นดังกล่าวนี้ ถ้าภาครัฐเห็นด้วยกับข้อกำหนดที่จะนำไปเสนอทางจังหวัดภูเก็ตก็มีความพร้อมที่จะดำเนินการได้ทันที “เวลานี้มีนักท่องเที่ยวในประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย และฮ่องกง แจ้งความจำนงค์ที่จะนำไพรเวทเจ็ทบินมาลงที่สนามบินนานาชาติภูเก็ต และยินยอมที่จะกักตัว 14 วันตามข้อกำหนดของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข หรือ Alternative State Quarantine และยินยอมชำระค่าใช้จ่ายเองทั้งหมดระหว่างกักตัวโดยความสมัครใจ ซึ่งถือเป็นโอกาสของภูเก็ตที่ได้กลุ่มที่มีคุณภาพ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับความยินยอมตามข้อกำหนดของรัฐบาลที่จะอนุญาตให้เปิดน่านฟ้าได้” นายภูมิกิตติ์ กล่าว โดย นายภูมิกิตติ์ กล่าวว่า จากการหารือกับผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยวในทุกๆ ด้านของภูเก็ต ได้มีข้อสรุปที่จะนำไปยื่นให้กับภาครัฐ เพื่อนำไปพิจารณาถึงการเปิดน่านฟ้ารับนักท่องเที่ยวในกลุ่มชาร์เตอร์ไฟท์ และไพรเวทเจ็ท โดยจะอยู่บนพื้นฐานของหลักการที่ทางจังหวัดภูเก็ต ได้นำเสนอด้วยกัน 4 ข้อ ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ทางภาครัฐยินยอมที่จะให้เปิดน่านฟ้าได้ภายในเดือนตุลาคม 2563 นี้ ทั้งนี้ นายภูมิกิตติ์ ได้กล่าวถึงหลักการดังกล่าวประกอบไปด้วย 4 T คือ 1.Test on Arrival ทดสอบเมื่อมาถึง โดยมีโรงพยาบาลรองรับอยู่ 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลกรุงเทพฯ จังหวัดภูเก็ต และโรงพยาบาลสิริโรจน์ 2.Tacing การติดตาม จะนำแอปพลิเคชั่นที่ทางภาครัฐใช้อยู่แล้วสัก 1 แอปมาเป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อง่ายต่อการติดตามเมื่อเกิดการติดเชื้อขึ้น 3.Treating capacity การเยียวยา ในกรณีนี้ทางจังหวัดภูเก็ตมีความพร้อมรองรับผู้ป่วยขั้นโคม่าของโควิด-19 โดยเฉพาะถึง 50 เตียง 4.Targeting กำหนดเป้าหมาย โดยจะเป็นการเจาะจงกลุ่มนักท่องเที่ยวที่สามารถดูแล และติดตามได้อย่างเคร่งครัด ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาถ้าภาครัฐบาลเห็นด้วยก็สามารถดำเนินการได้ทันที ก็น่าจะสร้างทางรอดให้กับการท่องเที่ยวภูเก็ต และจะกลายเป็นโมเดลให้กับจังหวัดอื่นๆ ในช่วงที่ยังไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติทั่วไปได้ เพราะถ้ายิ่งปล่อยเวลาไปอีกไม่กี่เดือนตัวเลขความสูญเสียทางเศรษฐกิจก็จะเพิ่มขึ้น และส่งผลให้เกิดปัญหาการเลิกจ้างงานมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สำหรับภูเก็ต เป็นจังหวัดที่มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวประเทศไทยอย่างมากทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม แต่ที่สำคัญมากคือ ภูเก็ตเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญของภาคการท่องเที่ยว มีโรงแรมระดับนานาชาติและโรงแรมบูติคที่ได้มาตรฐานสากล มีร้านอาหารระดับมิชลิน มีสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามระดับโลก มีมาตรฐานการบริการที่สูง รวมถึงเป็นจังหวัดที่มีผู้ประกอบการได้รับตราสัญลักษณ์ Amazing Thailand Safety and Health Administration: (SHA)โครงการยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย มากเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย รองจากกรุงเทพมหานคร โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตได้รับตราสัญลักษณ์ไปแล้วกว่า 350 ราย ซึ่งองค์ประกอบสำคัญเหล่านี้ ทำให้จังหวัดภูเก็ตเป็นแหล่งท่องเที่ยว และแหล่งเรียนรู้สำคัญที่พร้อมจะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้ผู้ประกอบการจากจังหวัดอื่นได้ในช่วงเวลานี้ ขณะที่สภาพเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ตที่ผ่านมาได้รับการขับเคลื่อนจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว มี GDP จากภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวถึง 85% ของเศรษฐกิจโดยรวมทั้งจังหวัด โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวรวม 14.4 ล้านคนในปี 2562 แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 10 ล้านคน และนักท่องเที่ยวชาวไทย 4 ล้านคน มีรายได้รวมจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรวม 480,000 ล้านบาท แต่ในวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ส่งผลให้ธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตสูญเสียรายได้ไม่ต่ำกว่า 160,000 ล้านบาท