รองอธิบดีกรมชลประทาน ลงพื้นที่สำรวจโครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น อ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดพัทลุง เมื่อวันที่ 30 ก.ค. นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ฝ่ายวิชาการ และคณะ ลงพื้นที่นำคณะสื่อมวลชนสำรวจโครงการอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดพัทลุง โดยมีนายภูดิศ ชนะวรรณโณ นายอำเภอป่าบอน ให้การต้อนรับและลงพื้นที่ร่วมกับผู้แทนจากหน่วยงานราชการระดับอำเภอ และระดับตำบล ผู้นำชุมชน ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ ณ โครงการอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดพัทลุง ในการนี้ รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้ลงสำรวจพื้นที่และให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในประเด็น "การพัฒนาแหล่งน้ำและการบริหารของโครงการกับประเด็นการบรรเทาและแก้ไขผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสีย" และสำรวจพื้นที่หัวงานร่วมกับนายอำเภอและผู้นำชุนชนที่เกี่ยวข้อง ก่อนการประชุมปัจฉิมนิเทศในช่วงบ่ายร่วมกับประชาชนในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ นายเฉลิมเกียรติ กล่าวว่า อ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว เป็นโครงการพระราชดำริ ซึ่งในวันนี้เกิดความสำเร็จในการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยประชาชนเสียงส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ทั้งนี้กรมชลประทาน พร้อมดำเนินการก่อสร้างคาดว่าในปี 64 เป็นต้นไป หากดำเนินการแล้วเสร็จอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่วจะมีความจุประมาณ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถส่งน้ำใช้เพื่อการอุปโภค บริโภค 2,090 ครัวเรือน สามารถนำน้ำไปใช้ในระบบประปาภายในชุมชนได้อย่างทั่วถึง ส่งน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่ชลประทาน 11,600 ไร่ นอกจากนี้จะมีการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อให้เกิดการจัดสรรน้ำอย่างเท่าเทียมกันอีกด้วย และขอขอบคุณพี่น้องประชาชนชาวป่าบอน และชาวพัทลุงที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาแหล่งน้ำ ซึ่งหากก่อสร้างแล้วเสร็จจะทำให้เกิดความมั่นคงด้านน้ำต่อประชาชนในพื้นที่อย่างยั่งยืน โดยโครงการอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดพัทลุง ตั้งอยู่ บ้านเหมืองตะกั่ว หมู่ที่ 1 ตาบลหนองธง อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง เป็นเขื่อนเก็บกักน้ำชนิดเขื่อนดินถมชนิดแบ่งส่วน จากการศึกษาสภาพภูมิประเทศและจากการตรวจสอบในภาคสนาม พบว่า สภาพภูมิประเทศบริเวณพื้นที่รับประโยชน์มีสภาพเป็นลูกคลื่น สลับลูกเนินสลับที่ราบ ซึ่งเหมาะสมกับระบบส่งน้ำชลประทานชนิดระบบท่อส่งน้ำ โดยแนวท่อส่งน้ำจะพิจารณาวางไปตามแนวถนนเดิม ซึ่งจะทำให้ไม่กระทบกับที่ดินของราษฎร อีกทั้งยังสามารถส่งน้ำในพื้นที่ที่สูงกว่าท่อส่งน้ำได้ เนื่องจากส่งน้ำด้วยระบบแรงดัน จากการวางแนวท่อส่งน้ำทำให้สามารถส่งน้ำครอบคลุมพื้นที่รับประโยชน์ 16,475 ไร่ คลอบคลุม 9 หมู่บ้านในตำบลหนองธง และ 1 หมู่บ้านในตำบลคลองใหญ่ มีความยาวท่อส่งน้ำรวมประมาณ 37.20 กิโลเมตร คิดเป็นพื้นที่ชลประทานฤดูฝน 11,600 ไร่ ฤดูแล้ง 2,600 ไร่ และสามารถส่งน้ำให้ด้านอุปโภค-บริโภค ในตำบลหนองธงและคลองใหญ่ได้ตลอดทั้งปี