ผู้เชี่ยวชาญกรมศิลป์แจงผลตรวจสอบสภาพบานประตูวิหารวัดหมื่นล้าน จ.เชียงใหม่ นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า ตามที่ได้มอบหมายให้นักวิทยาศาสตร์เชี่ยวชาญจากกลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพบานประตูวิหารวัดหมื่นล้านโดยละเอียด หลังจากมีการทาสีทับลายรดน้ำบนบานประตูวิหารนั้น ได้รับรายงานว่า จากการตรวจสอบพบว่าชั้นของสีที่ทาทับบนบานประตูวิหารวัดหมื่นล้าน ประกอบด้วย ชั้นที่ 1 ชั้นรองพื้นประเภทเรซิ่น เป็นการปรับพื้นผิวบานประตูให้เรียบเสมอกัน ชั้นที่ 2 สีน้ำมัน (ที่นิยมใช้รองพื้นก่อนปิดทอง) สีแดง มีลักษณะบาง และชั้นที่ 3 สีน้ำมันสีดำ กระบวนการละลายชั้นสีที่ทาทับ ที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ ชั้นที่ 1 ชั้นรองพื้นประเภทเรซิ่น เพราะเป็นวัสดุที่ไม่มีตัวทำละลาย และหากปล่อยไว้จะทำปฏิกิริยากับอากาศทำให้แข็งตัวจับยึดแน่นกับภาพลายรดน้ำเดิม ซึ่งชั้นเรซิ่นนี้มีชั้นสีน้ำมันทาทับอยู่ จึงยังไม่แข็งตัวสามารถละลายออกได้ โดยเมื่อดำเนินการจะต้องประคองสภาพไม่ให้ชั้นเรซิ่นแข็งตัวเร็วขึ้น และค่อยๆ ละลายชั้นสีที่ปิดทับอยู่ทีละส่วน ไม่ละลายออกทีเดียวทั้งหมด โดยในขณะนี้กำลังทดสอบน้ำยาเคมีที่มีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อใช้ในการดำเนินการ ส่วนของระยะเวลาที่จะใช้ในการดำเนินการละลายชั้นสีทั้งหมดออกจนแล้วเสร็จ ในเบื้องต้นนักวิทยาศาสตร์ประเมินว่าน่าจะใช้เวลาอย่างน้อยประมาณ 30 วัน ขึ้นอยู่กับความยากง่ายในการดำเนินงานในแต่ละส่วน ซึ่งต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างสูง เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อลายรดน้ำดั้งเดิม และคืนสภาพลายรดน้ำบนบานประตูวิหารวัดหมื่นล้านไว้ให้ได้มากที่สุดต่อไป วัดหมื่นล้าน เป็นโบราณสถานที่ไม่ได้ประกาศขึ้นทะเบียน ตามประวัติระบุว่า สร้างโดยหมื่นโลกสามล้าน หรือ หมื่นด้งนคร ผู้เป็นขุนศึกคู่พระทัยของพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ล้านนาราชวงศ์มังราย ในปีมะเส็ง จุลศักราช 822 หรือตรงกับ พ.ศ. 2002 ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 มีบันทึกระบุว่า หลวงโยนะการพิจิตร ซึ่งเป็นคหบดีได้สร้างขึ้นมาทดแทนของเดิมที่เสียหาย ช่วงปี จ.ศ. 1279 ตรงกับ พ.ศ. 2460