ลานบ้านกลางเมือง /บูรพา โชติช่วง: 29 กรกฎาคม วันภาษาไทยแห่งชาติ “ภาษาไทยนั้นเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของชาติ ภาษาทั้งหลายเป็นเครื่องมือของมนุษย์ชนิดหนึ่ง คือเป็นทางสำหรับแสดงความคิดเห็นอย่างหนึ่ง เป็นสิ่งสวยงามอย่างหนึ่ง เช่น ในทางวรรณคดีเป็นต้น ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องรักษาเอาไว้ให้ดี ประเทศไทยนั้นมีภาษาของเราเอง ซึ่งต้องหวงแหน ประเทศใกล้เคียงของเราหลายประเทศมีภาษาตนเอง แต่ว่าเขาก็ไม่ค่อยแข็งแรง เขาต้องพยายามหาทางที่จะสร้างภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้..” คัดจากนิทรรศการ รักษ์ ธำรงภาษาหนังสือไทย ตามนัยพระราชดำรัสไว้ให้ภูมิใจชาติ, หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช วันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ ในวันนี้เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ในวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 พระบาทสมเด็จพระบรม ชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงอภิปรายเรื่อง “ปัญหาการใช้คำไทย” ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงแสดงความห่วงใยในภาษาไทย ทำให้ผู้ร่วมประชุมครั้งนั้นประทับใจ พระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษานี้ก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือ ให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่า วิธีใช้คำมาประกอบประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สาม คือ ความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้...สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่ายๆ ก็ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่าๆ ที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก ต่อมา วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้วันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ มีวัตถุประสงค์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรม ชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงเป็นนักปราชญ์ และนักภาษาไทย รวมทั้งเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ได้ทรงแสดงความห่วงใย และพระราชทานแนวคิดต่างๆ เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องด้านการศึกษาและวัฒนธรรม จึงมีการจัดกิจกรรมวันภาษาไทยแห่งชาติ ซึ่งในปีนี้ 2563 สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ สบร. ได้ประกาศเชิดชูเกียรติคุณ ปฐมาจารย์แบบเรียนภาษาไทย เมื่อวันที่ 23 ก.ค. ที่ผ่านมา สำนักหอสมุดแห่งชาติ นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ ประธานกรรมการ สบร. กล่าวว่า เพื่อร่วมรำลึกถึงคุณูปการของบุคคลผู้มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาภาษาไทย ที่ได้ริเริ่มสร้างสรรค์องค์ความรู้ด้านภาษาไทยในรูปแบบต่างๆ ที่สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน ในฐานะครูต้นแบบภาษาไทยและแบบเรียนภาษาไทย โดยมีการคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาไทย ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ร่วมพิจารณาจากผู้มีผลงานโดดเด่นเป็นที่ยอมรับ ก่อนการประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ.2464 สำหรับผลการคัดเลือกปฐมาจารย์แบบเรียนภาษาไทย แบ่งเป็น 5 ด้าน จำนวน 13 ราย ดังนี้ ปฐมาจารย์ด้านการประดิษฐ์อักษรไทย ได้แก่ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ปฐมาจารย์ด้านแบบเรียนภาษาไทยและอักษรศาสตร์ชั้นสูง ได้แก่ พระโหราธิบดี ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช , สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส และ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ปฐมาจารย์ด้านแบบเรียนภาษาไทยเบื้องต้นก่อนระบบการศึกษาในโรงเรียน ได้แก่ พระเทพโมลี (ผึ้ง) , พระสุนทรโวหาร(ภู่) ,นายมี (เสมียนมี) , พระอมราภิรักขิต(เกิด อมโร) , ปฐมาจารย์ด้านแบบเรียนภาษาไทยเบื้องต้นตามระบบการศึกษาในโรงเรียน ได้แก่ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) , สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ , ฟรองซัว ตูเวอเนท์ ฮีแลร์ หรือฟ. ฮีแลร์ ปฐมาจารย์ด้านพจนานุกรม ได้แก่ พระสังฆราช ปาเลอกัว ,หมอ บรัดเลย์ ด้านกระทรวงวัฒนธรรม มีการยกย่องบุคคลด้านภาษาไทยในแต่ละด้าน และเยาวชนผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ประจำปี 2563 มอบรางวัลเมื่อวันที่ 24 ก.ค. ที่ผ่านมา