“วิทยาลัยช่างศิลป”ระดมคณะทำงานกว่า 200 ชีวิต ลงสีจิตรกรรมโครงการพระราชดำริฝาผนังพระที่นั่งทรงธรรม ยึดแนวทางการทำงานบนพื้นฐานของเหตุการณ์จริง ผสมผสานจิตรกรรมโบราณ- ศิลปกรรมสมัย ร.9 เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 60 เวลา 09.00 น. ที่สำนักช่างสิบหมู่ อ.ศาลายา จ.นครปฐม มีการจัดพิธีบวงสรวงเพื่อเข้าสู่การดำเนินงานลงสีจิตรกรรมฝาผนังพระที่นั่งทรงธรรม อาคารประกอบพระเมรุมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยวิทยาลัยช่างศิลปลาดกระบัง สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ รับผิดชอบดำเนินการในส่วนผนังที่ 3 มีการร้อยเรียงเรื่องราวโครงการพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลางกับภาคใต้ รวมทั้งสิ้น 14 โครงการ โดยมีคณะทำงานของสำนักช่างสิบหมู่ ตลอดจนนิสิต นักศึกษา คณาจารย์ และศิษย์เก่าจากวิทยาลัยช่างศิลปร่วมพิธีบวงสรวง หลังเสร็จพิธี คณะทำงานได้ทยอยขึ้นนั่งร้าน เพื่อนำกระดาษไขมาทาบลายสเก็ตซ์ เริ่มลงสีบนผืนผ้าใบ เป็นการเบิกฤกษ์ลงมือทำงาน นายสนั่น รัตนะ ครูชำนาญการพิเศษ วิทยาลัยช่างศิลปลาดกระบัง กล่าวว่า ขั้นตอนแรกจะให้ทีมงานคัดลอกลายลายเส้นจากภาพสเก็ตซ์ ซึ่งนายมณเฑียร ชูเสือหึง จิตรกรเชี่ยวชาญ สำนักช่างสิบหมู่ได้ออกแบบใส่ลงกระดาษไข เพื่อนำไปปรับแก้บางส่วน เพราะภาพสเก็ตซ์ที่มีอยู่มีเพียงการบอกตำแหน่งบุคคลในภาพ ว่าคือใคร แต่การดำเนินงานต้องหาข้อมูลที่ชัดเจนของบุคคลในภาพประกอบกับเครื่องแต่งกาย เพื่อให้ภาพออกมาสมบูรณ์ ถูกต้องเหมือนเหตุการณ์จริงมากที่สุด จากนั้นจะส่งเจ้าหน้าที่อีกทีมหนึ่งเข้ามาดำเนินงานขึ้นพื้นคัดลอกบรรยากาศ ทั้งหมดก่อนนำตัวภาพมาคัดลอก และเขียนตัวภาพทับอีกชั้นหนึ่ง นายสนั่น กล่าวอีกว่า ได้มีการตั้งคณะทำงานฝ่ายวิชาการเพื่อหาข้อมูลและรายละเอียดโครงการพระราชดำริ ที่นำมาเป็นต้นแบบการเขียน จากเอกสารและจดหมายเหตุ รวมทั้งตรวจสอบความถูกต้องตามแบบที่กำหนดก่อนที่จะมีการลงสี เพื่อให้ได้องค์ประกอบทุกส่วนตรงความเป็นจริง ทั้งในส่วนในหลวง ร.9 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนโครงการต่างๆ โดยจะหาข้อมูลว่าทรงสวมฉลองพระองค์อะไร สีอะไร เครื่องยศ เครื่องทรงเป็นแบบไหน เช่นเดียวกับผู้ที่เป็นบุคคลปรากฏในภาพสเก็ตซ์จิตรกรรมจะต้องอยู่บนพื้นฐานชองข้อมูลจริงทั้งหมด อาทิ โครงการป้องกันน้ำท่วมที่จ.ชุมพร การทำงานต้องอยู่บนพื้นฐานของเหตุการณ์จริง คณะทำงานได้น้อมนำสิ่งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 รับสั่งไว้มาเป็นแนวทางการดำเนินงาน โดยพระองค์เคยรับสั่งว่า ต้นไม้ในจิตรกรรมฝาผนังนั้น การเขียนภาพจะต้องบอกชื่อได้ว่า เขียนต้นอะไร บนต้นไม้มีสิ่งมีชีวิตอีก นั่นหมายถึง เราต้องใส่สัตว์อื่นๆ ประกอบลงไปด้วย ขณะที่เรื่องเสื้อผ้าอาภรณ์ทุกชิ้น พระองค์ท่านทรงขยับสูท แล้วรับสั่งว่า เขียนเราใหม่ให้เหมือนแบบนี้ นั่นคือมูลเหตุที่เราน้อมรับมาดำเนินงานให้ทำงานออกมาเหมือนจริง ส่วนวิธีการวางรูปแบบจะใช้แนวทางวางแบบภาพจิตรกรรมไทยโบราณผนวกกับศิลปกรรมในรัชกาลที่ 9 มี 3 มิติ เน้นลายเส้นแบบไทย มีแสงเงาธรรมชาติ โดยเป็นการต่อเล่าเรื่องเป็นตอนๆ เป็นห้องๆ บนผนังผืนใหญ่ จะใช้คณะทำงานประมาณ 200 คน ทั้งครู อาจารย์ นักศึกษา และศิษย์เก่า รวมถึงทีมจากวิทยาลัยช่างศิลปสุพรรณบุรีมาร่วมทำงานด้วย โดยการทำงานจะแบ่งงานตามความถนัดของแต่ละบุคคล ทั้งทิวทัศน์ อาคาร ภาพบุคคลทั้งที่เป็นภาพบุคคลเหมือน และไม่เหมือน ใช้เวลาทำงานประมาณ 120 วัน” นายสนั่น กล่าว ด้าน นายบุญพาด ฆังคะมะโน ผอ.วิทยาลัยช่างศิลป กล่าวว่า จากการประชุมร่วมกับสำนักช่างสิบหมู่ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตเพาะช่าง ถึงแนวทางการลงสีจิตรกรรมฝาผนังพระที่นั่งทรงธรรม ได้ข้อสรุปแนวทางร่วมกันว่า การเขียนภาพจะยึดตามภาพถ่ายต้นแบบเป็นแนวทางในการเขียน เนื่องจากภาพจิตรกรรมฝาผนังจะต้องออกมาให้เหมือนจริงมากที่สุด ทั้งนี้ทางสำนักช่างสิบหมู่ได้เน้นย้ำเรื่องภาพเขียนที่ใช้ศิลปะในสมัยรัชกาลที่ 9 ภาพจะมีมิติเหมือนจริง เน้นการตัดเส้นเพิ่มเติมในการสร้างมิติให้ภาพออกมาสมจริงมากที่สุด โดยขณะนี้กำลังดำเนินการจัดหมวดหมู่ของผู้ทำงานจากนั้นจะเริ่มดำเนินการจริงในสัปดาห์หน้า