เครือข่ายประมงอนุรักษ์ร้องคณะก้าวหน้า โครงการคลองผันน้ำนครฯ อาจทำปลาสูญพันธุ์ คนต่อต้านกลับถูกจนท.คุกคาม นางสาวพรรณิการ์ วานิช และนายเจนวิทย์ ไกรสินธุ์ กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า พร้อมด้วยทีมงานคณะก้าวหน้าจังหวัดนครศรีธรรมราช ล่องเรือสำรวจอ่าวปากพนังบริเวณคลองปากนคร โดยมีเครือข่ายประมงพื้นบ้านจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเกิดจากการรวมกลุ่มชาวประมง 57 กลุ่มจาก 6 อำเภอในนครศรีธรรมราช ร่วมพูดคุยพร้อมร้องเรียนปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ตัวแทนเครือข่ายประมงพื้นบ้านระบุว่า ในอ่าวปากพนัง ซึ่งเป็นแหล่งจับสัตว์น้ำที่อุดมสมบูรณ์ ชุกชุมด้วยปลากะพง ปลากดทะเล ปลาดุกทะเล ปูดำ และหอยทุกชนิด มีเรือประมงพื้นบ้านทั้งหมด 3,412 ลำ และที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนอีกกว่า 1,000 ลำ ในจำนวนนี้เป็นเรือประมงที่ใช้เครื่องมือผิดกฎหมาย 120 ลำเท่านั้น ตามสถิติในปี 2561 เพราะผู้ว่าราชการคนก่อนใช้ “ปากพนังโมเดล” นั่นก็คือการประนีประนอมกับชาวประมง ไม่กวาดจับตามกฎหมายที่ออกโดยคสช.ในยุคนั้น แต่ประชาสัมพันธ์ให้ชาวประมงเอาเครื่องมือผิดกฎหมายมาแลกเครื่องมือถูกกฎหมาย ทำให้ชาวประมงที่นี่ได้รับผลกระทบน้อยกว่าที่อื่น ๆ และปรับตัวมาทำประมงอย่างถูกกฎหมายและยั่งยืนได้ แต่ช่วงก่อนเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 กลับมีการหาเสียงโดยผู้สมัครจากพรรคการเมืองที่ปัจจุบันเป็นพรรครัฐบาล ช่วยชาวประมงที่มีเครื่องมือผิดกฎหมาย ทำให้เกิดความแตกแยกกันระหว่างประชาชนในพื้นที่ ทำลายความสำเร็จของ “ปากพนังโมเดล” จนปัจจุบันมีชาวประมงหันมาใช้เครื่องมือผิดกฎหมายมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะทำแล้วไม่ถูกจับ เนื่องจากมีนักการเมืองหนุนหลัง ส่วนโครงการต่าง ๆ ของกลุ่มประมงอนุรักษ์ก็ถูกใส่ร้ายป้ายสี เช่น โครงการปักไม้ไผ่ทำบ้านปลาตามแนวชายฝั่ง ให้ปลาได้มาหลบภัย และให้หอยแมลงภู่มาเกาะเสาไม้ไผ่ ชาวบ้านได้อาศัยเก็บหอย มีรายได้ถึงวันละ 700-800 บาท กลับถูกผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งรื้อถอน โดยใช้ข้อหาว่าทำโดยไม่ได้รับอนุญาต และกีดขวางทางน้ำ แต่ชาวบ้านก็ยืนยันไม่รื้อถอน เนื่องจากกรมเจ้าท่าลงพื้นที่สำรวจและยืนยันแล้วว่าบ้านปลาไม่ได้กีดขวางทางน้ำ    นอกจากนี้ แกนนำชาวประมงที่จับปลาอย่างถูกกฎหมายและทำงานอนุรักษ์พันธุ์ปลา ยังถูกกดดันอย่างหนัก นายสักกะ ชูช่วย และนายสมพงษ์ เมฆแก้ว ถูกเจ้าหน้าที่บุกตรวจค้นยาเสพติดถึงบ้าน และถูกข่มขู่เอาชีวิต จนไม่สามารถไปไหนมาไหนได้อย่างปกติสุข ต้องอยู่อย่างหวาดกลัว ตัวแทนเครือข่ายประมงพื้นบ้านระบุว่า หากเป็นเช่นนี้ต่อไป คนในพื้นที่ก็จะแตกแยกกันมากขึ้น และคนจะหันไปทำประมงแบบผิดกฎหมาย ซึ่งทำลายความสมดุลของระบบนิเวศ จึงเรียกร้องให้นักการเมืองยุติการยุยงชาวประมงให้ทำผิดกฎหมาย และยุติการใช้อำนาจรัฐกดดัน คุกคามประชาชน หากไม่มีการยุยงจากผู้มีอิทธิพล เชื่อว่า “ปากพนังโมเดล” จะกลับมาได้ผลอีกครั้ง และชาวประมงก็จะทำมาหากินได้อย่างปกติสุข ไม่ละเมิดกฎหมาย และจับปลาอย่างไม่ทำลายระบบนิเวศด้วย นอกจากนี้ ตัวแทนเครือข่ายประมงยังแสดงความกังวลต่อโครงการเมกะโปรเจ็คของรัฐบาล “คลองผันน้ำนครศรีธรรมราช” ซึ่งมีวัตถุประสงค์แก้ปัญหาน้ำท่วมในตัวเมืองนครศรีธรรมราช  โดยปัจจุบันอ่าวปากพนังเป็นที่บรรจบของคลอง 8 สายปล่อยน้ำไหลลงทะเลตามธรรมชาติ ระบบนิเวศสมดุล ไม่มีปัญหา ยกเว้นคลองปากพนัง ที่มีประตูน้ำกั้น จะเปิดระบายน้ำเมื่อพื้นที่อ.ชะอวดเกิดน้ำท่วม เมื่อเปิดที น้ำก็ทะลักออก ทำให้ปลากะพงในอ่าวน็อกน้ำตาย เมื่อคลองผันน้ำนครศรีธรรมราชสร้างเสร็จ จะมีน้ำทะลักออกปากอ่าวเพิ่ม 2 จุด คือบริเวณบางจาก 500 ลบ.ม./วินาที และปากนคร 250 ลบ.ม./วินาที ทำให้เกิดปัญหาคือแถบบางจาก น้ำจืดจะออกมามาก เสียระบบนิเวศ ปลาในอ่าวน็อกน้ำ ตายหมด ส่วนที่ปากนคร น้ำที่ไหลมาจะรวมเอาน้ำเสียจากตัวเมืองมาลงทะเลที่คลองปากนคร ทำให้ปลาหนีน้ำเสียออกไปปากอ่าว ชาวประมงต้องแบกภาระต้นทุนสูงขึ้นในการออกไปหาปลาไกลขึ้น และในระยะยาว ระบบนิเวศจะเสียสมดุลทั้งหมด ทำให้สัตว์น้ำไม่สามารถเข้ามาวางไข่ในอ่าวปากพนังได้อีกต่อไป และทำให้บริเวณนี้สูญเสียความอุดมสมบูรณ์ทางอาหารไปอย่างถาวร ด้านนางสาวพรรณิการ์ แสดงความเห็นว่า โครงการคลองผันน้ำนครฯ เป็นโครงการขนาดใหญ่ มูลค่าถึง 9,500 ล้านบาท แต่กลับทำโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบทางระบบนิเวศ และระบบเศรษฐกิจรากฐาน  ประมงเป็นรายได้หลักอันดับ 2 ของนครศรีธรรมราช รองจากสินค้าเกษตร เรือประมงพื้นบ้าน 1 ลำ เลี้ยงอย่างน้อย 3 ครอบครัว คือเจ้าของเรือ และลูกเรือ อ่าวปากพนังมีเรือประมงพื้นบ้านทั้งที่ขึ้นและไม่ขึ้นทะเบียน กว่า 4,500 ลำ หมายความว่าหากโครงการดังกล่าวทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำลดลง จะกระทบกับรายได้คนถึง 13,000 ครัวเรือน นอกจากนี้ โครงการคลองผันน้ำยังไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาน้ำท่วมตัวเมืองนครศรีธรรมราช แต่ยังมีข้อเสนออื่น ๆ ที่คิดจากประชาชนในพื้นที่ เช่นการใช้พื้นที่ว่างเหนือเมืองและใต้เมืองทำแก้มลิงรองรับน้ำ หรือการวางท่อขนาดเล็กจำนวนมากใต้ถนน ให้น้ำระบายออก บวกกับขุดลอกคูคลองเดิมที่มีอยู่แล้ว โดยไม่ต้องขุดคลองเพิ่ม หรือแม้จะสร้างคลองผันน้ำจริง ๆ ก็สามารถเปลี่ยนทางให้น้ำระบายออกสู่อ่าวทางคลองปากพญาได้ ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดปัญหาน้ำจืดออกสู่อ่าวมากเกินไปจนกระทบกับระบบนิเวศ เพราะคลองปากพญาอยู่ด้านนอกของอ่าว น้ำจะไหลออกสู่ทะเลเปิดได้ทันทีโดยไม่กระทบกับกระแสน้ำในอ่าวปากพนัง นาวสวพรรณิการ์ย้ำว่า โครงการคลองผันน้ำนครศรีธรรมราช เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการออกแบบนโยบายจากส่วนกลาง โดยละเลยความคิดสร้างสรรค์ของคนในชุมชน ไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อชุมชนอย่างรอบด้าน และหากรัฐบาลจะเดินหน้าโครงการนี้ต่อ ก็อยากให้คนนครศรีธรรมราชช่วยกันตั้งคำถามว่าโครงการนี้ทำขึ้นเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน หรือผู้รับเหมาโครงการกันแน่