วันที่ 27 กค.2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แปลงกัญชาอินทรีย์เพื่อการแพทย์ในระดับอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ นักวิจัยแม่โจ้เตรียมต่อยอดพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ และเตรียมเปิดหลักสูตรรองรับบุคลากรทางการแพทย์ของไทย การปลูกกัญชาในระดับอุตสาหกรรมระบบอินทรีย์ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ถือได้ว่าเป็นแหล่งผลิตที่ได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายและใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ได้ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 และได้เก็บเกี่ยวผลผลิตในรุ่นแรกแล้วเมื่อเดือนมกราคม 2563 เพื่อส่งมอบให้กับกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สำหรับใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ต่อไป ศาสตราจารย์ ดร.อานัฐ ตันโช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า "จากผลการวิจัยในโปรเจคต์แรกที่ได้รับมอบหมายจากกรมการแพทย์ โดยใช้สายพันธุ์กัญชาของไทยชื่อ "อิสระ01" ทำให้เกิดการต่อยอดงานวิจัยและได้องค์ความรู้ในการพัฒนาคุณภาพของสายพันธุ์กัญชาไทยให้มีคุณภาพที่ดียิ่งขึ้น เรียกได้ว่า เรารู้จักนิสัยและลักษณะธรรมชาติของกัญชาในแต่ละสายพันธุ์มากยิ่งขึ้น ขณะนี้เราปลูก รุ่นอิสระ 02 ที่ได้รับการคัดเลือกคุณสมบัติที่ดีที่สุดโดยเฉพาะด้านความไวต่อแสง ทำให้ได้กัญชาตัวเมียสูงถึงกว่าร้อยละ 90 หรือในทางกลับกันก็คือ ในโรงเรือนระบบปิดนี้เราเจอต้นกัญชาตัวผู้น้อยมาก หากเจอก็ต้องรีบกำจัดเพื่อควบคุมให้เกิดน้อยที่สุด เพื่อเตรียมคัดในรุ่นต่อไป นอกจากเรื่องของสายพันธุ์แล้ว เทคนิคการปลูกเลี้ยงที่คนส่วนใหญ่เข้าใจกันว่า "กัญชาปลูกง่าย" นั้น เราพบว่าแท้ที่จริงแล้วการควบคุมความเครียดของต้นกัญชามีผลต่อ ความเข้มข้นของปริมาณสาร CBD และ THC ที่เราต้องการนำไปใช้ให้ตรงกับความต้องการใช้งาน ซึ่งผลผลิตที่ได้จากรุ่นนี้จะถูกนำไปพัฒนาเป็นสายพันธุ์ของแม่โจ้ ให้เป็นกัญชาไทยในระบบอินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป รศ.ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า "นอกจากการปลูกในระบบอินทรีย์แล้ว แม่โจ้เรามีหลักสูตรสหวิทยากรระดับโท-เอก Cannabis Science และกำลังเตรียมเปิดหลักสูตรระดับปริญญาตรี และหลักสูตรเพื่อบุคลากรทางการแพทย์ต่อไป ซึ่งจะช่วยให้การเรียนรู้แนวทางการใช้พัฒนายิ่งขึ้น"ผลผลิตกัญชารุ่นแรก อิสระ01 จาก 12,000 ต้น เตรียมส่งมอบให้กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เป็นผลผลิตแบบแห้ง 680 กิโลกรัม (พร้อมดอก ลำต้น และราก) โดยจะต้องใช้ระบบขนส่งตามมาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายสิ่งเสพติด ในเร็วๆนี้