"อัยการสูงสุด"สั่งเรียกตรวจสำนวนคดี"บอส-วรยุทธ์ อยู่วิทยา"มาตรวจสอบ 29 ก.ค. “อลงกรณ์”ชี้คดีทายาทกระทิงแดงสะท้อนความเหลื่อมล้ำทางสังคม เสนอรัฐบาล 2 ข้อเร่งตรวจสอบคดีและเดินหน้าปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เผย"ปชป."เตรียมเสนอสภาฯ สอบสวนสัปดาห์หน้า ขณะที่"สิระ"ยัน กมธ.กฎหมาย ทำหน้าที่แทน ปชช.คลายสงสัย เรียก"ตร.- อัยการ"แจง 29 ก.ค. ทวงคืนความเป็นธรรมให้คนตาย ลบคำสบประมาทคุกมีไว้สำหรับขังคนจน จากกรณีอัยการมีหนังสือสั่งไม่ฟ้อง นายวรยุทธ์ อยู่วิทยา หรือบอส บุตรชายคนเล็ก ,นายเฉลิม อยู่วิทยา ทายาทกระทิงแดง ที่ก่อเหตุขับรถหรูพุ่งชน ดาบตำรวจวิเชียร กลั่นประเสริฐ ผู้บังคับหมู่งานปราบปราม สน.ทองหล่อ ขณะกลับจากการปฎิบัติหน้าที่จนเสียชีวิต เมื่อปี 2555 โดยมีการสอบพยานที่อยู่ในขณะเกิดเหตุเพิ่มเติม 2 ราย เมื่อปี 2562 ซึ่งพยานทั้ง 2 อ้างว่าเห็นผู้ต้องหาขับรถมาด้วยความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อีกทั้งผู้ตายยังขับรถจักรยานยนต์เปลี่ยนช่องทางเดินรถอย่างกระชั้นชิด ผู้ต้องหาจึงไม่สามารถหยุดรถได้ทันท่วงที เหตุที่เกิดเป็นเหตุสุดวิสัย จึงไม่มีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายนั้น ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 ก.ค.63 นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด(อสส.) เปิดเผยกับทางสปริงนิวส์ ว่า เบื้องต้นพอรับทราบเกี่ยวกับการนำเอกสารในสำนวนมาเผยแพร่บ้างแล้ว แต่ยังไม่ได้ตรวจสอบ เนื่องจากขณะนี้ติดราชการอยู่ในจ.ขอนแก่น แต่เรื่องสำนวน และข้อเท็จจริงในสำนวนคดี ท่านอัยการสูงสุดมีการสั่งให้เรียกสำนวนคดีมาตรวจสอบ โดยคาดว่าจะได้ทำการตรวจสอบสำนวนในวันที่ 29 ก.ค.นี้ เนื่องจากติดวันหยุดราชการ และหากมีความคืบหน้าเกี่ยวกับการตรวจสอบสำนวนจะมีการชี้แจงอีกครั้ง วันเดียวกัน นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า คดี ”บอส กระทิงแดง” กำลังสร้างความไม่เชื่อมั่นต่อการทำหน้าที่ของตำรวจและอัยการผู้รับผิดชอบคดี ซึ่งสะท้อนถึงความ 2 มาตรฐานของการบังคับใช้กฎหมายที่เพิ่มความเหลื่อมล้ำทางสังคมให้ถ่างกว้างมากยิ่งขึ้น นำมาซึ่งความเสื่อมของหลักนิติรัฐนิติธรรมของประเทศ และไม่เพียงแต่ทำให้ประชาชนขาดความศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรมและความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายเท่านั้น แต่ยังลดทอนความเชื่อมั่นด้านธุรกิจการค้าและการลงทุนของต่างประเทศที่มีต่อประเทศไทยรวมทั้งกระทบภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศโดยตรงอีกด้วย คดีในลักษณะนี้ไม่ใช่กรณีเดียวที่เกิดขึ้นในประเทศนี้แต่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเกิดวลีที่กล่าวว่า “คุกมีไว้ขังคนจน” นายอลงกรณ์ กล่าวอีกว่า ตนเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่รู้สึกอนาถใจในความไม่ชอบมาพากลของคดีนี้อย่างรุนแรงจึงมีข้อเสนอแนะ 2 ประการ 1.รัฐบาลควรสั่งการให้มีการตรวจสอบคดีดังกล่าวทันทีด้วยอำนาจของนายกรัฐมนตรีผู้ทำหน้าที่ฝ่ายบริหารสูงสุดของประเทศ และ2.เร่งรัดดำเนินการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 ภายใต้แผนปฏิรูปของคณะกรรมการปฏิรูปด้านกระบวนการยุติธรรม 10 ประเด็นโดยเร่งด่วน "นอกจากนี้ตนเองในฐานะประธานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พรรคได้ปรึกษากับ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ประธาน ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ พิจารณานำเรื่องเข้าหารือต่อสภาผู้แทนราษฎรให้ใช้กลไกของสภาผู้แทนราษฎรสอบสวนตรวจสอบคดีดังกล่าวในสัปดาห์หน้า" นายอลงกรณ์ กล่าว ขณะที่ นายสิระ เจนจาคะ ส.ส. กทม. พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกรรมาธิการ(กมธ.)การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎนร กล่าวถึง กรณีที่อัยการไม่สั่งฟ้อง นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส ทายาทของตระกูลที่เป็นเจ้าของบริษัทเครื่องดื่มชูกำลังรายใหญ่ ว่า ในฐานะเป็นกรรมาธิการการกฎหมายฯ ตนต้องการทำให้ทำความจริงให้มีความชัดเจน ทั้งในชั้นพนักงานสอบสวนและอัยการว่าทำไมสุดท้ายแล้วถึงไม่มีคำสั่งแย้ง “ตอนนี้ประชาชนเคลือบแคลงสงสัย และยิ่งมีคำพูดว่าคุกมีไว้สำหรับขังคนจนเท่านั้นหรือไม่ โดยทางกรรมาธิการจะมีการประชุมในวันที่ 29 ก.ค.นี้ โดยจะเชิญตำรวจและอัยการ ซึ่งตนและกรรมาธิการจะถามแทนคนตาย ในเมื่อคนตายพูดไม่ได้ ขอความเป็นธรรมก็ไม่เคยมีใครขอให้เขา ดังนั้นกรรมาธิการชุดนี้เราจะขอความเป็นธรรมให้กับคนตายที่เป็นข้าราชการตำรวจ แม้แต่ผู้บังคับบัญชาระดับสูงไม่เคยมาขอความเป็นธรรมให้กับลูกน้องเลย ศักดิ์ศรีมีหรือไม่ ยังมีไหมรักลูกน้อง ลูกน้องตายในขณะปฏิบัติหน้าที่แต่งกายเต็มยศ" นายสิระ กล่าว