นับตั้งแต่ประเทศไทยประสบปัญหาการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า หรือ COVID-19 บุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานอย่างหนักและมีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการ การสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมหรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่ทันสมัยเพื่อช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ทำงานได้อย่างสะดวกรวดเร็ว เพิ่มความปลอดภัยในการรักษาผู้ติดเชื้อจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ไม้ไฑ ดะห์ลัน นิสิตปริญญาโทภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และผู้ช่วยนักวิจัยประจำภาควิชาฯ เป็นหนึ่งในทีมพัฒนา “หุ่นยนต์” ช่วยบุคลากรทางการแพทย์ในช่วง COVID-19 ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ซึ่งประกอบด้วยคณาจารย์และนิสิตปริญญาโทและปริญญาเอกที่เข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาหุ่นยนต์ประเภทต่างๆ โดยไม้ไฑได้ร่วมพัฒนา “นินจา” หุ่นยนต์สื่อสารทางไกล (Telepresent Robot) ที่ช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อของแพทย์และพยาบาล เนื่องจากสามารถควบคุมการทำงานและสื่อสารกับผู้ป่วยจากระยะไกลโดยไม่ต้องสัมผัสผู้ป่วยโดยตรง และยังสามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์วัดและบันทึกสัญญาณชีพ เช่น ความดัน คลื่นหัวใจ และอุณหภูมิได้อีกด้วย “ในช่วงต้นปีที่ COVID-19 กำลังระบาดในประเทศไทย หุ่นยนต์ที่ทำหน้าที่ช่วยบุคลากรทางการแพทย์ในการรักษาผู้ป่วยเป็นที่ต้องการอย่างมาก เมื่อได้รับการติดต่อขอความช่วยเหลือเข้ามา ทีมงานที่พัฒนาหุ่นยนต์จากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ จึงได้ทำการดัดแปลงหุ่นยนต์เดิมที่มีอยู่ส่งไปช่วยเหลือแพทย์ผู้ปฏิบัติงานในสถานการณ์ดังกล่าว รู้สึกดีใจมากที่หุ่นยนต์ที่พัฒนาขึ้นมานั้นสามารถนำไปใช้ประโยชน์และช่วยเหลือคุณหมอได้จริง” ไม้ไฑเผยถึงที่มาและความรู้สึกที่ได้มีส่วนร่วมพัฒนาหุ่นยนต์ในครั้งนี้ ไม้ไฑกล่าวเพิ่มเติมว่าเมื่อ COVID-19 ผ่านไป หุ่นยนต์ดังกล่าวก็ยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ตามจุดประสงค์เดิม เช่น หุ่นยนต์ Desktop ที่มีฟังก์ชั่นในการทำหน้าที่เชื่อมต่อระบบ Video Conference สามารถนำไปช่วยแพทย์ในการติดต่อสื่อสารกับคนไข้ได้ หรือหุ่นยนต์ที่มีฟังก์ชันในการวัดและบันทึกสัญญาณชีพก็อำนวยความสะดวกให้แพทย์ในการวัดความดัน วัดคลื่นหัวใจ วัดปริมาณออกซิเจนในเลือดได้ ไม้ไฑเป็นนิสิตวิศวฯ จุฬาฯ ที่มีผลงานโดดเด่นตั้งแต่เป็นนิสิตปริญญาตรี โดยได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 8 (RDC 2015) และรางวัลเยาวชนดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2559 ผลงานวิชาการของไม้ไฑได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารต่างประเทศและได้รับคัดเลือกเข้าร่วมการประชุมวิชาการในระดับนานาชาติมาแล้ว ปัจจุบันไม้ไฑสำเร็จการศึกษาปริญญาโทและจะเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในเดือนตุลาคมนี้ โดยผลงานวิทยานิพนธ์ของเขาเป็นการศึกษาเรื่อง "ระบบควบคุมแบบปรับตัวได้พร้อมการควบคุมแรงฉุดลากสำหรับหุ่นยนต์ขับเคลื่อนสองล้อ" และกำลังศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกในภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล แม้จะประสบผลสำเร็จทั้งในด้านการศึกษาและคว้ารางวัลด้านการพัฒนาหุ่นยนต์มาแล้ว แต่ไม้ไฑก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาหุ่นยนต์ต่อไปเพื่อให้การทำงานของหุ่นยนต์มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น หุ่นยนต์ที่สามารถหลบหลีกผู้คนได้ เดินขึ้นบันไดเองได้ หุ่นยนต์สำหรับยกของได้ เป็นต้น ติดตามความคืบหน้าและรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับหุ่นยนต์ทางการแพทย์ของจุฬาฯ ได้ที่ LINE: @curobocovid หรือ Facebook : CU-RoboCovid https://bit.ly/2UIgcsb