“กรมศิลป์”เผยภาพรวมก่อสร้างพระเมรุมาศคืบหน้าเกินครึ่ง ซุ้มคูหาออกแบบลายหน้ากาล สถาปัตย์เครื่องยอดบุษบกประธานบัวปลายเสา กาบพรหมศรสูงกว่า3เมตร
เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 60 ที่ท้องสนามหลวงฝั่งทิศใต้ กรมศิลปากรเปิดให้สื่อมวลชนเข้าติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างพระเมรุมาศและสิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ และงานศิลปกรรม ในงานพระราชพิธีถวายพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
นายก่อเกียรติ ทองผุด นายช่างศิลปกรรม สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ผู้ออกแบบพระเมรุมาศ กล่าวว่า ภาพรวมก่อสร้างพระเมรุมาศและสิ่งปลูกสร้างอาคารประกอบพระเมรุมาศคืบหน้าร้อยละ 52 การจัดทำโครงสร้างทั้งหมดดำเนินการเสร็จแล้ว ส่วนการติดตั้งสถาปัตยกรรมล่าสุดได้ขึ้นโครงสร้างหลักของบุษบกทั้ง 9 องค์ โดยได้ทำการกรุเสา ส่วนยอดเชิงชาย และชั้นเชิงกลอน ในส่วนขององค์ประธานบุษบกพระเมรุมาศจะนำแบบที่ผลิตแล้วเสร็จยังโรงงานมาติดตั้ง ขณะที่หอเปลื้อง และซ่าง อยู่ระหว่างทำการขยายแบบ 1 ต่อ 1
ส่วนที่บริเวณฐานได้ทำการปูพื้น และติดตั้งขั้นบันไดทุกด้านแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างการกรุผิว และติดตั้งองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมของฐานชาลาทั้ง 3 ชั้น ประกอบด้วย ฐานสิงห์ ราชวัติ เสาหัวเม็ด และฐานเทวดา พร้อมทำฐานรองรับราวบันไดนาคที่ดำเนินการออกแบบโดย อ.สุดสาคร ชายเสม นำมาติดตั้ง ขณะเดียวกันจะมีการสรุปลวดลายของกระดาษทองย่นที่จะนำมาประดับพระเมรุมาศ การทดลองลงสีแท่นฐานเทวดา และรั้วราชวัติ ตลอดจนการทดลองระบบไฟฟ้าส่องสว่างที่จะต้องสรุปงานภายในสัปดาห์นี้ เนื่องจากจะต้องใช้ระยะเวลาในการสั่งทำ ส่วนการออกแบบลาดลายงานสถาปัตยกรรมนั้นจะมีความพิเศษที่บริเวณซุ้มคูหา จะมีลายหน้ากาลประดับตรงกลางห้อยเฟื่องส่วนปลายเป็นพญานาคสื่อถึงน้ำและแสงสว่างแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังมีการออกแบบบัวปลายเสา คันทวยครุฑ และกาบพรหมศรโดยเฉพาะบัวปลายเสา และกาบพรหมศรรับเครื่องยอดบุษบกพระเมรุมาศที่ใช้เวลาดำเนินการกว่า 1 เดือน
“ได้มีการหารือกับผู้รับจ้างทั้งเรื่องของการติดตั้งซุ้มคูหา บัวปลายเสา เสากรุ และกาบพรหมศร ที่ครั้งนี้จัดทำเป็นพิเศษมีความสูงถึง 3.5 เมตร เฉพาะกาบพรหมศรสูงกว่า 2 เมตรหรือเทียบเท่าคน ซึ่งเป็นครั้งแรก โดยบัวปลายเสานั้นจะอยู่บริเวณย่อมุมจุดรับยอดพระเมรุมาศทั้ง 4 มุม เป็นการประกอบสถาปัตยกรรมของโบสถ์ที่ดอกบัวไปรองรับสิ่งที่สำคัญสุดของอาคาร โดยมีกาบพรหมศรที่อยู่โคนเสาของบุษบกที่จะประดับตกแต่งกาบบัวมีต้นเสาขึ้นไปแล้วประกอบกันขึ้นไปจนปลายสุดของดอกบัวซ้อนขึ้นไป เพื่อให้เห็นถึงความถึงความงดงามและเป็นไปตามลักษณะขององค์ประกอบสถาปัตยกรรมเครื่องยอด ล่าสุดได้มีการดำเนินการขยายแบบ 1 ต่อ 1 เสร็จแล้วอยู่ระหว่างส่งให้ผู้รับจ้างนำไปผลิตยังโรงงาน” นายก่อเกียรติ กล่าว


