ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย ในช่วงนี้ประเทศไทยคงไม่อาจหลีกเลี่ยงภาวะวิกฤติ อันเกิดจากผลกระทบจากโควิด เพราะสิ่งที่ควรจะทำก่อนหน้านี้เพื่อชะลอความตกต่ำทางเศรษฐกิจก็มิได้ทำจนมันสายเกินไปแล้ว ดังนั้นในช่วงนี้ก็ไม่อยากไปตั้งความหวังกับการปรับครม.ว่าจะช่วยแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยได้ เพราะปัญหามันหนักหน่วงและมีผลกระทบมาจากเศรษฐกิจโลก ซึ่งเราทำอะไรไม่ได้มาก โดยเฉพาะหลายสิ่งหลายอย่างมันสายเกินแก้แล้ว สิ่งที่รัฐมนตรีเศรษฐกิจใหม่จะทำได้ก็เพียงแต่ประคองสถานการณ์ให้มันทรุดตัวลงอย่างนุ่มนวล ที่เรียกว่า Soft Landing และพยายามเยียวยาภาคส่วนต่างๆอย่างทั่วถึง และมีประสิทธิภาพ แต่ถ้าเราได้คนมือไม่ถึงก็อาจทำให้เกิดแรงกระแทกทางเศรษฐกิจที่แรงหรือเรียกว่า Crash Landing อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะได้ใคร หรือแม้แต่ชุดเก่าอย่าง 4 กุมาร รวมทั้ง นายสมคิด ก็คงพอๆกัน คงไม่อาจแก้ปัญหาอะไรได้มาก เพราะเราไม่มีเงินที่จะทุ่มเยียวยา นอกจากเงินกู้ก้อนโต 1.9 ล้านล้าน ที่จะต้องใช้จ่ายในการเยียวยาอย่างชาญฉลาดเท่านั้น อนึ่งระบบราชการที่จะมารองรับก็ไร้ประสิทธิภาพที่จะตอบสนองนโยบายได้อย่างมีนัยสำคัญ การกระจายเงินลงชนบทให้กับกองทุนหมู่บ้านนับเป็นทางเลือกหนึ่ง แต่ก็ต้องมีการตรวจสอบการคอร์รัปชัน และคอยตรวจสอบให้ดี อย่างไรก็ตามการตรวจสอบที่เข้มงวดเกินไปก็อาจมีผลต่อการทำหน้าที่กระจายเงินเยียวยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ข้อจำกัดทางการเงินเหล่านี้ ทำให้เราไม่มีโอกาสอะไรแล้วในปัจจุบัน ที่จะแก้ปัญหาการตกต่ำทางเศรษฐกิจอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน แม้แต่วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540 ปลายปีนี้มีแนวโน้มว่าเราจะมีคนว่างงานไม่น้อยกว่า 8 ล้านคน ดังนั้นการกระจายเงินลงไปยังชนบท เช่น กองทุนหมู่บ้าน หรือโครงการอื่นๆเพื่อใช้เป็นที่รองรับคนตกงานที่จะกลับไปยังบ้านเกิดจะช่วยบรรเทาปัญหาได้บ้าง ดีกว่าไปกักเก็บให้อยู่ในเมืองที่ไม่มีอะไรกิน และมีแต่ค่าใช้จ่ายที่ตนเองไม่มีความสามารถจะแบกรับได้ หนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของประเทศไทยที่สูงถึง 70% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น บอกอาการป่วยที่มีแต่ทรุดลง เพราะคนตกงานขาดรายได้ เมื่อมีความจำเป็นต้องบริโภคก็จำเป็นต้องกู้หนี้ยืมสิน ซึ่งก็กลายเป็นดินพอกหางหมู และเป็น NPL ในที่สุด GDP ปี 2562 มีขนาดประมาณ 11 ล้านล้านบาท หนี้ 70% ก็จะมีมูลค่าประมาณ 7 ล้านล้าน หลายสำนักพยากรณ์ว่า GDP จะลดลงอีกอย่างเลวร้ายที่สุด 10% ก็เท่ากับ 1.1 ล้านล้านบาท การอัดฉีดเงินกู้ 1.9 ล้านล้าน ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเงินก้อนใหญ่และน่าจะชดเชยกับการลดลงของ GDP ได้ กลับไม่เป็นดังหวัง ทั้งนี้เพราะประชาชนต่างก็มองว่าเศรษฐกิจจะหดตัวลงอย่างมาก จึงคาดคะเนอย่างมีเหตุผล (Rational Expectation) ว่าสมควรจะต้องลดการลงทุน และการบริโภคลง ในเมื่อองค์ประกอบของ GDP ทั้ง 4 เครื่องยนต์ต่างหดตัวกล่าวคือการบริโภคก็ลด การลงทุนก็ลด การส่งออกก็ลด มันก็เหลือแต่กลไกการใช้จ่ายของรัฐบาล ซึ่งมีสัดส่วนไม่เกิน 20% ขององค์ประกอบใน GDP แต่เมื่อได้พิจารณางบการลงทุนของรัฐบาลอันอาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในอัตราเร่งแล้วงบประมาณปี 2564 มีงบลงทุนเพียงประมาณ 200,000 ล้านกว่าเท่านั้น ซึ่งนับว่าน้อยมาก ที่เหลือเป็นงบเงินเดือน และงบรายจ่ายที่ไม่ได้มีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือการเติบโต เช่นงบในการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ในขณะที่หนี้สาธารณะ ก็มีการประมาณการว่าเราจะมีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจากการใช้จ่ายแบบขาดดุลงบประมาณติดต่อกันมา 6-7 ปี ทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 6.6 ล้านล้านบาท ซึ่งใกล้ติดเพดานหนี้สาธารณะไปทุกที เราจึงมีขีดจำกัดมากที่จะกู้เงินมากระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายการคลัง ส่วนนโยบายการเงินทุกวันนี้ คือการกำหนดดอกเบี้ยนโยบายก็เกือบไม่มีความหมาย เพราะอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำเกือบเป็นศูนย์อยู่แล้ว อนาคตก็อาจลงมาเป็นศูนย์ และการฝากเงินธนาคารอาจต้องเสียค่าฝากแบบญี่ปุ่น ผลที่เกิดขึ้นคือการออมจะลดลงมาก คนที่พอมีเงินเก็บโดยเฉพาะคนชั้นกลางที่อาศัยดอกเบี้ยเป็นค่าใช้จ่ายรายเดือนจะเดือดร้อนมากๆ ครั้นจะโยกเงินไปลงทุนก็ขาดความรู้และประสบการณ์อย่างมาก นอกจากนี้อาจเป็นเหยื่อของการต้มตุ๋นทางการลงทุนได้อีกด้วย ในระยะยาวผลกระทบที่สำคัญอีกประการที่จะตามมา คืออัตราการว่างงานที่จะเพิ่มขึ้น เพราะเราจะถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรกล และ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ หากไม่มีการฝึกฝนทักษะใหม่ๆให้รองรับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้ ปัญหาการว่างงานก็จะยืดเยื้อเรื้อรังและเกิดผลกระทบในด้านอื่นๆอีกมาก ในเรื่องปัญหาประชากรที่จะมีการปรับตัวอย่างรุนแรง ตามสัดส่วนของประชากรในวัยต่างๆก็จะเป็นคลื่นต่อมาที่จะถาโถมเข้าสู่ประเทศไทย และหลายๆประเทศแม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้ว นั่นคือการวิจัย และประเมินว่าประชากรของโลกจะพุ่งถึงจุดสูงสุดในปี ค.ศ.2064 อยู่ที่ 9,700 และ จะลดลงสู่ 8,800 ล้านคนในปี 2100 แต่นั่นไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลนัก แม้จะมีผลทำให้ความต้องการสินค้าและบริการลดลงก็ตาม แต่วารสาร Lancet รายงานว่าอัตราผู้สูงอายุวัย 80-90 ปี จะมีอัตรามากกว่าเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ถึง 2 ต่อ 1 ในศตวรรษหน้า แม้จะดูว่ายังอีกนานแต่สัดส่วนนี้เริ่มมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการบริโภคสินค้าประเภทต่างๆแล้ว นอกจากนี้ประชากรในวัยทำงานที่มีสัดส่วนลดลงจะมีผลกระทบต่อปัจจัยการผลิตที่ทำให้ต้องรับภาระในการดูแลประชากรสูงวัย ดังจะเห็นได้จากปัญหาที่เกิดขึ้นกับญี่ปุ่นในขณะนี้ ทำให้การมุ่งเน้นเรื่องการเจริญเติบโตของญี่ปุ่นชะงักงัน และเป็นอย่างนี้มานานพอควรแล้ว ที่สำคัญนโยบายประกันสังคมและประกันสุขภาพจะมีปัญหาในการบริหารจัดการที่รายรับลดลง แต่รายจ่ายเพิ่มขึ้นในอนาคตอย่างมาก การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จึงจะกลายเป็นปัญหาสำคัญที่เป็นจุดอ่อนของประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง และในอนาคตจะกลายเป็นหลุมดำที่หากไม่ทำตอนนี้ก็ไม่มีทางขึ้นจากหลุมในอนาคต นอกเหนือจากความเหลื่อมล้ำที่กว้างออกไปทุกทีจนสุดท้ายสังคมไม่อาจยอมรับได้ แล้วมันจะเกิดอะไรขึ้น