สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์
วัดคงคาราม หนึ่งในวัดเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งนอกจากความงดงามทางศิลปะแล้ว ยังทำให้ระลึกถึง หลวงพ่อฉุย อดีตท่านเจ้าอาวาส สมญานาม “ปรมาจารย์ผู้อยู่เหนือมัจจุราช” ผู้พัฒนาและสร้างความเจริญรุ่งเรืองจนวัดเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงมาจนถึงปัจจุบัน วัตถุมงคลที่ท่านสร้างล้วนเป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสและได้รับความนิยมสะสมอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะ “เหรียญปั๊มรูปเหมือนรุ่นแรก” ที่นับเป็นเหรียญรูปเหมือนรุ่นแรกและรุ่นเดียวที่สร้างในช่วงที่หลวงพ่อยังมีชีวิตอยู่ กอปรกับสร้างโดยฝีมือช่างหลวง จึงมีความอ่อนช้อย งดงาม และโดดเด่น ทำให้ได้รับความนิยมอย่างสูง หลวงพ่อฉุย สุขภิกฺขุ เกิดเมื่อปี พ.ศ.2401 ที่บ้านสะพานช้าง ต.มะม่วง อ.คลองกระแซง จ.เพชรบุรี เริ่มศึกษาเล่าเรียนที่วัดคงคารามมาแต่ยังเยาว์ จนอายุครบบวชจึงอุปสมบทที่วัดนี้ ได้รับฉายา “สุขภิกฺขุ” ท่านมีความใฝ่ใจในการศึกษาหาความรู้ทั้งด้านคันถธุระและวิปัสสนากรรมฐาน โดยเฉพาะด้านวิปัสสนากรรมฐาน ท่านได้ฝากตัวเป็นศิษย์ร่ำเรียนกับพระอาจารย์ครุฑ วัดมหาธาตุ ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ที่เคร่งครัดในวัตรปฏิบัติ มีเมตตาธรรม และเป็นพระนักพัฒนา จนได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เรื่อยมาจนเป็นพระครูสัญญาบัตรที่พระครูสุวรรณมุนี ดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะจังหวัด และได้เป็นเจ้าอาวาสวัดคงคารามสืบต่อจากพระพิศาลสมณกิจ (ริด) สมณศักดิ์สุดท้ายเป็นพระราชาคณะชั้นโท มีราชทินนามที่พระสุวรรณมุนี นรสิห์ธรรมทายาท สังฆปาโมกข์ และได้เลื่อนเป็นเจ้าคณะจังหวัด ท่านทำการบูรณปฏิสังขรณ์และสร้างความเจริญแก่วัดคงคารามจนเป็นที่รู้จักเลื่องลือ ท่านมรณภาพเมื่อปี พ.ศ.2466 สิริรวมอายุ 65 ปี
สำหรับ “เหรียญปั๊มรูปเหมือนรุ่นแรกหลวงพ่อฉุย สุขภิกฺขุ” เป็นเหรียญปั๊มรูปเหมือนรุ่นแรกและรุ่นเดียวที่สร้างในช่วงที่หลวงพ่อยังมีชีวิตอยู่ เมื่อปี พ.ศ.2465 เพื่อแจกเป็นที่ระลึกในงานฉลองมณฑป วัดคงคาราม ที่ประดิษฐานพระพุทธชินราชจำลอง พระพุทธชินสีห์จำลอง และพระศรีศาสดาจำลอง เนื้อหามวลสาร สร้างเป็นเนื้อทองแดงรมดำ
พุทธลักษณะ
ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่ ขนาดเขื่องกว่าเหรียญรูปไข่หลวงพ่ออื่นๆ เล็กน้อย หูเชื่อมด้วยนํ้าประสานเงิน พิมพ์ด้านหน้ามีพิมพ์เดียว รอบเหรียญจะแกะลวดลายดอกไม้และโบประดับอย่างสวยงาม ตรงกลางเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อฉุยครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ในโบมีอักษรภาษาไทยด้านบนซ้ายคำว่า “พ.ศ.” ด้านบนขวาคำว่า “๖๕” ด้านล่างซ้ายคำว่า “พระสุวร” และด้านล่างขวาคำว่า “รณมุณี” ส่วนพิมพ์ด้านหลัง ตรงกลางเป็น “ยันต์ห้า” คล้ายยันต์กระบองไขว้ ภายในยันต์ รอบนอกเป็นอักขระขอมคาถาหัวใจพระเจ้าห้าพระองค์ ว่า “นะ โม พุท ธา ยะ” ตรงกลางยันต์เป็นอักขระขอมอ่านว่า “สะ” ซึ่งจะแบ่งออกไปเป็น 2 พิมพ์ คือ บล็อกโมมีไส้และบล็อกโมไม่มีไส้ โดยพิจารณาที่ตัวอักขระขอมคำว่า “โม” ถ้ามีขีดขวางตรงกลางคือ “บล็อกโมมีไส้” แต่ถ้าไม่มีขีดขวางตรงกลางก็คือ “บล็อกโมไม่มีไส้” พุทธคุณ
พุทธคุณเด่นทาง เมตตามหานิยม แคล้วคลาด คงกระพัน ครับผม