ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล 6 ตุลาคม 2519 เปลี่ยนแปลงชีวิตพี่ขจีไปมาก การเมืองในมหาวิทยาลัยแม้จะไม่รุนแรง แต่ก็ “ร้ายแรง” ถึงแม้ว่าจะไม่มีการต่อสู้ฆ่าฟันจนบาดเจ็บล้มตาย แต่ก็ทำให้สังคมในมหาวิทยาลัย “แตกเป็นเสี่ยงๆ” เกิดสภาพต่างคนต่างอยู่ พวกใครพวกมัน ต่างคนต่างเอาตัวรอด รวมถึงสภาวะของความน่ากลัว เพราะแยกแยะไม่ออกว่าใครเป็นมิตร ใครเป็นศัตรู วันที่จะเกิดรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 ตอนเช้า พี่ขจีกับผมยังเดินแจกใบปลิวของพรรคจามจุรี มีข้อความแนะนำไม่ให้ตื่นตกใจกับเหตุการณ์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งทหารตำรวจได้ทำการปิดล้อมมหาวิทยาลัยไว้ และมีข่าวว่าจะเข้า “ปราบปราม” เพื่อยุติการชุมนุม แต่ว่าในตอนสายนั้นเองทหารตำรวจก็บุกเข้าไป จับกุมนักศึกษาหลายร้อยคนไปกักขัง บางคนถูกทำร้ายจนถึงแก่ชีวิต หลายคนบาดเจ็บสาหัส บางศพถูกนำมาแขวนที่ต้นมะขามข้างสนามหลวงหน้ามหาวิทยาลัย บางศพถูกแทงซ้ำแล้วเอายางรถยนต์สุมเผา ตอนบ่ายแก่ๆ วันนั้นพี่ขจีขับรถพาผมไปที่โบสถ์วัดเซนต์หลุยส์แถวสาทร ไปคุยกับบาทหลวงรูปหนึ่ง ผมจับฟังได้กระท่อนกระแท่นเพราะนั่งอยู่ค่อนข้างห่าง ได้ความแต่เพียงว่าพี่ขจีมีความทุกข์มาก เริ่มจากที่บ้านที่คอยบีบบังคับเรื่องการแต่งงานกับผู้ชายที่ครอบครัวมั่นหมายให้ ซึ่งคงจะแต่งทันทีหลังจากที่เรียนจบ และได้ยินแว่วๆ ว่าทั้งสองคนพูดคุยกันเรื่องของบ้านเมืองที่มีการฆ่าฟันนักศึกษาในเช้าวันนี้นั้น เวลาผ่านไปเกือบชั่วโมงการสนทนาก็จบลง พี่ขจีขับรถออกมาไปยังสนามหลวง ตอนนั้นเย็นมากแล้ว ที่หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่ค่อยมีผู้คน เหมือนกับว่าเมื่อเช้านั้นไม่มีอะไรเกิดขึ้น คงเห็นแต่กองเถ้าถ่าน 2-3 กอง อยู่ริมฟุตบาทของสนามหลวงหน้ามหาวิทยาลัย ซึ่งคงจะเป็นบริเวณที่มีการนำศพคนตายออกมาเผา “ก๋อย คนเหล่านี้ถ้าตายเพื่ออุดมการณ์ก็น่ายกย่อง แต่ถ้าตายด้วยความเกลียดชัง ก็น่าเสียใจยิ่งนัก” พี่ขจีไม่ได้อธิบายอะไรอีกจนกระทั่งมาถึงปากซอยบ้านพัก ผมลงรถแล้วก็เดินไปยังบ้านเช่าที่อยู่ถัดไปอีกสองซอย คิดอยู่ในใจว่าทำไมหลายวันมานี้พี่ขจีจึงพูดถึงความตายบ่อยนัก ทั้งยังพูดด้วยรอยยิ้ม เหมือนกับว่าความตายนั้นเป็นสิ่งที่น่าปรารถนายิ่งนัก ผมมักจะไปนั่งรอพี่ขจีที่ห้องสมุดของคณะอักษรศาสตร์ พี่ขจีแนะนำให้ผมอ่านหนังสือเล่มใหญ่มากๆ เล่มหนึ่ง ผมจำได้แต่ชื่อว่า “The Book of Quotations” ข้างในเป็นการรวบรวมบรรดา “คำพูดคมๆ” ของบรรดานักปราชญ์ นักเขียน กวี และผู้มีชื่อเสียงในแวดวงต่างๆ เอามาจัดเรียงเป็นหมวดหมู่ตามลำดับตัวอักษร คล้ายๆ สารานุกรมของข้อความที่กินใจเหล่านั้น อ่านแล้วก็เพลิดเพลิน ด้วยจิตใจที่ล่องลอยตามไปกับ “อารมณ์คำ” อย่างที่ผมเอามาเป็นคติประจำใจก็คือ “When you are smiling, the whole world is smiling with you. But when you are crying, no one is crying with you” โดยผมได้เอามาเขียนเป็นร้อยกรองเสียใหม่ด้วยภาษาไทยว่า “แย้มสรวลสำรวลรื่น โลกก็ชื่นชมผสม สะอื้นอ่อนซ่อนอารมณ์ ก็จำเศร้าแต่เราเดียว” ซึ่งพี่ขจีชมว่าฟังแล้วมีกำลังใจขึ้นมาก ผมไม่เคยเห็นพี่ขจีซึ่งมีทุกข์มากมายนั้น แสดงความเศร้าโศกเสียใจออกมาให้เห็นเลย อย่างมากก็แค่เงียบเฉยไปสักครู่ พี่ขจีบอกว่าคนอื่นที่มีทุกข์กว่าเรามีอีกมากมายนัก ทุกข์ของเราเพียงแค่นี้จึงเป็นเรื่องเล็กน้อย อีกทั้งทุกข์ของเราทุกคนล้วนอยู่ในสายตาของพระผู้เป็นเจ้า ท่านได้รับความทุกข์ของเราทั้งหมดนั้นไว้ ความทุกข์ของเราจึงเป็นเพียงเสี้ยวเล็กๆ ในความทุกข์อันมหาศาลบนบ่าของพระผู้เป็นเจ้านั้น โดยที่ทุกคนที่ศรัทธายึดมั่นในพระผู้เป็นเจ้าก็จะมีชีวิตนิรันดร์ และจะมีชีวิตที่สุขสงบอยู่บนสวรรค์ใกล้กับพระผู้เป็นเจ้านั้น หลังวันที่ 6 ตุลาคม 2519 องค์กรนิสิตนักศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ถูกล้มเลิก และไม่ให้ทำกิจกรรมเคลื่อนไหวใดๆ รัฐบาลใหม่ที่แต่งตั้งโดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินประกาศนโยบายที่จะปรามปรามพวกฝ่ายซ้ายในมหาวิทยาลัย ทำให้ในมหาวิทยาลัยดูค่อนข้างสงบเงียบ พี่ขจีได้มาบอกผมในวันหนึ่งว่า เมื่อไม่มีกิจกรรมในมหาวิทยาลัยที่จะต้องทำ แต่พี่ขจีก็ไม่อยากจะกลับเข้าบ้านเร็วๆ จึงบอกทางบ้านว่าจะขอไปเรียนพิเศษ เพื่อติวตัวเองเตรียมความพร้อมไปเรียนต่อปริญญาโทยังต่างประเทศ แต่กว่าที่ทางบ้านจะเห็นดีด้วยก็ใช้เวลาอยู่หลายวัน โดยทางบ้านบอกว่าอยากให้เรียนที่ฝรั่งเศส เพราะเป็นภาษาที่พี่ขจีใช้ได้อย่างคล่องแคล่วที่สุด แต่สมาคมนักเรียนเก่าฝรั่งเศสที่คนไทยเรียกทับศัพท์ว่า “อาลีย๊อง ฟรองแซ๊ส” นั้น อยู่ใกล้บ้านบนถนนคอนแวนต์มากเกินไปเพียงแค่ข้ามคลองสาทรก็ไปถึงที่เรียนภาษาฝรั่งเศสนั้นแล้ว ดูจะผิดกับความตั้งใจจริงของพี่ขจี ที่เพียงแค่อยากออกจากบ้าน และอยู่ให้ห่างๆ บ้าน พี่ขจีอธิบายกับทางบ้านว่า ยุโรปอย่างที่ฝรั่งเศสนั้นเป็น “โลกเก่า” พวกความรู้ต่างๆ ไม่ค่อยพัฒนา สู้อเมริกาไม่ได้ เพราะเต็มไปด้วยวิทยาการสมัยใหม่ ทันสมัยกว่ามาก อีกอย่างหนึ่งพวกวิชาทางด้านอักษรศาสตร์ก็หางานทำยาก พี่ขจีอยากจะกลับมาช่วยงานที่บ้านคือธุรกิจต่างๆ อยากจะเปลี่ยนไปเรียนทางการบริหารธุรกิจ ซึ่งใช้เวลาไม่นาน เพียงหนึ่งปีหรือหนึ่งปีครึ่งก็จบ แต่ความจริงพี่ขจีมีเป้าหมายที่มากกว่านั้น เป้าแรกเลยก็คือต้องการชะลอการแต่งงานออกไป เพราะถ้าไม่เรียนต่อก็อาจจะถูกจับให้แต่งงานในทันทีที่จบจุฬาฯ เป้าต่อไปคือจะพยายามสอบข้าราชการในกระทรวงต่างประเทศให้ได้ โดยจะใช้ความสามารถในภาษาต่างประเทศหลายๆ ภาษาที่ได้เรียนมา เพื่อที่จะได้ไม่ต้องถูกเร่งให้แต่งงานเช่นกัน หรืออีกเป้าสุดท้ายก็คือไปสมัครเป็นลูกจ้างในบริษัทต่างประเทศ เพื่อที่จะได้ออกไปประจำในต่างประเทศนั้น พี่ขจีจึงได้ไปเรียนที่ เอยูเอ หรือสมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกา โดยเป็นหลักสูตรเร่งรัดที่ต้องเรียนทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ ตั้งแต่เวลาห้าโมงเย็นจนถึงหนึ่งทุ่ม ผมจึงต้องไปคอยรับส่งพี่ขจีในทุกวันนั้นด้วย โดยไปรออยู่ที่ห้องสมุดของเอยูเอ ซึ่งก็ได้ประโยชน์มาก เพราะพี่ขจีแนะนำให้ยืมเทปเสียงสอนภาษาอังกฤษมาเปิดฟังในระหว่างที่รอเวลา ทำให้ผมไม่ต้องลงทุนเสียเงินแพงๆ เรียนกับอาจารย์ฝรั่ง พี่ขจีเรียนอยู่ประมาณ 2 เดือน ก็ไม่ได้เรียนอีก เพราะสามารถไปสอบโทเฟลเพียงครั้งเดียวก็ได้คะแนนตามเกณฑ์ของมหาวิทยาลัยที่พี่ขจีต้องการจะเข้าศึกษาต่อ ส่วนผมก็ตั้งใจว่าจะหาโอกาสมาเรียนเพิ่มเติมภายหลัง เผื่อว่าจะได้มีโอกาสไปเรียนต่อ แม้โอกาสนั้นจะริบหรี่ เพราะทางบ้านคงไม่มีทุนรอนส่งเสียให้ได้อย่างนั้น ถ้าโชคดีมากๆ อาจจะได้ตามพี่ขจีไปเรียนและดูแลพี่ขจีที่นั่น