ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต “วิถีทางการเมืองการปกครองของโลกนับแต่อดีตแห่งความเป็นประวัติศาสตร์ล่วงมาถึงปัจจุบัน...ยังคงมีปมปัญหาในเชิงอำนาจอยู่มากมายโดยเฉพาะในประเด็นแห่งแก่นสารของผู้ถือครองอำนาจ..ในนามของผู้ปกครอง...การวางตัวเชิงอำนาจของเขาและหมู่พวกจักต้องเป็นเช่นไรทั้งในวิถีแห่งความเป็นปัจเจกและในวิถีแห่งการเป็นภาพรวมของสังคม...นั่นหมายถึงความหมายของชีวิตอันลึกซึ้งในหลายแง่มุมที่อุบัติขึ้นบนทางผ่านแห่งการกระทำต่างๆนานา...ทั้งโหดร้ายเด็ดขาด...ทั้งเกื้อหนุนอ่อนโยน...และทั้งด้วยเจตจำนงแห่งความรักและความเกลียดชัง...ทั้งหมดดูเหมือนจะผสมปนเปกันอยู่ในที เป็นวิถีแห่งบุคคลที่กลายเป็นสำนึกคิดอันสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามผ่านได้....ไม่ว่าจะด้วยแง่มุมของปรัชญาชีวิตอันสูงส่งที่ยากจะแยกแยะตีความ มาจนถึงนัยแห่งความเป็นสามัญที่ธำรงไว้ด้วยรูปรอยของมายาคติอันแสนจะซับซ้อนวกวน...นั่นคือหนทางแห่งหน้าที่และพันธกิจที่มนุษยชาติทุกผู้ทุกนาม...สมควรจะต้องประจักษ์ร่วมกัน ในการตระหนักรู้ถึงกลไกอันยากจะขบแตก..ที่ตั้งอยู่เหนือมายาคติใดๆ...และเป็นได้ยิ่งกว่าความมืดมนแห่งจิตวิญญาณเสียด้วยซ้ำ...” สาระแห่งบทกล่าวนำเบื้องต้น...คือบริบทแห่งความเข้าใจทางความคิด...จากการสื่อสารอันหลากมิติผ่านหนังสือเล่มสำคัญ ที่สามารถสั่นสะเทือนกระทั่ง สามารถส่งอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงโลก..ภายใต้อำนาจแห่งการปกครองที่เป็นทั้งความเสรีที่ดีงาม และความเป็นเผด็จการอันโสมมได้.... “THE Prince”/เจ้าผู้ปกครอง...ถือเป็น....หนังสือแห่งประพันธกรรมทางคุณค่าแห่งระบบการเมืองที่ยังคงคุณค่าอยู่เสมอ แม้กาลเวลาแห่งการก่อเกิดหนังสือเล่มนี้จะผ่านมาร่วมห้าศตวรรษแล้วก็ตาม...นี่คือผลงานอันเอกอุทางภูมิปัญญาและวิสัยทัศน์อันหยั่งลึกและเฉียบคมของ “นิโคโล มาคิอาเวลลี” (Niccolo Macchiavalli)..ผู้ถือเป็นนักสัจนิยมคนแรกของอิตาลี...เป็นชาวเมืองฟลอเรนซ์...ที่มีชีวิตอยู่ระหว่างปีค.ศ.1469-1527(พ.ศ.2012-2070)...ขณะนั้นเมืองฟลอเรนซ์...เป็นเมืองศูนย์กลางแห่งการค้าขายที่มีชื่อ...และตัวเขาก็ทำงานเป็นเลขาฯฝ่ายทูต ในยุคสมัยที่ตระกูล “เดอ เมดิซี”(De Medici) เรืองอำนาจ แต่..ต่อมารัฐบาลที่เขาขึ้นตรงและสังกัด..ได้ทำการย้ายตระกูลนี้พ้นออกไปจากเมืองฟลอเรนซ์....ภายหลังตระกูลนี้ได้นำกองทัพของสเปนเข้ามาตีเมืองฟลอเรนซ์ และขับไล่รัฐบาลของมาคิอาเวลลีออกไป...เป็นผลให้ตัวเขาถูกจับติดคุก โทษฐานที่มีรายชื่ออยู่ในฝ่ายกบฏ..แม้ต่อมาจะถูกปล่อยตัวแต่ก็ถูกตัดสิทธิห้ามเล่นห้ามยุ่งเกี่ยวในทางการเมืองอีกต่อไป...นั่นเท่ากับว่าเป็นการสูญเสียโอกาสทางการเมือง...เขาจึงต้องอำลาชีวิตราชการและออกจากเมืองไปใช้ชีวิตอยู่ในชนบท ..ครั้นเมื่อปีค.ศ.1513 ขณะที่มีอายุได้ 44 ปี..เขาได้เขียน “The Prince” ขึ้นมา..โดยได้มอบหนังสือเล่มนี้ให้แก่ “ลอเรนโซ เดอเมดิซี”...เหมือนเป็นบรรณาการในการเอาใจ “เจ้าผู้ปกครอง” เพื่อหวังจะกลับเข้ามารับราชการอีกครั้งหนึ่ง..ในการเป็นที่ปรึกษา...แต่ตัวเขาเองกลับล้มป่วยและเสียชีวิตลงระหว่างการเดินทางกลับสู่เมืองฟลอเรนซ์..เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ.1527...ก่อนที่จะรับทราบว่า ณ ขณะนั้น หนังสือที่เขาได้ทุ่มเทชีวิตเขียนขึ้นอย่างเร่งรีบนั้น...ไม่ได้รับความสนใจและใส่ใจแต่อย่างใดเลยจากเจ้าผู้ปกครอง...รวมทั้งตำแหน่งงานทางราชการที่เขาหวังจะหวนกลับคืนมาทำหน้าที่อีกครั้ง..ก็มีคนอื่นทำหน้าที่ไปเสียแล้ว..นั่นคือความเศร้าโดยส่วนตัวในบั้นปลายแห่งชีวิตของ “มาคิอาเวลลี”...แต่สำหรับ “The Prince”...มันกลับถูกนำไปเผยแพร่อย่างลับๆในทางสังคมและลงสู่รากฐานของความเป็นประชาชนสามัญ...นับแต่ห้วงเวลานั้น..มันคือหนังสือที่มีเป้าประสงค์เพื่อเป็นคำสอนต่อ “เจ้าผู้ปกครอง” เป็นผลงานที่นำเสนอต่อคนคนเดียว แต่ทว่าผู้ที่มีศักยภาพที่จะเป็นเจ้าผู้ปกครองได้นั้นอาจมีมากกว่าหนึ่งคนขึ้นไป...เขาเขียนหนังสือเล่มนี้เพื่อผู้ปกครองโดยมิได้ถูกร้องขอ..เขาเขียนขึ้นเองเพื่อหวังถึงความเกื้อกูลช่วยเหลือ...ว่ากันว่า..ครั้งแรกตามความตั้งใจของ มาคิอาเวลลี..เขาต้องการที่จะมอบผลงานชิ้นนี้ให้แก่.. “จูเลียโน เดอ เมดิซี” ผู้ปกครองฟลอเรนซ์ระหว่างปีค.ศ.1512-1513 โดยสันตะปาปาองค์ใหม่จากตระกูลเมดิซี.. “ลีโอ ที่ 10” เป็นผู้สนับสนุนอยู่.. แต่ จูเลียโน กลับเสียชีวิตไปเสียก่อนในปีค.ศ.1516...เขาจึงได้เปลี่ยนแปลงคำอุทิศเสียใหม่..เป็นมอบให้แก่.. “โลเร็นโซ”..อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เขาไม่ได้กลับเข้าไปทำงานตามที่หวังได้อีก...เพราะถึงแม้ว่าจริงๆแล้ว.หนังสือเล่มนี้จะไม่ได้รับความสนใจจากโลเร็นโซเลยและยังไม่ได้รับการตีพิมพ์ในขณะที่เขามีชีวิตอยู่ก็ตาม..แต่ต้นฉบับของมันก็ได้ถูกนำไปเผยแพร่ในหมู่ประชาชนอย่างลับๆอยู่แล้ว..กระทั่งได้ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ.1532...ณ ตอนนั้น..ลึกๆลงไปผ่านเจตจำนงของการเขียนหนังสือเล่มนี้..มาคิอาเวลลี ถูกตั้งข้อรังเกียจเพราะเขามุ่งความปรารถนาที่จะรับใช้ “เจ้าผู้ปกครอง” แห่งตระกูลเมดิซีอย่างโจ่งแจ้งจนเกินไป... อย่างไรก็ตาม...เมื่อกาลเวลาล่วงผ่านมาถึงปัจจุบัน... “The Prince”..กลับได้รับการยกย่องด้วยกิตติศัพท์ที่ว่า...”มันคือหนังสือเล่มแรกและอาจเป็นเล่มที่ดีที่สุดที่ได้ช่วยยืนยันว่า.. “การเมืองมีและควรจะมีกฎเกณฑ์ของตนเอง และไม่ควรที่จะรับกฎเกณฑ์อื่นจากแหล่งอื่นใดที่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการเอาชนะหรือได้เปรียบผู้อื่น”.. ข้อแนะนำของมาคิอาเวลลีตรงส่วนนี้..ทำให้หนังสือเล่มนี้มีชื่อเสียงขึ้นมา...มันถูกเรียกขานกันต่อๆมาว่า...เป็น “คติของมาคิอาเวลลี” หรือ เป็น “แบบของมาคิอาเวลลี”..(Machiavellianism).. “สปิโนซา” (Spinoza)..นักปรัชญาชื่อก้อง...ได้แสดงความคิดเห็นว่า..มาคิอาเวลลี เขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาก็เพื่อ.. “แสดงให้ประชาชนผู้เป็นเสรีได้ตระหนักและระมัดระวัง ต่อการที่จะมอบสวัสดิภาพของตนให้อยู่ในมือของคนๆเดียว เพราะผู้เป็นทรราชนั้น หากไม่เห่อเหิมจนเกินเลย ถึงขนาดที่คิดว่าจะสามารถทำให้ทุกคนพอใจได้แล้ว ก็ย่อมต้องทำทุกอย่างเพื่อตนเอง วางแผนต่อต้านประชาชน มากกว่าที่จะปฏิบัติงานเพื่อความสุขของประชาชน”..ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้.. “จัง จ๊าค รุสโซ” (ค.ศ.1712-1778)ผู้เขียน “สัญญาประชาคม” ในเวลาต่อมาก็มีความคิดเห็นดุจเดียวกัน...“โดยการแสร้งทำว่า..ให้บทเรียนแก่..เจ้าผู้ปกครอง...เขากลับให้บทเรียนที่ยิ่งใหญ่นี้แก่ประชาชน..The Prince..จึงคือตำราของผู้นิยมมหารัฐ..” ประเด็นสำคัญของ “The Prince” ในวิถีสำนึกของ มาคิอาเวลลี..ถูกวิเคราะห์ในรายละเอียดออกมาถึงเป้าหมายแห่งเจตจำนงเอาไว้ในหลายประการ..อันประกอบด้วย... *ต้องแยกรัฐออกจากมิติแห่งศีลธรรม.....มันจึงไม่อาจพูดได้ว่า..รัฐได้กระทำผิดหรือถูก..เช่นเดียวกับผู้ที่เป็นตัวแทนของรัฐ...จะไปตัดสินเขาว่ากระทำผิดหรือถูกก็ไม่ได้เช่นกัน...เพราะผลประโยชน์ของรัฐย่อมตั้งอยู่เหนือความถูกผิดทั้งปวง* *ผู้ปกครองไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นคนที่ดีงาม..แต่ควรที่จะแสร้งทำให้คนอื่นเชื่อว่าเป็นคนดี..ด้วยกระบวนวิธีต่างๆ เพราะการแสดงท่าทีเช่นนี้..มันสำคัญกว่าการเป็นคนดีเสียเองซึ่งหาประโยชน์อะไรไม่ได้* *ผู้ที่มีอำนาจ ไม่ควรยึดมั่นอยู่ในทางสายกลาง...แต่ควรจะทำอะไรก็ตามให้เต็มที่และเปิดเผย...เพราะเราไม่สามารถที่จะรับใช้พระเจ้าหรือซีซาร์ไปพร้อมๆกันได้...เหมือนดั่งว่า..เราไม่อาจถือดาบและพระคำภีร์ไบเบิลได้พร้อมๆกัน* *อย่าหวั่นกลัวที่จะต้องกระทำผิดอะไรบ้าง...แน่นอนว่า..ผู้ปกครองที่พบกับความสำเร็จในการปกครองย่อมต้องกระทำผิดบ้าง...ทั้งนี้ก็เพราะว่า..บางสิ่งที่คนภายนอกยกย่องและมองเห็นว่าเป็นความดี แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่ได้เป็นผลดีอย่างที่เห็น ในขณะที่สิ่งที่ดูไม่ดีอาจจะเป็นสิ่งที่ดีได้ในเชิงปฏิบัติ..เหตุนี้ผู้ปกครองจึงไม่จำเป็นที่ต้องเลือกเอาแต่สิ่งดีๆ...แต่สมควรที่จะดูว่า...เมื่อนำสิ่งนั้นๆไปกระทำแล้ว มันจะก่อประโยชน์ขึ้นหรือไม่...เพราะเมื่อทุกสิ่งมาถึงจุดหมายปลายทางแล้วสิ่งที่กระทำดั่งนี้มันเกิดประโยชน์ ก็จะถือว่า..สิ่งสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ดี* *ผู้ปกครองควรทำให้คนกลัว มากกว่าที่จะทำให้คนรัก..เหตุผลสำคัญก็คือว่า ความรักต่อๆไปอาจทำให้คนเกลียดได้...แต่ความกลัวนั้น...จะไม่ก่อให้เกิดทั้งรักทั้งเกลียด..ดังนั้นผู้ปกครองจึงสมควรต้องใช้อำนาจอย่างเต็มที่เพื่อให้คนอื่นกลัว* *ผู้มีอำนาจย่อมเป็นผู้ที่ถูกเสมอ..เพราะผู้ที่มีอำนาจอยู่กับตัวจะทำอะไรก็ได้..โดยไม่มีใครกล้ากล่าวว่าเป็นความผิด..นั่นคือความสำคัญที่แสดงถึงว่า..เป้าหมายย่อมสำคัญกว่าวิธีการ..ผู้มีอำนาจจึงสามารถทำอะไรก็ได้เพื่อให้บรรลุจุดหมาย...* *รัฐเป็นสิ่งสูงสุด ความต้องการของคนแต่ละคนที่เข้ามารวมตัวกันเป็นรัฐคือกลุ่มของผลประโยชน์..รัฐจึงเป็นตัวแทนในการหาและรักษาผลประโยชน์...การคงอยู่ของรัฐ ตลอดจนเจตจำนงของรัฐจักต้องอยู่เหนือสิ่งอื่นใด...แม้แต่ความเป็นปัจเจกบุคคล* *ต้องแยกการเมืองออกจากศาสนา...เพราะการเมืองกับศาสนาเป็นคนละเรื่องกัน..การเล่นการเมืองไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงศีลธรรมหรือความดีงามใดๆ..ไม่เคยมีใครเสนอแนะแนวคิดเช่นนี้มาก่อน....ขณะที่...ออกัสติน..ได้บอกว่าเราต้องเชื่อฟังพระเจ้า...หรือเปลโตก็ได้เน้นย้ำว่า..ผู้ปกครองควรเป็นผู้มีคุณธรรม...มาคิอาเวลลี..จึงถือเป็นคนแรกที่บ่งชี้ว่า...การเมืองต้องแยกออกจากศาสนา..ศีลธรรม และ พระผู้เป็นเจ้า....* *ผู้ปกครองควรหลีกเลี่ยงการประจบสอพลอ เพราะการประจบสอพลอ คือความอ่อนแอ และทำให้เกิดความลุ่มหลง จนไม่อาจมองเห็นความเป็นจริงได้..เช่นนี้ ผู้ปกครองจึงสมควรที่จะสนับสนุนการพูดความจริง และควรที่จะตั้งคนที่เฉลียวฉลาดเป็นที่ปรึกษา..และต้องมีการรับประกันเสรีภาพของที่ปรึกษาที่จำเป็นต้องพูดความจริงอย่างตรงไปตรงมา* *ผู้ปกครองหรือนักการเมืองทุกคน ล้วนเป็นนักฉวยโอกาส แรงจูงใจที่ทำให้เกิดอุบัติการณ์ทางการเมือง..คือผลประโยชน์ทั้งสิ้น..ดังนั้นผู้ปกครองหรือนักการเมืองจึงสมควรที่จะต้องกระทำทุกอย่างเมื่อมีโอกาส เพื่อสร้างผลประโยชน์ให้แก่รัฐ* บทวิเคราะห์...โดยผู้วิเคราะห์ถึงแนวความคิดทางการเมืองในมิติใหม่ของ มาคิอาเวลลี ที่เป็นแก่นสารสำคัญในหนังสือเล่มนี้ แสดงให้เห็นถึงมิติอันสุดโต่งทางความคิด ที่เป็นทั้งความย้อนแย้งระหว่างความดีกับความชั่ว ..เป็นความจริงในด้านกลับที่แฝงรูปแฝงรอยอยู่ดั่งแผนการอันลึกซึ้งบางอย่าง...ความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นข้อเสนอแนะข้างต้นจึงย่อมต้องการบทพิเคราะห์อันลึกซึ้งและเล่ห์กลของเจตจำนงที่ได้วางเอาไว้อย่างแยบยล... ในเวลาต่อมา... ผู้นำคนสำคัญของอิตาลี “มุสโสลินี”(ค.ศ.1883-1945)..ได้แสดงความชื่นชมในลักษณะเปรียบเทียบต่อความเป็น “THE Prince” เอาไว้อย่างแจ้งชัดว่า... “มีคำถามว่าโดยระยะเวลาที่ห่างกันถึง 4 ศตวรรษจะมีอะไรหรือที่ยังมีชีวิตชีวา...ในเจ้าผู้ปกครอง คำสอนของ “มาคิอาเวลลี” จะยังมีประโยชน์ต่อผู้นำรัฐในสมัยปัจจุบันกันบ้างหรือไม่? คุณค่าของระบบการเมืองในเจ้าผู้ปกครอง...จะจำกัดอยู่กับยุคสมัยที่หนังสือเล่มนี้ได้เขียนขึ้น หรือว่ามันจะเป็นเรื่องราวสากลและร่วมสมัย?...ข้าพเจ้ายังยืนยันว่าทุกวันนี้...หลักการของมาคิอาเวลลี...กลับมีชีวิตชีวายิ่งกว่าเมื่อ 4 ศตวรรษที่ผ่านมาเสียอีก..เพราะแม้ว่าส่วนนอกกายแห่งชีวิตของเรา จะได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก...แต่มันก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงที่ลึกซึ้งแต่อย่างใด!...ในส่วนของที่เป็นจิตแห่งปัจเจกชนและประชาชน..” ...ขณะที่โลก ณ วันนี้เต็มไปด้วยการรุกรานที่กระจายไปในทั่วทุกตารางระยะของความเป็นโลกโดยองค์รวม ปัญหาที่เกิดขึ้นถูกเพิกเฉย จากผู้นำของโลกมากมาย..สถานะแห่งเจ้าผู้ปกครองที่พะนออัตตา ติดยึดและบ้าคลั่งต่อการลุแก่อำนาจผุดขึ้นมาสู่วิถีของการปกครองอยู่คนแล้วคนเล่า อย่างไม่น่าเชื่อ..ท่ามกลางวิกฤติแห่งวิกฤติในการสูญสิ้นศรัทธาระหว่างกัน..วิถีของเจ้าผู้ปกครอง...จะดำรงอยู่ในลักษณะไหน?...นั่นคือมิติปริศนาที่ทำให้ชาวโลกต้องหวั่นเกรง..ในมิติชีวิตที่ต่างจนตรอกทางความคิด...ต่อการหาทางออกอันเหมาะสม...ซึ่งประเด็นของปัญหาที่กำลังเข้าสู่ภาวะที่มืดมนนี้..สาระเนื้อหาอันหยั่งลึกของ.. “The Prince” ในนาม “เจ้าปกผู้ครอง” ยังคงเป็นแสงฉายในวิถีแห่งสัจจะที่สามารถทำให้..นั่นก็คือว่า...เจ้าผู้ปกครองในแต่ละคนได้เกิดทรรศนะที่จะปกป้องผู้อยู่ใต้ปกครองของเขาโดยสมบูรณ์ และสามารถทำให้ประชาชนของเขาได้บังเกิดศรัทธาอันบริสุทธิ์ต่อการเป็น..เจ้าผู้ปกครอง.ของพวกเขา ตลอดๆไป... “สมบัติ จันทรวงศ์”...แปลหนังสือเล่มนี้ออกมา ด้วยภาษาสำนึกแห่งความเข้าใจ โครงสร้างแห่งนัยเรื่องราวทั้งหมดได้อย่างลึกซึ้ง..ผ่านมิติทางประวัติศาสตร์อันชวนเพ่งพินิจ...ตลอดจนกระบวนวิธีคิดแห่งกลไกด้านการปกครองที่เต็มไปด้วยเหลี่ยมมุมแห่งการตีความอันย้อนแย้ง..มันคือประสบการณ์ทางวิชาการที่ถูกถ่ายทอดออกมาด้วยจริตแห่งอุบัติการณ์ที่ทบซ้อนกันอยู่อย่างติดตรึง...และ..นั่นถือเป็นจุดโดดเด่นที่ก้าวข้ามผ่านวิชาของความเป็นรัฐศาสตร์...ไปสู่ความเป็นวรรณกรรมแห่งชีวิตที่ปลุกจิตวิญญาณของสำนึกในหน้าที่ให้ตื่นเร้าขึ้นอย่างเฉียบคมและรู้เท่าทันเล่ห์กลอันยอกย้อนที่อยู่เหนือขึ้นไปจากความจริงแท้แห่งชีวิต..เสมอ... “คนที่ปรารถนาจะแสดงความดีในทุกๆเรื่อง...จะต้องพินาศในหมู่คนจำนวนมากที่ไม่ดี ดังนั้น หากเจ้าผู้ปกครองคนใดปรารถนาที่จะคงรักษาตนเองไว้...ก็มีความจำเป็นที่เขาจะต้องเรียนรู้ให้สามารถ “ไม่เป็นคนดี”...ได้...ส่วนจะใช้มันหรือไม่ใช้มันหรือไม่นั้น...ก็สุดแต่ความจำเป็น....”