นับตั้งแต่การปรากฏโฉม ออกมาเขย่าโลก ของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ก็ส่งผลให้โลกของเราต้องเปลี่ยนสิ่งต่างๆ ใหม่แทบทั้งหมด อย่างที่เรียกกันจนฮิตติดปากว่า “นิวนอร์มอล (New Normal)” ซึ่งหลายคนก็แปล เรียกชื่อเป็นไทยแตกต่างกันไปว่า “มาตรฐานใหม่”บ้าง “วิถีใหม่” หรือ “วิถีชีวิตใหม่” บ้าง หรือบางคนก็ติดสร้อยห้อยท้ายต่อไปว่า “วิถีใหม่ บนโลกใบเดิม” บ้าง แต่ความหมายโดยรวมแล้ว ก็คือ “วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป” และเปลี่ยนแปลงไป อย่างยากที่จะกลับสู่รูปแบบเก่าๆ เดิมๆ เฉกเช่นที่เคยเป็นมาได้อีก ทั้งนี้ ก็เพื่อควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กำลังหนักหนาสาหัสสากรรจ์อยู่แล้วนั้น มิให้เลวร้ายกว่าที่เป็นอยู่ หนักขึ้นไปอีก ปรากฏการณ์แห่งนิวนอร์มอล ก็แทรกซ้อนไปกับวิถีชีวิตใหม่ของมนุษย์เราเป็นประการต่างๆ อาทิ การที่ต้องสวมหน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัย ในยามที่อยู่สถานที่ประชุมชนมีคนอยู่เป็นจำนวนมาก การที่ต้องล้างมือเพื่อฆ่าเชื้อโรคอยู่เป็นนิจ รวมไปถึงการเว้นระยะห่างทางสังคม โซเชียลดิสแทนซิง ที่มนุษย์เราไม่สามารถสวมบทหนึ่งมิตรชิดใกล้กับคนอื่นๆ ได้อย่างเหมือนเดิมอีก ตลอดจนการที่ต้อง “ไรัสัมผัส” ไม่มีการจับต้องกันในส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะอวัยวะมือ ที่ขยายครอบคลุมในกิจกรรมต่างๆ ของมุนษย์เรา โดย “นิวนอร์มอล” ในกิจกรรมที่ “ไร้” หรือ “ลด” การสัมผัส ได้เริ่มใช้กันไปในหลายกิจกรรมแล้ว เช่น การซื้อ ขาย ตลอดจนการชำระค่าสินค้า ผ่านระบบออนไลน์ เป็นต้น ที่กระบวนการกิจกรรม ตั้งแต่ต้นจนถึงสิ้นสุด ผู้ซื้อ ผู้ขาย ไม่ได้สัมผัสแตะต้องระหว่างกันเลย ไม่ต้องกังวลว่า จะแพร่เชื้อไวรัสร้ายให้กันและกัน ล่าสุด “นิวนอร์มอล – วิถีใหม่” ก็รุกคืบครั้งใหญ่ไปสู่แวดวง “ท่าอากาศยาน” หรือ “สนามบิน” ระดับนานาชาติกันอีกด้วย ซึ่งมีหลายประเทศได้เริ่มจัดระเบียบวิถีใหม่กันไปบ้างแล้ว ไล่ไปตั้งแต่ที่เป็นข่าวครึกโครมกันไปก่อนหน้าที่ท่าอากาศยานนานาชาติ ระดับแถวหน้าของภูมิภาคอุษาคเนย์ หรืออาเซียนเรา นั่นคือ ท่าอากาศยานนานาชาติชางงี หรือจางี สิงคโปร์ (Changi Airport Singapore) ประเทศสิงคโปร์ เจ้าของฉายาแดนลอดช่อง โดยท่าอากาศยานแห่งนี้ ได้ขยับปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ที่มีเทคโนโลยี ที่ลด หรือไร้ การสัมผัส ระหว่างเจ้าหน้าที่ท่าอากาศยาน กับผู้มาใช้บริการ เป็นประการต่างๆ หลายอย่างด้วยกัน นับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.เป็นต้นมา เช่น อุปกรณ์เซ็นเซอร์แบบไร้สัมผัส (Proximity Sensor) ทั้งนี้ อุปกรณ์ข้างต้น ก็จะส่งผลให้ผู้เดินทางที่มาใช้บริการ สามารถลงทะเบียน “เช็กอิน (Check in)” การโหลดสัมภาระ โดยไม่ต้องสัมผัสหน้าจออิเล็กทรอนิกส์ ให้เกิดความกังวลว่า จะติดเชื้อโรคจากการลงทะเบียน เพราะมีผู้เดินทางมาใช้บริการเป็นจำนวนมาก แบบไม่รู้ว่า ใครเป็นใคร และเป็นโรคอะไรกันมาบ้าง รวมถึงโควิดฯ ที่กำลังเขย่าโลกเรา ใช่แต่เท่านั้น ในการเลือกรายการต่างๆ ผู้เดินทางที่มาใช้บริการ ก็ไม่ต้องใช้นิ้วมือ ไปสัมผัสหน้าจอ แต่ใช้รังสีอินฟาเรดแทน ชี้เลือกทำรายการต่างๆ อย่างไร้กังวล ในส่วนของการตรวจคนเข้าเมือง หรือไอซีเอ สนามบินชางงีสิงคโปร์ ก็เปลี่ยนมาใช้ อุปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีตรวจจับใบหน้าและม่านตา สำหรับการระบุข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล (Biometric) แทนที่การสแกนลายนิ้วมือ เพื่อยืนยันตัวตนแบบเดิม ที่ต้องใช้นิ้วมือสัมผัสกับอุปกรณ์ เช่นเดียวกับการพ่นยาฆ่าเชื้อโรค ทางท่าอากาศยานดังกล่าว ก็ใช้ “หุ่นยนต์” หรือ “โรบอต” ปัญญาประดิษฐ์ แทนพนักงานที่เป็นมนุษย์ สำหรับปฏิบัติการพ่นยาฆ่าเชื้อโรค ตามสถานที่ต่างๆ ในสนามบิน ขณะที่ ทางฟากสหรัฐอเมริกา ประเทศที่ได้ชื่อว่า มีผู้เดินทางใช้บริการขนส่งทางอากาศ คับคั่งที่สุดแห่งหนึ่งของโลก หลายท่าอากาศยาน ก็ได้ขยับปรับเปลี่ยนด้านเทคโนโลยีไร้สัมผัส แทนที่อุปกรณ์แบบเก่า ที่ผู้เดินทางต้องใช้มือสัมผัส เช่นที่ “ท่าอากาศยานนานาชาติดัลลาส-ฟอร์ตเวิร์ธ (Dallas-Forth International Airport)” หรือที่มักเรียกกันสั้นๆ ว่า สนามบิน “ดีเอฟดับเบิลยู” ในรัฐเทกซัส โดย ทาง “ดีเอฟดับเบิลยู” ได้ปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจ ด้วยการลดพนักงาน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย แล้วหันมาใช้เทคโนโลยีแทน ในช่วงที่อุตสาหกรรมการบินได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิดฯ ซึ่งเทคโนโลยีที่ว่า ทาง “ดีเอฟดับเบิลยู” ได้เปลี่ยนมาเป็น การทำงานแบบไร้สัมผัสในหลายภาคส่วน คือ ผู้เดินทางที่มาใช้บริการ สามารถบริการตนเอง ไม่ต้องมีพนักงาน และไม่ต้องสัมผัสกับอุปกรณ์ เช่น ระบบเช็คอินสัมภาระ การใช้หุ่นยนต์ลำเลียงสัมภาระผู้โดยสาร เป็นต้น นอกจากนี้ ในเรื่อง “ห้องน้ำ” และ “ห้องสุขา” ที่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุด ทาง “ดีเอฟดับเบิลยู” ก็ได้เปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีลด หรือไรัการสัมผัสมากขึ้น นั่นคือ ระบบเซ็นเซอร์ ที่อ่างล้างมือ สบู่ รวมไปถึงชักโครก การจ่ายกระดาษชำระ สามารถทำงานเพียงผ่านระบบเซ็นเซอร์ตรวจจับเท่านั้น ไม่ต้องสัมผัสให้หวั่นวิตกว่า อาจจะติดเชื้อจากการใช้อุปกรณ์ แบบว่า ไร้สัมผัส และไร้ความกังวล ตามวิถีชนคนรุ่นโควิดฯ ที่กำลังแผลงฤทธิ์สะท้านโลกของยุคนี้