วิกฤตโควิด – 19 ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ไม่เพียงส่งผลกระทบด้านสุขภาพเท่านั้น แต่ยังทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก คนขาดรายได้ ตกงาน เกิดความลำบากไปทั่วทุกหนแห่ง ขณะเดียวกัน ในช่วงเวลาเช่นนี้เราก็ยังเห็นเมตตา เห็นน้ำใจที่คนไทยหยิบยื่นให้แก่กันผ่านการแบ่งปันในรูปแบบต่างๆ เรื่องนี้ “พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล” จากสวนธรรมประสานสุข จ.ชลบุรี ซึ่งมาแสดงธรรมบรรยายบทเวที “เรายกวัดมาไว้ที่เซเว่นฯ” จัดโดย บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้ก่อตั้งร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ในประเทศไทย ได้กล่าวไว้ว่า การให้และรับจะต้อง “สุขใจผู้ให้ ซึ้งใจผู้รับ ประทับใจผู้พบเห็น” ไม่เช่นนั้นศรัทธาก็จะหมด เมตตาก็จะหาย
“เมตตา” เป็นสิ่งที่พระอาจารย์ท่านได้เน้นย้ำ เพราะคนไทยขึ้นชื่อว่าเป็นผู้มีเมตตา แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เจริญเมตตาตามแนวทางของพระพุทธศาสนาได้อย่างถูกต้อง ซึ่งทั้งนี้ จะต้องรู้จักศัตรูของเมตตาด้วย เพื่อที่จะได้ไม่หลงคิดกลายเป็นเมตตาผิดทาง
ศัตรูของเมตตา มี 2 ประเภท ได้แก่ “ศัตรูใกล้” และ “ศัตรูไกล” สำหรับศัตรูไกลนั้นมองเห็นชัด คือ “ความโกรธ” และ “ความพยาบาท” ดังนั้น การเจริญเมตตาจึงไม่ยาก เหมือนการฝึกเจริญสติ ที่ต้องเริ่มจากการดูกิเลสภายในใจ ที่เห็นง่ายที่สุดคือความโกรธนั่นเอง เพื่อที่จะให้ไม่หลงไปอยู่ในความโกรธ ความพยาบาท จึงพึงระลึกอยู่เสมอว่า เราต่างหากที่เป็นผู้รับผลจากความโกรธในทันทีที่เกิดขึ้น เมื่อเราโกรธ จิตก็จะถูกทำลาย ร่างกายก็จะไม่ดี โกรธบ่อยๆ ก็ทำให้เครียด โรคต่างๆ ก็ตามมา สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับตัวเราเองหาใช่คนที่เราโกรธไม่
ศัตรูอีกประเภทที่พระอาจารย์เรียกว่าเป็นศัตรูใกล้นั้นน่ากลัวยิ่งกว่า เพราะความที่อยู่ใกล้ ก็เลยสังเกตยาก สิ่งนั้นคือ “ราคะ” เมตตาที่แท้คือ การที่เรามีความปรารถนาดีต่อทุกคนเสมอกัน ดังเช่นที่พระพุทธเจ้ามีเมตตาต่อพระเทวทัต นายขมังธนู หรือช้างนาฬาคีรี เสมอด้วยพระราหุล คือปรารถนาให้ได้ดีตามที่ควรจะได้ ปรารถนาให้งอกงามในชีวิต แต่หากความปรารถนาของเรานั้นมีให้เพียงเฉพาะเจาะจง นั่นคือความเสน่หา ซึ่งจะกลายเป็นราคะต่อมา
“พึงระวังเมตตาที่แท้จริงแล้วเป็นสเน่หา เพราะจะกลายเป็นราคะได้ คนที่มีราคะจะมุ่งเอาคุณงามความดีของผู้อื่นมาเสริมสุขเวทนาของตนเอง เช่น เขาเป็นคนหน้าตาดี เขาเป็นคนฐานะดี เราจึงอยากคบหา เป็นต้น”
เมื่อพูดถึงเมตตาแล้ว คงจะต้องกล่าวถึงหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าที่จะช่วยให้ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างประเสริฐ และบริสุทธิ์อย่าง “พรหมวิหาร 4” ด้วย ซึ่งทุกคนควรฝึกให้เป็นคนมีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่ ผู้น้อย ผู้ให้ หรือผู้รับ ในยามปกติ เราก็มีเมตตาให้ แต่หากเขาตกต่ำ ก็แสดงความกรุณา เมื่อเขารุ่งเรือง ก็ให้มีมุทิตา และอาจจะต้องเรียนรู้ที่จะต้องวางอุเบกขาบ้าง หากเมตตานั้นจะเป็นการส่งเสริมการก่อกรรมไม่ดี
“เมตตาธรรมค้ำจุนโลก ต้องเป็นเมตตาที่ดี ซึ่งเมตตาที่ดีนั้นแท้จริงแล้ว สิ่งแรกที่จะค้ำจุนไม่ใช่โลก แต่เป็นตัวเราเอง” พระอาจารย์กฤชกล่าวทิ้งท้าย
สำหรับผู้สนใจร่วมฟังธรรมบรรยายดีๆ ซึ่งซีพี ออลล์ ได้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 24 แล้ว ตามปณิธานองค์กร “ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสให้ทุกคน” สามารถติดตามได้ผ่านระบบ live สด ทุกวันศุกร์ เวลา 12:00-13:30 น. ทางช่องทาง facebook fanpage CPALL และสามารถรับฟังย้อนหลังได้ที่ช่องทางเดียวกัน