แนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานไว้ให้กับคนไทย นำไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิต รองรับการเปลี่ยนแปลงและความเสี่ยงที่อาจจะต้องเจอ ที่ผู้น้อมนำสามารถนำไปปฏิบัติใช้ในทุกสถานการณ์ แนวทางปรัชญาเศรษฐกิจของพอเพียง ไม่ได้มุ่งไปเฉพาะที่ชีวิตสังคมเกษตร แต่กับชีวิตสังคมเมืองและระดับประเทศสามารถนำไปปฏิบัติได้ โดยแนวทางปรัชญานี้อาศัยความพอประมาณ ความซื่อสัตย์ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี มีความรู้ ความเพียร ความอดทน สติ ปัญญา การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และความสามัคคี เมื่อมองในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19 จะพบว่าในภาคสังคมเกษตรชุมชนดูจะได้รับผลกระทบวิกฤตินี้ไม่มากนัก ด้วยเพราะว่าเกษตรชุมชนได้นำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาดำเนินชีวิตก่อนหน้านี้แล้ว ครั้นเมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 แนวทางของปรัชญานี้จึงเสมือนภูมิคุ้มกันอย่างดี ดังที่ นายดนุชา สินธวานนท์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) กล่าวเรื่อง “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เกราะป้องกันยามวิกฤติ ทุกชีวิตยิ้มได้เมื่อภัยมา” ขอยกเนื้อความมาบางตอน “สถานการณ์ปัจจุบันที่เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 กับประโยชน์ที่จะได้รับเมื่อน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติใช้ของปวงชนชาวไทยนั้น เป็นเสมือนกับภาคเศรษฐศาสตร์ ดังที่ประเทศไทยเคยเจอสภาวะเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 แนวทางนี้เป็นหนึ่งในกลไกที่นำพาประเทศให้หลุดพ้นจากวิกฤติมาได้ แต่ปัจจุบันปี 2563 เป็นสถานการณ์เรื่องของโควิด -19 ซึ่งส่งผลกระทบไปทั่วโลกทำให้เกิดปัญหาพร้อมกันในหลายๆ ด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สาธารณสุข สังคม แรงงาน และปัญหาพื้นฐานอีกหลายอย่าง ซึ่งประเทศไทยนับว่าโชคดีกว่าในหลายๆ ประเทศ ด้วยประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมในภาคการเกษตร การน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติใช้จึงเห็นผลได้ชัดเจน และประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม” “ที่ผ่านมาพบว่ามีหลายภาคส่วนได้น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติใช้ จนเกิดยุทธศาสตร์ของชาติขึ้นมา ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายๆ ภาคส่วนของสังคมได้รับผลกระทบ มาตรการในการป้องกันและแก้ไขก็คือหยุดการเคลื่อนไหวของผู้คนในสังคม ซึ่งก็ทำให้เกิดการหยุดการผลิตในหลายธุรกิจ ทำให้ระบบเศรษฐกิจหยุดชะงัก ส่งผลกระทบต่อประชากรในการดำรงชีพและเรื่องอาหารการกิน อย่างไรก็ตามสำหรับประชาชนที่อยู่ในต่างจังหวัดหรือชนบทที่ผ่านมามีจำนวนไม่น้อยที่ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติใช้โดยเฉพาะประชากรที่อยู่ในภาคการเกษตร จึงไม่กระทบในเรื่องของการดำรงชีวิตประจำวัน แม้จะขาดแคลนบ้างในเรื่องส่วนประกอบอื่นๆ แต่เรื่องหลักๆ โดยเฉพาะความอยู่ได้ของชีวิตไม่กระทบ ดังปรากฏให้เห็นในหลายๆ พื้นที่ทั่วประเทศ ที่ผู้คนโดยส่วนใหญ่ยังมีกินมีใช้ และสามารถแบ่งปันแลกเปลี่ยนผลผลิตระหว่างกันได้อีกด้วย” “แนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในสถานการณ์ปัจจุบันถือได้ว่าเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกับประเทศไทยกับสังคมไทย ทุกคนทุกกิจการสามารถน้อมนำไปประยุกต์ใช้ได้เป็นอย่างดี ตั้งแต่ระดับครัวเรือนไปจนถึงชุมชนและระดับประเทศ ในยามที่ประเทศมีวิกฤติมีปัญหาอย่างในอดีตก็เคยผ่านมาแล้ว ก็สามารถฝ่าฟันผ่านไปได้จากการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ บางอย่างก็อาจจะต้องใช้เวลาที่สำคัญในการเตรียมตัวสำหรับก้าวต่อไปข้างหน้าของผู้คน สังคม และประเทศชาตินั้น การน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้จะสามารถเป็นเกราะป้องกันผลกระทบจากสภาวะต่างๆ ได้เป็นอย่างดี แล้วทุกคนจะยิ้มได้เมื่อภัยมา” กล่าวได้ว่าแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทางเลือกที่เหมาะสมสังคมไทยในทุกวิกฤติ