สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สร้างก้าวแรกในประวัติศาสตร์ของชาติตะวันออกกลาง ส่งยานโฮปสำรวจดาวอังคาร เช้ามืดวันจันทร์นี้ 04.58 น. ตัวยานสร้างโดยอเมริกา ฐานจรวดของมิตซูฯญี่ปุ่นและปล่อยที่ศูนย์อวกาศญี่ปุ่น หากขั้นตอนราบรื่น คาดจะเข้าวงโคจรดาวอังคารประมาณก.พ.ปีหน้า NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ “...ในวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 เวลา 04.58 น. (รุ่งเช้าวันพรุ่งนี้) ตามเวลาประเทศไทย จะมีการส่งยานโฮป (Hope) ยานสำรวจดาวอังคารของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเป็นยานสำรวจดาวอังคารลำแรกของภูมิภาคตะวันออกกลาง ณ ศูนย์อวกาศทาเนงะชิมะ โดยมีประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้ส่งยานลำนี้ขึ้นสู่อวกาศ ทั้งตัวจรวดที่บรรทุกยาน ฐานปล่อยจรวดและการควบคุมการปล่อยจรวด #ชวนร่วมส่งกำลังใจและชมไลฟ์ได้ที่https://www.emiratesmarsmission.ae/live/ จรวด H-IIA กับความสำเร็จของญี่ปุ่น - สำหรับจรวดในครั้งนี้ที่ใช้เป็นของประเทศญี่ปุ่น คือ จรวด H-IIA (H2A) ผลิตและใช้งานโดยบริษัท Mitsubishi Heavy Industries (MHI) ซึ่งเป็นหนึ่งในเครือบริษัทมิตซูบิชิของญี่ปุ่น โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นจรวดที่ให้บริการส่งดาวเทียมและยานอวกาศให้กับองค์การวิจัยและพัฒนาการสำรวจอวกาศแห่งชาติญี่ปุ่น (JAXA) จรวดเชื้อเพลิงเหลวรุ่นนี้มักจะใช้สำหรับส่งดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรค้างฟ้า เคยใช้ส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศครั้งแรกในปี พ.ศ.2544 และเคยบรรทุกดาวเทียมเป็นจำนวนมากถึง 8 ดวงในการปล่อยจรวดครั้งเดียว หากนับถึงปัจจุบัน จรวดรุ่นนี้ถูกปล่อยมาแล้ว 41 ครั้ง (ล้มเหลวเพียง 1 ครั้ง) นอกจากนี้ ยังเป็นจรวดที่ใช้ในการส่งยานสำรวจวัตถุในระบบสุริยะอื่น ๆ อีก เช่น ยานเซลีนีสำรวจดวงจันทร์ ยานอาคัตสึกิสำรวจดาวศุกร์ ยานฮายาบุสะ 2 สำรวจดาวเคราะห์น้อย จุดปล่อยจรวดคือ ศูนย์อวกาศทาเนงาชิมะ เป็นศูนย์ปล่อยจรวดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น มีพื้นที่ราว 9.7 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะทาเนงาชิมะ เกาะนี้อยู่ทางตอนใต้ของเกาะคิวซูลงไปประมาณ 115 กิโลเมตร ซึ่งเกาะคิวซูเป็น 1 ใน 4 เกาะใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น ในศูนย์อวกาศประกอบด้วยฐานสำหรับปล่อยจรวดขนาดใหญ่ อาคารประกอบดาวเทียม อาคารประกอบโครงสร้างภายนอกครอบดาวเทียม และโครงสร้างอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอวกาศ ศูนย์อวกาศแห่งนี้ถูกใช้ปฏิบัติงานทางเทคโนโลยีอวกาศหลายกระบวนการ อย่างเช่น การประกอบ เชื่อมต่อ ตรวจสอบจรวด รวมถึงการตรวจสอบดาวเทียมขั้นสุดท้าย ติดตั้งดาวเทียมลงในท่อนบนของจรวด ติดตามและควบคุมจรวดที่ถูกปล่อยไปแล้ว ดังนั้น ศูนย์อวกาศแห่งนี้จึงมีบทบาทอย่างมากในการส่งดาวเทียมและยานอวกาศขึ้นสู่อวกาศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาด้านอวกาศของญี่ปุ่น สำหรับภาพรวมของ “Hope” ตัวยานสำรวจดาวอังคารลำนี้ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://web.facebook.com/…/p.32341025766…/3234102576653334/… หากการปล่อยจรวดเป็นไปอย่างราบรื่น ยานโฮปจะใช้เวลาเดินทางนานประมาณ 7 เดือน เข้าสู่วงโคจรรอบดาวอังคารในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 และจะเริ่มภารกิจหลักของยานในการศึกษาบรรยากาศของดาวอังคารต่อไป เรียบเรียง : พิสิฏฐ นิธิยานันท์ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร."