ปัญหาสุนัขและแมวจรจัดที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลทำให้เกิดโรคพิษสุนัขบ้าซึ่งเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ การฉีดวัคซีนและการทำหมันสุนัขและแมวจรจัดเพื่อลดจำนวนประชากรสุนัขและแมว จึงเป็นมาตรการหนึ่งในการเพิ่มสวัสดิภาพแก่สัตว์และลดผลกระทบจากปัญหาต่างๆ ที่ตามมาเพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชน โดยกลุ่มนิสิตสัตวแพทย์ จุฬาฯ เพื่อสวัสดิภาพสัตว์ได้ฉีดวัคซีนและทำหมันสุนัขและแมวจรจัดในพื้นที่ชุมชนรอบจุฬาฯ มาเป็นเวลา 4 ปีแล้ว
สำหรับในปีนี้จะมีการจัดโครงการดังกล่าวครั้งใหญ่ภายใต้ชื่อโครงการ “สัตวแพทย์ จุฬาฯ เพื่อสวัสดิภาพสัตว์ในรั้วจุฬาฯ” ซึ่งเป็นโครงการระยะยาว จะจัดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2563 เป็นต้นไป
พงษ์ศิริ นาคผดุงสุข นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ประธานชมรมสวัสดิภาพสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยถึงที่มาของชมรมนี้ว่ามีมาตั้งแต่ปี 2559 เริ่มจากกลุ่มดูแลสวัสดิภาพของสัตว์จรจัดทั้งในคณะและบริเวณรอบๆ โดยได้รับการจัดตั้งเป็นชมรมในปีนี้ สมาชิกชมรมเป็นนิสิตคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กิจกรรมของชมรมมีการจัด Workshop ให้ความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพสัตว์เบื้องต้น โดยอาจารย์ที่ปรึกษาเป็นผู้ให้ความรู้ เพจ Facebook : Johnjud ให้ความรู้ในการดูแลสัตว์ สวัสดิภาพสัตว์ และประชาสัมพันธ์หาบ้านสัตว์ กิจกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิต อาทิ การทำของเล่น การฉีดวัคซีน การถ่ายพยาธิ การหยดยากำจัดเห็บหมัดและพาสัตว์ในโครงการไปเดินเล่น เป็นต้น
โครงการช่วยเหลือสุนัขและแมวจรจัดรอบจุฬาฯ ในระยะแรกเริ่มจากสุนัขและแมวจรจัดในคณะสัตวแพทยศาสตร์ จากนั้นจึงขยายไปยังพื้นที่โดยรอบ ขั้นตอนเริ่มจากการสำรวจพื้นที่ว่ามีสุนัขและแมวจำนวนเท่าใด จากนั้นจึงให้ความช่วยเหลือด้วยการฉีดวัคซีน ทำหมัน การสำรวจและทำข้อมูลประวัติสุนัขและแมวจรจัดในชุมชนรอบจุฬาฯ ให้บริการความรู้เกี่ยวกับการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ารวมทั้งการดูแลสัตว์อย่างถูกต้อง ซึ่งนิสิตในชมรมฯ มีการแบ่งหน้าที่กันทำงานในส่วนต่างๆ เช่น ฝ่ายประสานงาน ฝ่ายดูแลสุขภาพสุนัขและแมว ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ฯลฯ
“สมาชิกชมรมมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี ปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 50 คน ไม่รวมนิสิตปี 1 โดยมี อ.สพ.ญ.ดร.จุฑามาศ เบญจนิรัตน์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ปีที่ผ่านมาเราสามารถทำหมันสุนัขและแมวจรจัดบริเวณอาคารสถาบัน 2 ได้เกือบ 100% โดยใช้วิธีการ TMR (Tap Mature Release) ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากสำนักบริหารระบบกายภาพ จุฬาฯ มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย มูลนิธิ SOS สานสายใยชีวิต เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ และโรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ มีการหาบ้านให้ลูกสุนัขเพิ่งเกิด นำไปฉีดวัคซีน และคัดกรองผู้ที่สนใจจะนำลูกสุนัขไปเลี้ยงว่ามีความพร้อมหรือไม่” พงษ์ศิริ กล่าว
สำหรับโครงการในปีนี้ พงษ์ศิริ เผยว่าเน้นการลงพื้นที่สำรวจประชากรสุนัขและแมวจรจัดโดยเพิ่มพื้นที่ สำรวจในคณะเภสัชศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ หอพักนิสิตจุฬาฯ และสำนักงานวิทยทรัพยากร อาคารสถาบัน 2 อาคารสถาบัน 3 โดยจะประสานงานกับคณะและหน่วยงานดังกล่าว หลังจากนั้นจะประชาสัมพันธ์สู่สาธารณะเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของสุนัขและแมวในจุฬาฯ
“ประสบการณ์ที่ได้รับจากการทำงานในโครงการนี้ ทำให้ได้รับความรู้ในเรื่องการควบคุมประชากรสัตว์ ได้ฝึกทักษะในการจับบังคับสุนัขและแมว การป้อนยา การทำแผล ได้เรียนรู้การเข้าหาสัตว์ ที่สำคัญคือรู้สึกดีใจที่ได้หาบ้านให้น้องหมาน้องแมว อยากให้คนที่สนใจจะเลี้ยงสัตว์ขอให้ดูความพร้อม หาข้อมูลหรือปรึกษาสัตวแพทย์ก่อน และรับผิดชอบชีวิตเขาให้เต็มที่ให้ถึงที่สุด การรับเลี้ยงสุนัขและแมวจรจัดเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ซึ่งจะเปลี่ยนชีวิตเราให้มีความรับผิดชอบในการดูแลสัตว์และช่วยให้สัตว์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย” พงษ์ศิริ กล่าวแนะนำ