ตัวอักษรจีนเป็นตัวอักษรเก่าแก่โบราณหนึ่งเดียวในบรรดาตัวอักษรระบบต่าง ๆ ในโลกที่สืบสานจากยุคดึกดำบรรพ์มาจนถึงทุกวันนี้ การคัดลายมือพู่กันเป็นศิลปะจีนดั้งเดิมที่มีลักษณะเฉพาะ สามารถสะท้อนให้เห็นภาพรวมของนักการเขียนพู่กันจีน ทั้งจิตวิญญาณและวัฒนธรรมคุณภาพ ทฤษฎีการคัดลายมือพู่กันจีนประกอบด้วยทฤษฎีเทคนิคการเขียนและทฤษฎีสุนทรียภาพ ทฤษฎีเหล่านี้ได้สะท้อนภูมิปัญญาของปัญญาชนจีนสมัยโบราณ
1. ต้นกำเนิดตัวอักษรจีน แหล่งการเขียนพู่กันจีนและภาพวาดจีน
เวลากล่าวถึงต้นกำเนิดของตัวอักษรจีน แต่ไหนแต่ไรมา มักจะเห็นว่า “การเขียนพู่กันจีนกับภาพวาดจีนมีต้นกำเนิดเดียวกัน” กล่าวอย่างเข้มงวดคือ ตัวอักษรจีนพัฒนามาจากภาพวาด โดยย่อภาพสิ่งของต่าง ๆ ให้เป็นเครื่องหมายและคำศัพท์ เพื่อใช้ในการบันทึกเรื่องต่าง ๆ และสื่อความหมายทัดเทียมกับภาษาพูด อีกทั้งได้ก้าวข้ามขีดจำกัดทางกาลเทศะของภาษาพูดด้วย จนกลายเป็นตัวอักษรในระยะต้น ดั่งที่นายสวี่ เซิ่น นักคัมภีร์ศึกษาราชวงศ์ตงฮั่น (พ.ศ.568-763) ได้เขียนไว้ในคำนำของหนังสือเรื่อง “ซัวเหวินเจี่ยจื้อ” หนังสือวิเคราะห์รูปแบบตัวอักษรจีนและต้นกำเนิดตัวอักษรจีนเล่มแรกของจีนว่า “ตอนที่ช้าง เจี๋ย ประดิษฐ์ตัวอักษรจีนล้วนใช้ภาพของสิ่งของต่าง ๆ เป็นที่อ้างอิง จึงเรียกว่า “เหวิน” ต่อมา มีการประดิษฐ์ตัวอักษรที่บอกทั้งรูปและการอ่านออกเสียง จึงเรียกว่า “จื้อ” กล่าวได้ว่า ตั้งแต่ตัวอักษรจีนประดิษฐ์ขึ้นเป็นต้นมา การเขียนตัวอักษรจีนก็มีสุนทรียภาพและมีกฎเกณฑ์การเขียนตามรูปลักษณ์ของตัวอักษร นับเป็นศิลปะดั้งเดิมที่ผสมผสานความเก่าแก่โบราณเข้ากับความทันสมัยได้เป็นอย่างดี
เรามาดูตัวอักษรโบราณของ “สัตว์เลี้ยง 6 อย่าง” ได้แก่ วัว ม้า หมู แพะ หมา และไก่ แล้วยังมีตัวอักษร “ช้าง” ตัวอักษรเหล่านี้ช่างมีชีวิตชีวา เหมือนตัวจริงทีเดียว ต่อไป เรามาดูตัวอักษร “ปลา” ตัวอักษร “อาวุธ” และตัวอักษร “รถ” ที่อยู่บนเครื่องทองสัมฤทธิ์ ยิ่งให้รู้สึกว่า ตัวอักษรเหล่านี้เหมือนภาพวาดทีเดียว
ตัวอักษรภาพ หรือ “เซี่ยงสิงจื้อ” เป็นภาพวาดที่ลอกเลียนรูปลักษณ์ของสิ่งของต่าง ๆ เพื่อสื่อความหมาย และก่อรูปขึ้นเป็นพื้นฐานของระบบตัวอักษรจีน ทว่าตัวอักษรภาพตัวเดี่ยว ยังไงก็มีข้อจำกัด มนุษย์เราไม่สามารถวาดภาพตามสิ่งของต่าง ๆ ให้ครบบริบูรณ์ได้ และก็ไม่สามารถรับมือความสลับซับซ้อนและความหลากหลายของโลกได้ ด้วยเหตุนี้ จึงมีการประดิษฐ์ตัวอักษรชนิด “หุ้ยอี้” หรือตัวอักษรรวมความหมาย ที่ใช้ตัวอักษรภาพหลายตัวมาประกอบเข้าด้วยกันเป็นตัวอักษรใหม่ นอกจากนี้ ยังมีการประดิษฐ์ตัวอักษรชนิด “สิงเซิง” คือตัวอักษรที่มีการบอกทั้งรูปและการอ่านออกเสียง
ตัวอักษรชนิด “หุ้ยอี้” สามารถแสดงให้เห็นถึงความแยบยลด้านการจัดองค์ประกอบภาพของตัวอักษรจีนอย่างเต็มที่ เช่น ตัวอักษร “日” (พระอาทิตย์) กับตัวอักษร “月” (พระจันทร์) ประกอบด้วยเป็นตัวอักษร “明” (สว่าง) ซึ่งเป็นแนวคิดอย่างหนึ่งของการประกอบตัวอักษรจีน ส่วนตัวอักษร “囧” (สว่าง) มีแนวคิดการประกอบตัวอักษรอีกอย่างหนึ่งคือ ตัวอักษร “囧” มีรูปลักษณ์เหมือนหน้าต่างบานหนึ่ง โดยมีแสงอาทิตย์และแสงจันทร์ส่องเข้าไปในห้อง ห้องนี้จึงสว่างขึ้น สำหรับตัวอักษร “渔” (การประมงหรือการจับปลา) ก็เป็นตัวอักษรชนิด “หุ้ยอี้” โดยประกอบด้วยอักษรภาพที่มีมือ แห และปลา เพื่อสื่อความหมายว่า ใช้มือถือคันเบ็ดตกปลา ใช้สองมือจับปลา และปลาที่อยู่ในน้ำ ซึ่งแสดงให้เห็นความเฉลียวฉลาดในการจัดองค์ประกอบภาพของคนสมัยโบราณ ส่วนตัวอักษร “雷” (ฟ้าร้อง) ตัวอักษรชนิด “หุ้ยอี้” อีกตัวหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยฟ้าผ่า เมฆฝน และกลองที่เชื่อมต่อกัน ซึ่งเต็มไปด้วยสีสันของงเทพนิยาย
2. วิวัฒนาการศิลปะการเขียนพู่กันจีน ต่างแบบต่างสุนทรียภาพ
2.1 อักษรศิลป์แบบ “เจี่ยกู่เหวิน” – สุนทรียภาพแห่งการสื่อสารกับเทพเจ้า
ตัวอักษรแบบ “เจี่ยกู่เหวิน” เป็นตัวอักษรที่แกะสลักบนกระดองเต่าหรือกระดูกสัตว์ที่ค้นพบจากโบราณสถานแห่งราชวงศ์ยินซาง ที่อำเภอยินซวี เมืองหนันหยาง มณฑลเหอหนานเมื่อ 3,500 ปีก่อน “เจี่ยกู่เหวิน” เป็นตัวอักษรแบบสมบูรณ์ที่เก่าแก่ที่สุดของจีน โดยใช้ในการทำนาย บันทึกเหตุการณ์ ตั้งกระทู้ถามเทพเจ้า และทำการตกลงตามคำตอบของเทพเจ้า จากกระดองเต่าที่ใช้ในการทำนายพบว่า การจัดองค์ประกอบภาพช่างสอดคล้องกับ “อัตราส่วนทอง” โดยคำทำนายที่สัมผัสคล้องจองกันถูกจัดวางเป็นซ้ายขวาอย่างสมดุลกัน และมีนูนเว้าอย่างประสานกันด้วย ชวนให้จินตนาการถึงสุนทรียภาพของคนในสมัยนั้น
ตั้งแต่ได้ค้นพบตัวอักษร “เจี่ยกู่เหวิน” มาจนถึงทุกวันนี้ เวลาผ่านไปกว่า 120 ปีแล้ว ศิลปะการเขียน “เจี่ยกู่เหวิน” ด้วยพู่กันนับวันคึกคักขึ้น พร้อมกับการพัฒนาก้าวหน้าของการศึกษาวิจัยตัวอักษร “เจี่ยกู่เหวิน” และมีนักการเขียนพู่กันจีนที่เชี่ยวชาญเขียน “เจี่ยกู่เหวิน” เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
2.2 อักษรศิลป์แบบ “จินสือ” – สุนทรียภาพจากเสียงเคาะโลหะและกระทบหินหยก
ตัวอักษรรองรับภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์ของการบันทึกเหตุการณ์สำคัญใหญ่ยิ่งในโลก ตลอดจนมีการจารึกไว้บนโลหะหรือก้อนกิน เพื่อให้ดำรงอยู่อย่างชั่วนิจนิรันดร์ คำว่า“จิน” หมายความว่าโลหะ คำว่า “สือ” หมายความว่าหิน คนจีนเห็นว่า อักษรศิลป์แบบ “จินสือ” มีลีลางดงามและเคร่งขรึม และมีสุนทรียภาพจากเสียงเคาะโลหะและกระทบหินหยก นอกจากนี้ การฝึกเขียนตัวอักษรแบบ “จินสือ” ยังช่วยให้บรรดานักการเขียนพู่กันจีนมีคุณธรรมและมีความมั่นคงทางอารมณ์อีกด้วย
ตัวอย่างเช่น อักษรศิลป์แบบ “จินสือ” ที่อยู่บน “ลี่กุ่ย” เครื่องทองสัมฤทธิ์สำหรับใส่ข้าวสวยสมัยราชวงศ์ซีโจว “เอ้อจวินฉี่ถงเจี๋ย” (บางส่วน) อักษรศิลป์แบบ “จินสือ” เรื่องพระราชโองการที่หล่อบนกระบอกทองแดงสมัยจั้นกั๋ว และ “สือกู่เหวิน” อักษรศิลป์แบบ “จินสือ” ที่แกะสลักบนหินที่มีรูปลักษณ์เหมือนกลองสมัยต้นราชวงศ์ฉิน ที่ลอกตามแบบโดยนายอู๋ ชางซั่ว นักการเขียนพู่กันจีนปลายราชวงศ์ชิง
2.3 อักษรศิลป์แบบ “จ้วนซู” – สุนทรียภาพแบบธรรมชาติ
ตัวอักษรแบบ “จ้วนซู” โดยทั่วไป หมายถึง “เสี่ยวจ้วน” ที่พัฒนามาจากตัวอักษร ของราชวงศ์ฉินเมื่อ 2,200 กว่าปีก่อน นายหลี่ ซือ เสนาบดี ราชวงศ์ฉิน ได้ปฏิรูปตัวอักษรจีนให้เป็นเอกภาพและมีมาตรฐาน โดยมีลักษณะกลมเกลียว ยืดยาว มีระเบียบแต่ก็ไม่ผิดหลักโครงสร้าง สวยแบบบรรจง แต่ก็ไม่เสียความลื่นไหล เพื่อแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของรางชวงศ์ฉินหลังจากจักรพรรดิจิ๋นซีฮ่องเต้ได้รวมจีนเป็นปึกแผ่น
“ซัวเหวินเจี่ยจื้อ” เป็นพจนานุกรมเล่มแรกในโลกที่เรียบเรียงโดยนายสวี่ เซิ่น นักคัมภีร์ศึกษาราชวงศ์ตงฮั่น (พ.ศ.568-763) คำศัพท์ต่าง ๆ ที่รวบรวมอยู่ในพจนานุกรมเล่มนี้ล้วนใช้ตัวอักษรแบบ “จ้วนซู” นำหน้าคำอธิบาย ต่อมา บรรดานักการเขียนพู่กันจีนสมัยราชวงศ์ถังและราชวงศ์ซ่ง ได้พัฒนา “จ้วนซู” อย่างต่อเนื่อง จนถึงราชวงศ์ชิง มีการรังสรรค์ลีลา “จ้วนซู” ให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ซึ่งรวมถึง ลีลา “ยวี่จู้” (ตะเกียบหยก) ลีลา “เสวียนเจิน” (เข็มแขวน) ลีลา “เถี่ยเซี่ยน” (ลวดเหล็ก) ลีลา “หลิ่วเย่” (ใบไม้ต้นหลิว) ลีลา “เหมยฮัว” (ดอกเหมย) และลีลา “จิ่วเตี๋ย” (ซ้อนเก้าชั้น) เป็นต้น ลีลาเหล่านี้ต่างมีความเหนือกว่าของตน และได้ผลักดันให้อักษรศิลป์แบบ “จ้วนซู” เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น
ตัวอย่างเช่น “ยี่ซานเปย” (บางส่วน) อักษรศิลป์แบบ “จ้วนซู” ของเสนาธิบดีหลี่ ซือ ราชวงศ์ฉิน และกลอนคู่ที่เขียนโดยนายเติ้ง สือหรู นักการเขียนพู่กันจีนสมัยราชวงศ์ชิง
2.4 อักษรศิลป์แบบ “ลี่ซู” – สุนทรียภาพแบบหัวตัวไหมและหางนกนางแอ่น
ถึงแม้ว่าอักษรศิลป์แบบ “จ้วนซู” จะเคร่งขรึม สง่างาม อ่อนโยน และเป็นระเบียบก็ตาม แต่เนื่องกจากการเขียนค่อนข้างยาก จึงไม่ค่อยได้ใช้งาน ด้วยเหตุนี้ มีการพัฒนา “จ้วนซู” แบบเขียนหวัดที่ปรับเปลี่ยนจากตัวอักษรแบบสูงยาวในอดีตให้เป็นแบบแบนกว้าง และมีขีดเขียนที่ตัดขาดกันอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ “จ้วนซู” หลังการปรับเปลี่ยนดังกล่าวยังเน้นความเป็นเครื่องหมายมากกว่าความเป็นภาพ บางคนเรียกวิธีการเขียนแบบนี้ว่า “ปาเฟินซู” คือ แบบเขียนคล้าย ๆ กับรูปลักษณ์ของตัวอักษร “八” ที่เปิดกว้างทางซ้ายและขวา อักษรศิลป์แบบ “ลี่ซู” ได้รับการปรับปรุงให้สมบูรณ์ขึ้นในราชวงศ์ฮั่น (พ.ศ.341-763) การที่ตัวอักษรแบบ “จ้วนซู” พัฒนามาเป็นแบบ “ลี่ซู” ก็เพื่ออำนวยความสะดวกในการเขียนประจำวัน ต่อมา “ลี่ซู” ก่อรูปขึ้นเป็นลีลา “หัวตัวไหมและหางนกนางแอ่น” คือ เวลาสะบัดพู่กันเริ่มเขียนขีดเส้นต่าง ๆ ต้องเขียนให้มีรูปลักษณ์เหมือนหัวของตัวไหม ตอนตวัดพู่กันปิดท้ายเขียนขีดเส้นต่าง ๆ ต้องเขียนให้มีรูปลักษณ์เหมือนหางของนกนางแอ่น นอกจากนี้ อักษรศิลป์แบบ “ลี่ซู” ยังมีกฎเกณฑ์การเขียนที่เรียกว่า “ยี่โบซานเจ๋อ” ที่ลงน้ำหนักตอนเริ่มเขียนให้หนักเพื่อให้ตัวอักษรดูมีพลัง จากนั้นผ่อนน้ำหนักลง และค่อย ๆ เพิ่มน้ำหนักอีกครั้งตอนท้าย อักษรศิลป์แบบ “ลี่ซู” ดูเหมือนเป็นคนที่กำลังรำมวยไทเก๊ก หนักเอาเบาสู้ ขีดหยุดหักเป็นระเบียบ อุดมด้วยจังหวะการเคลื่อนไหว และงดงามเป็นพิเศษ
ตัวอย่างเช่น อักษรศิลป์แบบ “ลี่ซู” บนศิลาจารึก “เฉาฉวนเปย” (บางส่วน) สมัยราชวงศ์ตงฮั่น และผลงานของนายหลิว ปิ่งเซิน นักการเขียนพู่กันร่วมสมัยของจีน
2.5 อักษรศิลป์แบบ “ข่ายซู” – สุนทรียภาพแบบงามสง่า
ตัวอักษรแบบ “ข่ายซู” พัฒนามาจากแบบ “ลี่ซู” โดยมีแนวโน้มที่การเขียนง่ายกว่าและสะดวกกว่า แต่มีความงดงามและละเอียดประณีตมากกว่า มีรูปลักษณ์เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่ขีดขวางราบเรียบและขีดตั้งตรงดิ่ง ดูเหมือนเป็นสถาปัตยกรรมที่สง่างามและมั่นคง การเขียนตัวอักษรจีนในปัจจุบัน โดยทั่วไป เขียนเป็นแบบ “ข่ายซู” มากกว่า คำว่า “ข่าย” มีความหมายว่า ต้นแบบ ตัวอย่าง หรือมาตรฐานที่ควรปฏิบัติตามและลอกเลียนแบบ “ข่ายซู” มีอีกหลายชื่อ ได้แก่ เจิ้งข่าย ( “ข่ายซู” แบบถูกต้อง) เจินซู (อักษรศิลป์ที่แท้จริง) และเจิ้งซู (อักษรศิลป์บรรจง) เป็นต้น
แต่ไหนแต่ไรมา ในแวดวงการคัดลายมือพู่กันจีน ก็มีคำว่า “ฮั่นลี่ถังข่าย” ซึ่งหมายความว่า อักษรศิลป์แบบ “ลี่ซู” แห่งราชวงศ์ฮั่นกับอักษรศิลป์แบบ “ข่ายซู” แห่งราชวงศ์ถัง โด่ดเด่นและสำคัญที่สุด น่าเลียนแบบ ในประวัติศาสตร์ จีนมีนักการเขียนพู่กันแบบ “ข่ายซู” ที่ยิ่งใหญ่ 4 ท่าน ในจำนวนนี้ มีอยู่ 3 ท่านเป็นคนสมัยราชวงศ์ถัง ได้แก่ นายโอ หยังสวิน นายหยัน เจินชิง และนายหลิ่ว กงเฉวียน อีกท่านหนึ่งคือ นายจ้าว เมิ่งฝู่ ราชวงศ์หยวน นอกจากนี้ “ข่ายซู” ยังมีลีลาแบบศิลาจารึกแห่งราชวงศ์เว่ย “โซ่จินถี่” ลีลาแบบเส้นขีดบางที่จักรพรรดิจ้าว จี๋ แห่งราชวงศ์ซ่ง ทรงประดิษฐ์ขึ้น ลิลาแบบ “ตระกูลฉี่” ที่รังสรรค์โดยนายฉี่ กง นักการเขียนพู่กันจีนสมัยใหม่ เป็นต้น ลีลาดังกล่าวต่างมีเอกลักษณ์ของตน จีนมีนักการเขียนพู่กันแบบ “ข่ายซู” จำนวนมาก ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงหนึ่งในหมื่นเท่านั้น ไม่สามารถพูดถึงให้ครบถ้วนได้
ผลงานดีเด่นของอักษรศิลป์แบบ “ข่ายซู” มี “จางเมิ่งหลงเปย” (บางส่วน) ศิลาจารึกแห่งรางวงศ์เป่ยเว่ย “ตัวเป่าถ่าเปย” (บางส่วน) ผลงานของนายหยัน เจินชิง นักการเขียนพู่กันจีนราชวงศ์ถัง และ “ฟูหรงจิ่นจีถู” ผลงานของจักรพรรดิจ้าว จี๋ แห่งราชวงศ์ซ่ง
2.6 อักษรศิลป์แบบ “สิงซู” – สุนทรียภาพดั่งเมฆเหินน้ำไหล
ตัวอักษรแบบ “สิงซู” พัฒนามาจากแบบ “ข่ายซู” เป็นแบบตัวอักษรที่อยู่ระหว่าง “ข่ายซู” ที่เขียนบรรจงกับ “เฉ่าซู” ที่เขียนหวัด โดยถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่ปลายราชวงศ์ตงฮั่น หากว่า “ข่ายซู” มีความงามแบบคงที่ เหมือนกับการนั่งขัดสมาธิ และดั่งตึกหอศาลาที่ตั้งตัวอย่างมั่นคง ส่วนแบบ “สิงซู” ก็มีความงามแบบเคลื่อนไหว เหมือนกับการร่ายรำตามเสียงดนตรีเบา ๆ และดั่งเมฆเหินน้ำไหล “สิงซู” เป็นที่นิยมมากของบรรดานักการเขียนพู่กันจีน เนื่องด้วยมีความสะดวกในการประยุกต์ใช้ มีความอิสระเสรีในการสะบัดพู่กัน และเน้นความมีศิลปะ ราชวงศ์เว่ยและราชวงศ์จิ้นเป็นยุคทองของ “สิงซู” นอกจากนี้ “สิงซู” ยังได้รับการพัฒนาอย่างมากในสมัยราชวงศ์ถังและราชวงศ์ซ่งอีกด้วย โดยมีนักการเขียนพู่กันแบบ “สิงซู” เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกยุคสมัย และได้รังสรรค์ผลงานยอดเยี่ยมน่าอัศจรรย์จำนวนมากมาย ในจำนวนนี้ ผลงานที่ได้รับการยกย่องว่า “สิงซูอันดับที่หนึ่งใต้หล้า” คือ “หลันถิงซวี่” ผลงานของนายหวัง ซีจือ นักการเขียนพู่กันจีนแห่งราชวงศ์ตงจิ้นที่ ส่วน “จี้จื๋อเหวินเก่า” ของนายหยัน เจินชิง นักการเขียนพู่กันจีนแห่งราชวงศ์ถังเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่า “สิงซูอันดับที่สองใต้หล้า” และ “หันสือเถี่ย” ของนายซู ซื่อ กวีแห่งราชวงศ์ซ่งได้รับเลือกเป็น“แบบสิงซูอันดับที่สามใต้หล้า”
ขอจัดแสดงบางส่วนของ “หลันถิงซวี่” ให้ชม ณ ที่นี้ 2.7 อักษรศิลป์แบบ “เฉ่าซู” – สุนทรียภาพแห่งลีลาที่มีชีวิตชีวา
ตัวอักษรแบบ “เฉ่าซู” หรือแบบเขียนหวัด ก่อรูปขึ้นจากตัวอักษรแบบเฉพาะในราชวงศ์ฮั่น โดยแบ่งเป็นลีลา “จางเฉ่า” หรือแบบเขียนหวัดยุคต้น ลีลา “จินเฉ่า” หรือแบบเขียนหวัดยุคหลัง ลีลา “ต้าเฉ่า” แบบเขียนหวัดแนวบ้าคลั่ง และลีลา “เสี่ยวเฉ่า” แบบเขียนหวัดเล็ก ๆ “เฉ่าซู” มุ่งเน้นการแสดงออกมาทางด้านศิลปะ โดยก้าวข้ามข้อจำกัดต่าง ๆ เพื่อให้มีลีลาแนวบ้าคลั่ง ดุเดือด ฉับไว เปลี่ยนแปลงอย่างไม่อยู่นิ่ง เหมือนคลื่นลมซัดกระหน่ำอย่างรุนแรง หรือดั่งดนตรีซิมโฟนีที่ขลัง ยิ่งใหญ่ อลังการ
นักการเขียนพู่กันแบบ “เฉ่าซู” ผู้มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์มี นายชุย หยวน นายจาง จือ นายหวง เซี่ยง นายหวัง ซีจือ นายจื้อ หย่ง นายซุน กั้วถิง นายจาง ซวี่ นายหวย ซู่ นายหวัง ตั๋ว และจักรพรรดิจ้าว จี๋ เป็นต้น นักการเขียนพู่กันจีนเหล่านี้เสมือนดวงดาวบนท้องฟ้าทอประกายสว่างเจิดจ้า
ตัวอย่างเช่น “ก้วนจวินเถี่ย” (บางส่วน) ผลงานของนายจาง จือ นักการเขียนพู่กันจีนราชวงศ์ตงฮั่น และ “จื้อซวี่เถี่ย” (บางส่วน) ผลงานของนายหวย ซู่ นักการเขียนพู่กันจีนราชวงศ์ถัง
3. วัฒนธรรมการเขียนพู่กันจีน ความหลากหลายกับความยิ่งใหญ่
3.1 อักษรศิลป์กลอนคู่ – สุนทรียภาพแห่งฉันทลักษณ์
จีนมีประเพณีการแต่งกลอนคู่ เพื่อติดไว้บนต้นเสาที่อยู่หน้าและในพระราชตำหนัก หรือติดไว้อยู่หน้าประตูบ้านเรือน กลอนคู่เป็นบทกวีที่ไพเราะ โดยมีหลักการว่าทั้งสองบาทต้องมีจำนวนคำเท่ากัน เสียงสูงต่ำและการสัมผัสคล้องจองรื่นหู มีการเล่นคำ ที่สำคัญคือต้องมีคติสอนใจ มีความหมายที่เป็นมงคล และให้ผู้ที่อยู่อาศัยมีความสุขความเจริญ แต่ไหนแต่ไรมา บรรดาบัณฑิตหรือปัญญาชน นิยมแต่งกลอนคู่และคัดลายมือกลอนคู่ด้วยพู่กัน เพื่อผสมผสานสุนทรียภาพจากกวีนิพนธ์กับศิลปะการเขียนพู่กันจีนให้เข้าด้วยกัน อักษรศิลป์กลอนคู่ที่แพร่หลายในทั่วประเทศและสืบสานจากสมัยโบราณมาจนถึงทุกวันนี้ ดั่งดอกไม้ที่บานสะพรั่งในสวนดอกไม้แห่งอักษรศิลป์
3.2 อักษรศิลป์บนตราประทับ – สุนทรียภาพจากตัวเล็กสู่ความยิ่งใหญ่
ตราประทับ ภาษาจีนเรียกว่า “ฮียิ่น” “ยิ่นจาง” “ยิ่นซิ่น” “ถูจาง” และ “ชัวจึ” ตั้งแต่ราชวงศ์ฉินเป็นต้นมา ตราประทับของจักรพรรดิถูกเรียกว่า “ฮี” ส่วนตราประทับของบรรดาข้าราชการหรือคนทั่วไปเรียกว่า “ยิ่น” ตราประทับจีนมีหลายประเภท ซึ่งรวมถึงตราประทับชื่อ ตราประทับตำแหน่ง ตราประทับนักษัตร ตราประทับคำมงคล ตราประทับสุภาษิต ตราประทับบทกวี ตราประทับความชื่นชม และตราประทับเพื่อการเก็บสะสม เป็นต้น การแกะสลักตัวอักษรบนตราประทับมี 2 อย่าง คือ แบบยิน (แบบเว้า) กับแบบหยาง (แบบนูน) ถึงแม้ว่าตราประทับมีพื้นที่เล็ก ๆ นับตารางเซนติเมตร แต่สามารถแสดงออกความกว้างใหญ่ของฟ้าดินได้
3.3 สมบัติล้ำค่า 4 อย่างในห้องหนังสือ – สุนทรียภาพจากบัณฑิต
สมบัติล้ำค่า 4 อย่างในห้องหนังสือ คือ พู่กัน หมึก กระดาษ และจานฝนหมึก ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานภาพวาดและการเขียนพู่กันจีน บรรดาบัณฑิตและปัญญาชนของจีนนิยมเก็บสะสมเครื่องเขียน 4 อย่างนี้ พู่ของพู่กันทำมาจากขนสัตว์จำพวกกระต่าย แกะ และอีเห็น เป็นต้น ส่วนด้ามของพู่กันทำมาจากกระบอกไม้ไผ่ พิจารณาจากตัวอักษร “เจี่ยกู่เหวิน” สันนิษฐานว่า พู่กันจีนประดิษฐ์ขึ้นใช้ในราชวงศ์เซี่ยและราชวงศ์ซาง ถึงยุคชุนชิวกับยุคจั้นกั๋ว มีการจัดทำและใช้งานกันอย่างแพร่หลาย หมึกเป็นวัสดุสีดำที่ใช้ในการคัดลายมือด้วยพู่กันและวาดภาพ จากการศึกษาทางโบราณคดีพบว่า ลวดลายที่ตกแต่งบนเครื่องปั้นดินเผายุคก่อนประวัติศาสตร์ อักษร “เจี่ยกู่เหวิน” หนังสือแผ่นไม้ไผ่ การเขียนด้วยพู่กัน และภาพวาดบนผ้าไหมแห่งราชวงศ์ซางและราชวงศ์โจว ต่างมีร่องรอยของการใช้ตะกั่วธรรมชาติ ส่วนหมึกที่แปรรูปนั้นเริ่มมีการใช้ในประมาณยุคจั้นกั๋ว โดยใช้เขม่าควันที่เกิดจากการเผาไม้สนเป็นวัตถุดิบ กระดาษแปรรูปจากเส้นใยพืช เป็นสิ่งประดิษฐ์สมัยโบราณที่ยิ่งใหญ่ 1 ใน 4 ของจีน กระดาษถือกำเนิดขึ้นในสมัยราชวงศ์ซีฮั่น ต่อมา นายไช่ หลุน นักประดิษฐ์ราชวงศ์ตงฮั่น ได้ปรับปรุงวิธีการผลิตกระดาษให้มีคุณภาพสูงขึ้น จานหมึกเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการฝนหมึก ปกติทำจากหินที่มีเนื้อแข็ง วิธีการฝนหมึก คือ หยดน้ำเปล่าใส่ลงในจานฝนหมึก และใช้แท่งหมึกฝนจนมีความเข้มข้นเป็นน้ำหมึกสีดำ หลังจากมีการประดิษฐ์ใช้หมึกขึ้นแล้ว จานฝนหมึกก็ค่อย ๆ เข้ามามีบทบาทในการเขียนพู่กันจีน
สมบัติล้ำค่า 4 อย่างในห้องหนังสือ มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์วิวัฒนาการของภาพวาดจีนและการเขียนพู่กันจีน และมีส่วนเกื้อกูลต่อการพัฒนาวัฒนธรรมของประชาชาติจีนให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น ศิลปะการเขียนพู่กันจีนชูประเด็นให้ฝึกปรือจิตใจบ่อย ๆ จึงกลายเป็นสมบัติอันล้ำค่าทางศิลปะที่มีเฉพาะของวัฒนธรรมตะวันออก และได้กลายเป็นหน้าต่างสำคัญสำหรับโลกในการเข้าใจวัฒนธรรมตะวันออก
โดย กัว เสี่ยวอู่ และ ตู้ เสียง