ในปีการศึกษา 2563 นี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เตรียมพร้อมจัดการเรียนการสอนแบบ New Normal โดยมีรูปแบบการเรียนการสอนตามแนวทางของ มก. ทั้งการเรียนออนไลน์ และการเรียนแบบเข้าชั้นเรียน และเน้นการป้องกันทั้งผู้สอนและผู้เรียนให้ปลอดภัยจากโควิด-19 หนึ่งในวิชาเรียนพื้นฐานที่มีความสำคัญ และนิสิตวิศวกรรมศาสตร์ต้องเรียนทุกคน คือ วิชาการเขียนแบบวิศวกรรม หรือ Engineering Drawing ซึ่งในยุค New Normal หน้าตาการเรียนการสอนจะเปลี่ยนไปอย่างไร อ.ดร.อัญชนา วงษ์โต ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล หัวหน้าผู้สอนรายวิชาดังกล่าว เล่าว่า “ในการเรียนวิชาการเขียนแบบวิศวกรรมนั้น จะมีทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยในส่วนของทฤษฏีได้จัดทำคลิปการสอนเพื่อให้นิสิตศึกษาบทเรียนด้วยตนเอง และให้นิสิตมาเรียนปฏิบัติการที่คณะโดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม และสลับกลุ่มเข้าเรียนปฏิบัติการ เพื่อลดความหนาแน่น โดยเน้นการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล ตลอดจนการทำความสะอาดของอุปกรณ์การเรียน” สำหรับการเรียนการสอนที่นิสิตต้องใช้เครื่องมือร่วมกันในห้องปฏิบัติการนั้น ผศ.ดร.กานดิส สุดสาคร และ อ.ดร.วรวัชร วัฒนฐานะ อาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมเคมี และภาควิชาวิศวกรรมวัสดุ ตามลำดับ ได้เน้นการลดจำนวนนิสิตในห้องเรียนและการสลับกลุ่มเรียน รวมทั้งจัดทำคลิปวีดีโอบรรยาย เพื่อให้นิสิตได้ศึกษาบทเรียนก่อนเข้าเรียนทั้งภาคทฤษฏีและภาคปฏิบัติ โดยที่นิสิตสามารถเปิดชมและเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา และสามารถปรึกษาอาจารย์ผ่านการสนทนารูปแบบออนไลน์ได้ โดยภายหลังการเรียนจบในแต่ละรายวิชา อาจารย์ผู้สอนจะมีการมอบหมายงานให้นิสิตทำส่งอาจารย์ผ่านระบบออนไลน์ สำหรับการทดสอบความเข้าใจและวัดผล จะใช้เป็นแบบสอบถามออนไลน์ผ่านการใช้โปรแกรม Google Classroom Google Meet และ Microsoft Team ในมุมมองของนิสิตเกี่ยวกับการเรียนการสอนแบบ New Normal ซึ่งนายพฤกษ์ อ่วมเทศ นิสิตชั้นปีที่ 1 ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เผยว่า “การเรียนออนไลน์ในสถานการณ์ โควิด-19 เหมาะสมดี ส่วนหนึ่งเพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และลดจำนวนคนที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่รองรับการเรียนการสอนออนไลน์ ทำให้นิสิตสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ นอกจากนี้ การเรียนในห้องเรียนและการเรียนในห้องปฏิบัติการ ถึงแม้จะเป็นการเรียนกลุ่มเล็ก แต่มีข้อดี คือ มีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มเพื่อนและสนิทสนมกันได้เร็วขึ้น”