นายแพทย์ ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานงานพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือเพื่อจัดทำโครงการนี้ กล่าวว่า เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ภาคเอกชนอย่าง บริษัท คันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จํากัด (มหาชน) หรือ ‘ซีจีเอช’ เล็งเห็นความสำคัญในการส่งเสริมด้านการศึกษาของเยาวชนไทย และจัดทำโครงการเพื่อการศึกษาที่มีประโยชน์แก่สังคมในวงกว้าง โดยกระทรวงศึกษาธิการในฐานะหน่วยงานภาครัฐได้เข้ามาสนับสนุนหลายส่วน ทั้งการพัฒนาหลักสูตรและองค์ความรู้ต่างๆ รวมถึงการคัดเลือกสถาบันการศึกษาและบุคลากรที่เหมาะสมร่วมดำเนินโครงการฯ ซึ่งนับว่าเป็นการร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนครั้งสำคัญที่จะช่วยยกระดับมาตรฐานการศึกษาไทยให้สอดคล้องไปกับการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล นายทอมมี่ เตชะอุบล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จํากัด (มหาชน) หรือ ‘ซีจีเอช’ กล่าวว่า เราให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมควบคู่ไปกับการดำเนินงานและพัฒนาธุรกิจอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาด้านการศึกษาซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยพัฒนาเยาวชนไทยให้มีศักยภาพและคุณภาพพร้อมเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศชาติต่อไปในอนาคต และเพื่อสานต่อพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ในการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัทฯ จึงริเริ่มโครงการ ‘เอดูเคชั่น ออน วิลส์ บาย ซีจีเอช (Education on Wheels by CGH)’ ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาทักษะการเรียนรู้สายอาชีพระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลายขึ้น โดยได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาความสามารถในการประกอบอาชีพของเยาวชน เพิ่มพูนความรู้และขยายโอกาสทางการศึกษาสายอาชีพทั่วประเทศ พร้อมทั้งเพิ่มปริมาณของนักเรียนในสายอาชีพที่มีคุณภาพเพื่อรองรับความต้องการของตลาดแรงงานในประเทศไทยที่จะขยายตัวมากขึ้นในอนาคต สดาวุธ เตชะอุบล ประธานกรรมการ บริษัท คันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จํากัด (มหาชน) การุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ลงนามบันทึกความร่วมมือ โดยโครงการ “เอดูเคชั่น ออน วิลส์ บาย ซีจีเอช (Education on Wheels by CGH)” เป็นโครงการพัฒนาความสามารถและขยายโอกาสทางการศึกษาของนักเรียนระดับประถมศึกษาตอนปลายทั่วประเทศโดยเฉพาะโรงเรียนไอซียู (ICU) หรือโรงเรียนที่ประสบปัญหาวิกฤติทางการศึกษาและสนับสนุนนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ของรัฐบาล โดยเกิดจาก ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ภายใต้แนวคิด “การลงทุนเพื่อการศึกษาอย่างยั่งยืน - Sustainable Education Investment” เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาเกี่ยวกับสายอาชีพให้แก่เยาวชนผู้ขาดแคลนทั้งด้านอุปกรณ์การเรียนการสอน โดยแบ่งเนื้อหาการเรียนรู้เป็น 3 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านงานช่างทั่วไป 2. ด้านคอมพิวเตอร์ และ 3. ด้านการเกษตร ภายใต้หลักสูตรที่พัฒนาโดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ที่จะทำหน้าที่คัดเลือกนักเรียนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) มาฝึกอบรมเพื่อเพิ่มความรู้ด้านอาชีวศึกษาและพัฒนาทักษะ การสอน ก่อนจะลงพื้นที่เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และการปฏิบัติให้แก่นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลายจาก 50 โรงเรียนทั่วประเทศ นอกจากนี้โครงการนี้ยังเป็นการฝึกอบรมรวมถึงการพัฒนานักเรียนอาชีวศึกษาให้เติบโตเป็นบุคลากรทางการศึกษาที่ดีในอนาคตในทางอ้อมอีกด้วย นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า “สพฐ. มีพันธกิจหลักในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เยาวชนวัยเรียนทุกคนได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยครั้งนี้ได้ร่วมมือในการคัดเลือกโรงเรียนระดับชั้นประถมศึกษาขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ที่ยังขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนการสอนหรือขาดแคลนครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 50 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนในจังหวัดนครปฐม 7 โรงเรียน จังหวัดกาญจนบุรี 7 โรงเรียน จังหวัดฉะเชิงเทรา 6 โรงเรียน จังหวัดน่าน 7 โรงเรียน จังหวัดพะเยา 8 โรงเรียน จังหวัดหนองคาย 7 โรงเรียน และจังหวัดหนองบัวลำภู 8 โรงเรียน พร้อมทั้งประสานกับ สอศ. เพื่อให้นักศึกษาอาชีวศึกษาเข้ามาสอนพื้นฐานและฝึกปฏิบัติจริง จนนักเรียนสามารถช่วยเหลือตัวเองได้เบื้องต้น อาทิ การซ่อมท่อประปา โต๊ะหรือเก้าอี้ การซ่อมคอมพิวเตอร์เบื้องต้น และการปลูกผักสวนครัวเพื่อดำรงชีพในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ยังเป็นการต่อยอดให้นักเรียนผู้เข้าร่วมโครงการทุกคนสามารถนำความรู้เหล่านี้ไปประกอบอาชีพจนสามารถสร้างรายได้ให้แก่ตัวเองและครอบครัวอย่างยั่งยืน รวมถึงยังสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ ให้ผู้อื่นต่อไปในอนาคต” (จากซ้าย)  ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์, สดาวุธ เตชะอุบล, นพ. ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์  และ การุณ สกุลประดิษฐ์ ด้าน ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กล่าวว่า “สอศ. ได้ร่วมกับสถาบันอาชีวศึกษาส่งตัวแทนนักศึกษาระดับปวช. และ ปวส. ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านงานช่างทั่วไป งานคอมพิวเตอร์ และการเกษตร เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 600 คน จากสถานศึกษา 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครปฐม จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดน่าน จังหวัดพะเยา จังหวัดหนองคาย และจังหวัดหนองบัวลำภู เพื่อเข้ารับการอบรมเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาความสามารถและทักษะในการสอน จนเกิดความชำนาญ พร้อมเป็นผู้นำในการถ่ายทอดความรู้ให้แก่น้องๆ นักเรียนระดับประถมศึกษา ซึ่งโครงการนี้จะช่วยยกระดับและส่งเสริมให้นักศึกษาอาชีวศึกษาก้าวขึ้นเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพและเป็นฟันเฟืองสำคัญของภาคเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย นอกจากนี้ สอศ. ยังพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับนักเรียนชั้นประถมศึกษาตอนปลาย โดยเน้นกระบวนการเรียนรู้เชิงปฏิบัติ ทั้งฝึกคิดและลงมือทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเองเพื่อให้นักเรียนได้ฝึกคิดและลงมือทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเองในสภาพสิ่งแวดล้อมจริง” ทั้งนี้ โครงการ “เอดูเคชั่น ออน วิลส์ บาย ซีจีเอช (Education on Wheels by CGH)” เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2560 โดยปัจจุบันได้เริ่มฝึกอบรมความรู้และเพิ่มเติมทักษะการสอนให้แก่นักเรียนอาชีวศึกษา จนพร้อมเริ่มลงพื้นที่ถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักเรียนชั้นประถมศึกษา ซึ่งจะเริ่มที่สองโรงเรียนแรก ณ โรงเรียนวัดศรีวิสารวาจา และ โรงเรียนบ้านหนองหิน จังหวัดนครปฐม ก่อนจะขยายผลต่อไปยังนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาโรงเรียนอื่นๆ ทั่วประเทศตามลำดับ