บทความพิเศษ/ ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น) ท้องถิ่นรอได้อย่างอดทน ข่าวมั่วท้องถิ่น ผสมกับวิกฤติปัญหาเศรษฐกิจของประเทศสร้างความมึนงงให้แก่คนท้องถิ่นจนพูดไม่ออก ลองมาถอดใจกับคนท้องถิ่นดูว่าเขาคิดอะไรกัน นี่ยังไม่รวมสื่อที่มีใจเอนเอียงเข้าข้างคนท้องถิ่นหลายสำนัก ที่ช่วยกันนำเสนอตีข่าวการเลือกตั้งท้องถิ่น ไม่ว่าการถอดรหัสระเบียบ กกต. เพื่อเดาทิศทางจับสัญญาณการเลือกตั้ง, การคาดการณ์ท้องถิ่นแรกที่จะ “ประเดิม” จัดเลือกตั้งเป็นพื้นที่แรก, อปท.รูปแบบใดพร้อมที่สุด จากจำนวน อปท.ทั้งประเทศ 7,851 แห่ง ที่สมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น (สถ.และผถ.) ยังอยู่ในฐานะ “รักษาการ” การแช่แข็งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น 98,940 ตำแหน่งให้รักษาการต่อไปจนถึงขณะนี้ไม่ต่ำกว่า 5 ปีเต็ม ตามประกาศ คสช.ที่ 85/2557 ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 และ คําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 1/2557 ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2557 ตลอดเวลาของการครองอำนาจ 6 ปี ในช่วง 3 ปีแรกคนท้องถิ่นรอได้ แต่ช่วง 3 ปีหลังรู้สึกอึดอัดและหงุดหงิด แต่รัฐบาลก็ปูนบำเหน็จให้ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นเพื่อลดกระแส แต่ก็มิอาจทัดทานกระแสคนท้องถิ่นหมู่มากที่มีเป็นเรือนหลายแสน ผนวกกับเสียงของประชาชนคนท้องถิ่นอีกมากมายประมาณจำนวนไม่ได้ แต่คาดว่าหลายล้านคน เสียงจากผู้มีอำนาจบอกสื่อจะเลือกตั้งมาหลายครั้ง ลองมาทวนครั้งแรกบอกหลังเลือกตั้ง ส.ส. 90 วัน ต่อมาบอกรัฐบาลไม่มีงบประมาณเพราะเอางบไปใช้เรื่องโควิดหมด ล่าสุดรัฐมนตรีบอกว่าอยู่ในช่วงเวลาที่เสนองบประมาณของสภาท้องถิ่น จะเริ่มเลือกตั้งได้ต้อง 1 ตุลาคมไป บอกอย่างนี้มันถึงเวลาแล้ว หมดคำอ้างแก้ตัวเพื่อการลากยาว เพราะประเทศชาติต้องเดินหน้า อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนชาวบ้านปวงชนชาวไทย มิใช่อยู่ที่คนรวบอำนาจไว้ว่าจะปล่อยเมื่อใดก็ได้ คู่ปฏิปักษ์อำนาจรัฐกับอำนาจประชาชนสวนทางกัน ขอเรียกว่า “พรรคราชการ พรรคประชาชนมีฐานที่มาต่างกัน” โครงสร้างเศรษฐกิจคนรากหญ้าจะเอาอะไรนำทาง จะทำเพื่อกินอยู่เอง หรือขยายเป็นการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันเอง กำหนดราคากันเอง หรือทำเพื่อกินอยู่เอง จนเป็นทาสนายทุนใหญ่ ที่กำหนดราคาโดยคนกลาง ประเทศไทยตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่ดีมากทั้งลมฟ้าอากาศของลมมรสุมและมีชัยภูมิที่ดีมากขนาบด้วยสองมหาสมุทรใหญ่อยู่กลางภูมิภาคเอเซียอาคเนย์ คนไทยทุกคนทุกระดับชนชั้นไม่เคยปลอดจากการแทรกแซงจากภายนอกประเทศเลย อิทธิพลภายนอกประเทศมากำกับวิถีบทบาทคนไทยมาตลอดอย่างท่วมท้น แม้คนไทยจะสร้างอัตลักษณ์ของตนเองมากเพียงใด ก็หนีไปย้อมตัวจากนอกกลับเข้ามามีบทบาทในไทยเหมือนเดิมแทบทุกวงการ การศึกษาแก่นแท้ที่มาที่ไปในทุกเรื่องทั้งการเมือง การสงคราม การลงทุน การศึกษา การสาธารณสุข การคมนาคม แม้แต่เรื่องขยะ ก็ไปดูงานต่างประทศมาทำทั้งนั้นเอาของนอกมาเปรียบเทียบเพื่อความเหนือกว่าในสิ่งที่คนไทยมีอยู่ รากเหง้าคนไทยใน “พรรคราชการ” หรือ “วงการราชการ” ต่างชิงไหวชิงพริบกับ “พรรคประชาชน” ขอเรียกว่า “คนรากหญ้าในพื้นถิ่น” เป็น “วงการที่นอกราชการ” ฉะนั้น ความคิดเห็นขัดแย้งจากผลประโยชน์ที่สองฝ่ายต่างยึดเหนี่ยวที่ต่างมุมกัน จึงเอาของนอกมาใช้กับคนไทยโดยตรงไม่ได้ ในเรื่องนั้นๆ “นายทุนร่วม” กับ “กลุ่มอำนาจรัฐ” เป็นกลุ่มเอาเปรียบประชาชนมาทุกช่วงสมัยรัฐบาล มิใช่ “นายทุนร่วมประชาชน” ต่อรองอำนาจรัฐแบบญี่ปุ่น ที่ใช้อำนาจต่อรองจากอเมริกาผู้กุมอำนาจญี่ปุ่นในฐานะผู้ชนะสงคราม ฉะนั้น นายทุนกับประชาชนของญี่ปุ่น จึงร่วมมือกันเพื่อความอยู่รอด ต่างจากไทยที่ต่างแข่งขันกันเพื่อต้องการขึ้นสู่ยอดเหมือนนิทานมหาชนก ต่างแข่งขันกันเป็นใหญ่ แข่งขันกันกอบโกย “วงการท้องถิ่น” ลืมให้ความสำคัญกับผู้สร้างฐานเศรษฐกิจที่แท้จริงไป คือ “ประชาชนรากหญ้าในท้องถิ่น” ทั้งแรงงาน ช่างฝีมือ ผู้ชำนาญการด้านอาชีพ ผู้สร้างผลิตภัณฑ์มูลค่าของชุมชน ฯลฯ แถมยังเอาใบปริญญา ความอ่อนทักษะมาปกครองชาวบ้านคนทำงานที่มากทักษะเฉพาะตัวในสถานประกอบการ ส่วนในวงการอื่น เช่น ทหาร ตำรวจ ครู สถานศึกษา สงฆ์ ล้วนยึดถือตาม “วงราชการ” เหมือนกันทั้งสิ้น มีผู้เปรียบว่าคนหัวๆ ที่ครองตำแหน่งสูงๆ ขี้เท่อ ไทยจึงล้าหลัง แถมขาดจริยธรรม ตัณหา ราคะ ละโมบ กอบโกย เพื่อตุนไว้ใช้ในการก้าวหน้าในตำแหน่งสูงๆ ต่อไป ข่าวการซื้อตำแหน่งรัฐมนตรี ตำแหน่งราชการใหญ่ ตำแหน่งบอร์ดต่างๆ ล้วนได้มาด้วยการใช้บันไดทางการเงิน คนหัวๆ ในสังคมไทยแข่งกันขึ้นสู่ยอด แต่ไม่ได้บำรุงรักษาฐานรากของสังคมแต่อย่างใด การตอบแทนกลับคืนสังคมรากหญ้ามีน้อย ส่วนคนรากหญ้า ที่ถือเป็นคน “วงการนอกราชการ” ก็เช่นกัน ยกตัวอย่าง ค่านิยมมีผัวฝรั่ง เพื่ออยากได้บ้านหลังใหญ่ มีรถขับ มีเงินช่วยผ้าป่าโรงเรียนเก่า ฯลฯ ล้วนเลียนแบบเช่น “วงการราชการ” ที่ต้องการทัดเทียม ต้องการหน้าตาหรือการยอมรับ หรือเหนือกว่าคนชั้นเดียวกันในสังคม ก็คือการขึ้นสู่ยอดสูงๆ นั่นเอง เปิดมุมมองวิกฤติของคนท้องถิ่น ลองมาเปิดใจอีกมุมมองหนึ่งในวิกฤติความเป็นความตายของท้องถิ่น ที่คน อปท.ทุกฝ่ายต้องร่วมด้วยช่วยกัน อย่าเฉยเมย ไม่อยากเรียงหัวข้อลำดับความเร่งด่วน เพราะเป็นวิกฤติที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน (1) เศรษฐกิจแย่ เพราะกระตุ้นภาคเอกชนไม่มีเหลือ การลงทุนภาครัฐหดตัว เศรษฐกิจถดถอย GDP ติดลบ 5-8% แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศแล้วว่า ประเทศไทยได้ผ่านพ้นวิกฤติแล้วเริ่มต้นฟื้นตัวในไตรมาสที่ 3 แต่บรรดาผู้รู้สวนว่าไม่น่าเชื่อว่าได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว เพราะยังมีปัญหาหนี้เสีย NPL หนี้เสีย SME เงินกู้จากต่างประเทศที่ยังต้องชำระรออยู่ เป็นปัญหาส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจการท่องเที่ยวที่หายไป ปัญหาการส่งออก ปัญหาบริษัทปิดกิจการ ปัญหาคนว่างงาน ปัญหาเงินฝืด ปัญหาอื่นๆอีก “บลูมเบิร์ก” วิเคราะห์ เศรษฐกิจไทยส่อย่ำแย่ที่สุดในเอเชีย ล่าสุดทูตสหรัฐวิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจไทยจะโดนผลกระทบเป็นเวทีภูมิภาคในการต่อสู้ของมหาอำนาจจีนและสหรัฐอเมริกา ยังคาดไม่ได้ว่าอีกกี่ปีเศรษฐกิจไทยจะเหมือนเดิม (2) วิกฤติแล้งในภาคเกษตรกรรม ส่งผลให้เกษตรกรกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจไทยลำบาก ผลผลิตไม่มี มีแต่ขายไม่ได้ มีปัญหาเรื่องคุณภาพ ต้นทุนสูง เกษตรกรมีหนี้สิน เข้าไม่ถึงระบบสวัสดิการของรัฐ ฯลฯ (3) ภาคการเมืองยังไม่สงบนิ่ง ฝ่ายรัฐบาลต่างแย่งชิงตำแหน่งอำนาจกันเอง ประชาชนเสื่อมศรัทธาที่จะมีผลโดยตรงต่อคะแนนนิยมของฝ่ายกุมอำนาจ (4) รมต. เศรษฐกิจไม่เข้าตานักวิชาการ แม้ชาวบ้านเองก็ยังรู้ เพราะไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น คนรากหญ้า และ คนชั้นกลางลำบาก นักวิจารณ์สังคมว่าไทยมีวิกฤติเศรษฐกิจสูงแล้ว เพราะมีแต่ข่าวเรื่องธุรกิจปิดตัวทั้งๆ ที่ธุรกิจเหล่านี้เคยเจริญรุ่งเรืองมาเกิน 20 ปี เป็นต้น (5) คนท้องถิ่นรวมชาวบ้านและทุกฝ่ายโหยหาเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น แต่ฝ่ายรัฐบาลไม่พร้อมมีข้ออ้างในการเลื่อนมาตลอด แม้จะได้ข้อสรุปค่อนข้างชัดว่า อย่างไรเสียท้องถิ่นก็ต้องมีการเลือกตั้ง แต่ก็ยังไม่กล้าฟันธงว่าจะให้มีการเลือกตั้ง อปท. ประเภทใดก่อน และ จะเริ่มแน่นอนได้ในวันใด (6) นักเรียนนักศึกษา คนรุ่นใหม่หัวก้าวหน้า Gen Z ต้องการประชาธิปไตยเต็มใบ การแก้รัฐธรรมนูญจำเป็น ที่นักการเมืองทุกฝ่ายเห็นพ้องร่วม มาถึงวินาทีนี้ไม่น่าเชื่อว่ามีกระแสจุดประเด็น การตรากฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่ประชาชนทุกฝ่ายที่ขัดแย้งกันมาตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน ที่ขัดแย้งหนักสุดคือช่วงปี 2550 และช่วงปี 2557 ทั้งๆ ที่มีแนวคิดตรากฎหมายนี้มาแล้ว แต่ถูกพับทิ้งไป (7) การท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลักทำเศรษฐกิจพังเป็นโดมิโน เพราะการปิดประเทศจากสถานการณ์โควิด แม้ว่าตอนนี้ มท. ได้ปลดล็อกการสัมมนาอบรมท้องถิ่นได้ ที่จริงรัฐควรหนุนการท่องเที่ยววัฒนธรรมและธรรมชาติท้องถิ่นให้เป็น “วาระแห่งชาติ” เพราะของดีมีอยู่ที่ชุมชนพื้นบ้านมากมาย วัฒนธรรมท้องถิ่นเท่านั้น ที่จะพาชาติให้สงบ มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน แต่รัฐอย่าลืมให้ “ลดการสร้างอภิสิทธิ์ชน” ลงด้วย ยกตัวอย่างจังหวัดอุบลราชธานี มีสิ่งประดิษฐ์พื้นถิ่นเกี่ยวกับวัด เช่น กลองเพล ฆ้อง ระฆัง อาหารประเภทปลา หมู แม้แต่หนังควายแห้งหมักเกลือก็มี เครื่องใช้สอย ไม้กวาด เครื่องจักสาน เครื่องจับปลา เครื่องใช้สอย การสูบน้ำจ่ายตามท่อ ระบบชลประทาน ทุกจังหวัดมีที่เหมือนกัน คือเรื่องอาหาร เครื่องดนตรี เครื่องมือใช้สอยฯ เพราะมันเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น พื้นฐานเหล่านี้ ควรได้รับการพัฒนา ต่อยอดขึ้นไปเรื่อยๆ (8) รัฐบาลสนใจแต่ความมั่นคง มุ่งรักษาสถานภาพตนเองมากกว่าภาพลักษณ์ของประเทศชาติ เพื่อเอาเกียรติประวัติไปอวดชาวโลก แต่กลับไปกดดันชาวบ้านคนรากหญ้าให้ต่ำลง (9) พรก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (เรียกย่อว่า พรก. ฉุกเฉิน) ที่มีเจตนารมณ์เพื่อความมั่นคง เพราะมีทั้งอำนาจการจับกุม คุมขัง ค้นเคหสถาน สิทธิในการเดินทาง แสดงความเห็น และการเสนอข่าว ที่นอกเหนือจากการควบคุมโรคติดต่อที่ร้ายแรง เช่นการคุมโรคติดเชื้อโควิด แต่เหมามารวบรวมกัน เป็นครั้งแรกที่ประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ ปฏิกิริยาของนักศึกษาเกิดไม่ยอมรับ (อารยขัดขืน) พรก.ฉุกเฉิน เพราะถือว่าไม่ยุติธรรมมาแต่ต้น (10) จัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่ได้ เพราะมีการตรากฎหมายให้ลดการจัดเก็บ 90% ท้องถิ่นขาดแคลนงบ แม้งบเลือกตั้งที่กันไว้ตั้งไว้ในตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมาต้องโอนมาใช้จ่ายเพื่อโควิดไปก่อน (11) ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมารัฐบาลส่งเสริมให้ อปท.ใช้เงินสะสมจนไม่มีเหลือ ท้องถิ่นหมด สต๊อกเงินสำรอง หรือ แม้เงินทุนสำรองสะสมอันเป็นความหวังสุดท้ายก็หมดเช่นกัน สุดยากที่จะคาดเดาว่า เหตุใดฝ่ายรัฐบาลที่มีอำนาจรัฐ จึงกลัวเกรงการเลือกตั้งท้องถิ่นมาก ใครทราบช่วยบอกด้วย แต่ที่แน่ๆ ฝ่ายอำนาจรัฐกลัวสูญเสียอำนาจใช่ไหม ที่จริงยังฝอยต่อได้อีกมาก แต่กระดาษหมด