ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต “การมีชีวิตอย่างเปี่ยมปีติ ณ พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งจนเกิดภูมิปัญญาอันยิ่งใหญ่ขึ้นมา ภูมิปัญญาที่สามารถบ่งชี้ได้ว่า หากใครสักคนสามารถค้นพบถึงความรื่นรมย์แห่งการมีชีวิตในนามของความงดงาม ก็เท่ากับว่าเขาได้มีผัสสะที่นับเนื่องเป็นท่วงทำนองผสานเข้ากับความเป็นจักรวาลแล้ว...นั่นแสดงถึงบทบาทแห่งความเป็นมนุษย์ที่ต้องบ่มเพาะความคิดเพื่อก้าวไปสู่ความเชื่อมั่นแห่งจิตวิญญาณของตน...กระทั่งนำไปสู่การนับถือโลกและจักรวาล ที่อยู่เหนืออำนาจแห่งจิตของเราทุกๆคน...นั่นคือกฎเกณฑ์แห่งความเป็นหนึ่งในความเป็นปัจเจกที่เชื่อมโยงออกไปสู่เบื้องนอก...สู่ชีวิตทุกชีวิตด้วยความเป็นมิตรไมตรี...ผ่านระเบียบแห่งการเรียนรู้อันลึกซึ้งของหัวใจ” ภาวการณ์ทางความคิดแห่งเจตจำนงเบื้องต้น คือผลรวมของการรับรู้ที่ได้รับจาก “ปรัชญานิพนธ์แห่งเมธีสันโดษ...จากกระท่อมน้อยริมบึงใสและไพรพฤกษ์” ที่รู้จักกันในนาม ‘วอลเดน’ (Walden) ผลงานเขียนที่เป็นบทบันทึกของ ‘เฮนรี่ เดวิด ธอโร’ (Henry David Thoreau) ที่เริ่มต้นในการเขียนบทแรกเมื่อ 174 ปีที่แล้ว (พ.ศ.2389)...หนังสือเล่มนี้ได้รับการแปลสู่ภาษาไทยด้วยฝีมืออันละเมียดละไมและเต็มไปด้วยภาษาสื่อสารอันวิจิตรตระการของ ‘สุริยฉัตร ชัยมงคล’ ผู้ล่วงลับ...เมื่อ 34 ปีก่อน โดยถูกนำเสนอเป็นแต่ละบทตอนในนิตยสาร “เพื่อนนักอ่าน” ที่มี ‘วิมล ไทรนิ่มนวล’ เป็นบรรณาธิการ (พ.ศ.2529)...ก่อนที่จะถูกนำมารวมเล่มอย่างเป็นทางการครั้งแรก โดยสำนักพิมพ์ ‘คบไฟ’ เมื่อปี พ.ศ.2534 /หนังสือเล่มนี้ได้กลายเป็นปฐมฐานแห่งแรงบันดาลใจของกลุ่มผู้มีใจแสวงหาไปทั่วโลก โดยเฉพาะในโลกร่วมสมัยแห่งชีวิตปัจจุบัน...ที่ความเป็นตัวตนที่แท้อันน่าภาคภูมิใจ...ถูกลบเลือนและกลืนกินจากค่านิยมซึ่งล้างผลาญจิตวิญญาณของชีวิตจนไม่เหลือซากร่างอันบริสุทธิ์งดงามใดๆไว้...ธนกิจนิยม...วัตถุนิยม...และกระแสบริโภคนิยม...ต่างสถาปนาความเป็นใหญ่ บั่นทอนธรรมชาติของมนุษย์จนไม่สามารถดำรงอยู่ในโลกแห่งความหมายที่เป็นความหมายอันลึกล้ำอีกต่อไปได้...แท้จริงนี่คือภาพแสดงถึงการขาดสะบั้นระหว่างรากเหง้าแห่งจิตวิญญาณอันสูงค่าของชีวิตกับวัฒนธรรมสมัยใหม่ใจหยาบที่ดำรงอยู่ได้ด้วยมายาคติอันวกวนที่ปราศจากแก่นแท้แห่งมโนสำนึก ตลอดจนความสูญสิ้นคุณค่าแห่งสัจจะของภูมิปัญญาลงอย่างสิ้นเชิง... “ในดินแดนเถื่อน...ทุกครอบครัวครองที่พำนักแห่งหนึ่งที่ดีพอๆกับบ้านที่ดีที่สุด และเพียงพอที่จะสนองความต้องการหยาบๆเรียบง่ายของตนได้...แต่ฉันคิดว่าตัวเองพูดอย่างมีขอบเขต เมื่อกล่าวว่า...แม้ถึงคณานกในอากาศมีรังนอน, สุนัขจิ้งจอกมีโพรง, คนดงมีกระท่อม แต่สังคมอารยะสมัยใหม่นี้ มีครอบครัวไม่มากกว่าครึ่งหนึ่งที่เป็นเจ้าของที่พักของตัวเอง, ในเมืองใหญ่ๆและมหานคร, ที่ซึ่งครองไว้ด้วยนาครธรรมโดยเฉพาะ, จำนวนของผู้มีที่พักอาศัยของตนเองเป็นสัดส่วนที่เล็กน้อยมาก เมื่อเทียบกับทั้งหมด” ‘ธอโร’ ได้ทดลองใช้ชีวิตอยู่ในป่าริมบึง ‘วอลเดน’ เป็นเวลาสองปี (พ.ศ.2388-2390) โดยการออกเดินทางสำรวจดูภูมิประเทศ ขุนเขา ธารน้ำ พรรณไม้ และสัตว์ป่าใหญ่น้อย...เฝ้าสังเกตดูปรากฏการณ์ของธรรมชาติ และความแปรเปลี่ยนผันเวียนของฤดูกาลต่างๆ โดยได้จดบันทึกไว้อย่างละเอียด ดูเหมือนว่า ‘ธอโร’ จะได้ใช้ปรากฏการณ์ธรรมชาติเป็นสื่อแสดงออกถึงนามธรรมความคิดของเขาด้วย...เพราะเหตุว่าสรรพสิ่งต่างร้อยรัดอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์และความเปลี่ยนแปลงเพียงหนึ่งเดียว “ฉันยินดีที่มีเหล่านกฮูกอยู่ ให้มันส่งเสียงครางที่เขลาและวิปลาสแก่มนุษย์ มันเป็นเสียงที่เหมาะสมอย่างยิ่งต่อหนองบึงและพฤกษ์ไพรสนธยาที่ไร้กลางวัน, ชี้ชวนถึงธรรมชาติอันไพศาลดิบเถื่อนชนิดหนึ่งซึ่งมนุษย์มิได้ตระหนักถึง...มันแสดงถึงสนธยาอันแข็งกระด้างและความคิดที่ไม่น่าพึงใจนานัปการซึ่งทุกคนล้วนมีอยู่...” สิ่งที่ ‘ธอโร’ ได้กระทำ...ตกอยู่ในฐานะของผู้เฝ้าสังเกตธรรมชาติในมิติของความผสมกลมกลืน ซึ่งเชื่อกันว่ามิติดังกล่าวนี้คือกุญแจดอกสำคัญที่สามารถไขเข้าไปสู่ประตูของความสุขแห่งจิตใจ...อันเป็นผลให้ดวงจิตแห่งความเป็นตัวตนมีเอกภาพผูกพันอยู่กับความแนบชิดที่สามารถก่อประโยชน์สุขต่อการเพ่งพินิจใคร่ครวญและมองเห็นความเป็นไปแห่งธรรมชาติด้วยภาพขยายของความงาม... ‘ราล์ฟ วัลโด อีเมอร์สัน’ ผู้มอบพื้นที่ชีวิตอันสำคัญนี้แก่ ‘ธอโร’ ก็ใช้ชีวิตส่วนตัวที่บ้านด้วยการเดินเล่นในป่าใกล้บึง ‘วอลเดน’...อย่างน้อยวันละหนึ่งครั้ง เพื่อเพ่งพิศสายน้ำและทุ่งหญ้าที่ไหวเอนตามกระแสลมจนบังเกิดนัยแห่งการสร้างภราดรภาพกับสิ่งมีชีวิตทุกๆชนิด ความเชื่อมโยงชีวิตกับรากเหง้าของความเป็นธรรมชาติดุจดั่งเป็นพี่น้อง...ทำให้อีเมอร์สันสามารถค้นพบแนวคิดใหม่ๆที่ทรงคุณค่าแก่ชีวิตเสมอ...โดยเฉพาะคุณค่าแห่งการตอบแทน ซึ่งเป็นผลสนองตอบจากธรรมชาตินั้น...สามารถก่อเกิดศรัทธาที่นำชีวิตไปสู่วิถีของความดีงามได้อย่างมีความหมายยิ่งไม่ว่าจะเป็นในนามของ ‘สัจจะ ความดี หรือความงาม’ ก็ตาม บทพิเคราะห์ในเชิงสรุปต่อการใช้ชีวิตของ ‘อีเมอร์สัน’ กับ ‘ธอโร’ จะคล้ายกันตรงส่วนนี้และต่างก็มุ่งเดินสู่เป้าหมายแห่งจิตวิญญาณของเจตจำนงอันเดียวกัน...นั่นคือสถานะของการสดับรับรู้ความหมายที่ผูกพันระหว่างชีวิตกับธรรมชาติว่า...มันคือ... แง่มุมที่แตกต่างของสิ่งเดียวกัน.... “หากคนเราจะสดับฟังคำแนะนำที่แสนแผ่วเบาแต่สม่ำเสมอของภูติประจำตัว, ซึ่งเป็นความจริงอย่างแน่แท้, เขาจะไม่เห็นว่ามันจะชักนำเขาไปสู่ความสุดโต่ง หรือแม้แต่วิปลาสอันใดเลย กระนั้นในวิถีทางนั้น...ขณะที่เขามั่นคงขึ้นและสัตย์ซื่อขึ้น...นั่นเองที่หนทางของเขาดำรงอยู่..”. ‘เฮนรี่ เดวิด ธอโร’ เป็นทายาทชายคนสุดท้ายผู้สืบเชื้อสายมาจากบรรพชนชาวฝรั่งเศส ซึ่งอพยพมาจากเกาะเกอร์นซี มาสู่แผ่นดินอเมริกา...ซึ่งตามบุคลิกภาพที่ปรากฏของเขายังเผยให้เห็นถึงร่องรอยเชื้อสายดังกล่าวผสานอยู่กับอัจฉริยภาพอันแรงกล้าของเผ่าพันธุ์แซกซัน เขาถือกำเนิดขึ้นในเมืองคองคอร์ด มลรัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2360...สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเมื่อปี พ.ศ.2380...การเรียนของเขาไม่ได้มีความเด่นล้ำทางด้านวิชาการแต่อย่างใด...ด้วยเหตุที่ ‘ธอโร’ ปฏิเสธวรรณคดีตามแบบแผน เขาจึงไม่สู้เห็นคุณค่าของการศึกษาในมหาวิทยาลัย ในทางตรงข้าม...เขากลับตัดสินใจเลือกเอาการเดินเป็นกิจกรรมหลักของชีวิต พร้อมๆกับทำการสังเกตและศึกษาในรายละเอียดต่างๆของธรรมชาติไปด้วย...โดยทำความรู้จักคุ้นเคยกับสิ่งใหม่ๆในธรรมชาติเพิ่มมากยิ่งขึ้นทุกวัน แต่ไม่เคยอ้างตนว่าเป็นนักพฤกษศาสตร์หรือนักสัตวศาสตร์...การที่เขามุ่งสนใจในปรากฏการณ์ธรรมชาติเป็นอย่างยิ่งนี้...จึงเป็นเหตุให้เขาไม่ให้ความสนใจในศาสตร์ที่เป็นวิชาการสักเท่าใดนัก เพื่อการรำลึกถึง ‘ราล์ฟ วัลโอ อีเมอร์สัน’ ได้เขียนถึงความเป็น ‘ธอโร’ ว่า... “เขาเลือกที่จะร่ำรวยโดยการลดทอนตนเองให้เหลือน้อยและพยายามหามาจุนเจือด้วยลำแข้งของตน...มีบางสิ่งบางอย่างอันเป็นลักษณะวินัยเหล็กของนักรบอยู่ในตัว ‘ธอโร’...นั่นคือ ความเข้มแข็ง...ยืนหยัดและทรงพลัง...ทว่ายากนักที่จะอ่อนโยน...แม้แต่กับตัวเอง...เขาปรารถนาที่จะกระชากหน้ากากของความลวง และลงทัณฑ์ในสิ่งที่ผิดจนอาจกล่าวได้ว่า...เขาคงจะรู้สึกมีชัยอยู่ลึกๆถ้าหากว่าได้มีกลองมารัวตีปลุกพลังอำนาจของเขาขึ้นมาจนเต็มขีดขั้น” เหตุนี้จึงไม่แปลกอันใด...ที่ ‘ธอโร’ จะถูกวิเคราะห์ว่าเป็นนักอุดมคติ...ผู้ต่อสู้ให้มีการเลิกทาส ให้เลิกเก็บภาษี และอาจถึงขั้นให้เลิกมีรัฐบาลด้วย...อุดมคติของ ‘ธอโร’...ทำให้เขาต้องถูกต่อต้านและไม่เป็นที่สบอารมณ์ของบรรดาพรรคการเมืองทุกพรรคทุกกลุ่ม ณ ขณะนั้น รวมทั้งกระบวนการของนักปฏิรูปชนชั้นทุกชนชั้นอีกด้วย... “ไม่มีชาวอเมริกันผู้ใดแท้จริงยิ่งไปกว่า ‘ธอโร’ เขารักผืนแผ่นดินเกิดอย่างลึกซึ้ง ทั้งความเป็นปฏิปักษ์ต่อบุคลิกท่าทีและรสนิยมแบบอังกฤษและยุโรปก็เกือบจะถึงขั้นเหยียดหยามเลยทีเดียว...เขามักจะสดับตรับฟังข่าวคราวหรือถ้อยคำเก๋ๆที่ทิ้งคราบมาจากสังคมผู้ดีในลอนดอนด้วยความรู้สึกหงุดหงิด และถึงแม้จะพยายามรักษามารยาทอย่างเต็มที่ แต่เหตุการณ์ทำนองนี้ก็ทำให้รู้สึกเหน็ดเหนื่อยไม่น้อย ผู้คนในสังคมมักจะชอบเลียนแบบกัน และเลียนแบบจากแบบฉบับอันไร้สาระเสียด้วย...เหตุใดมนุษย์จึงไม่อาจอยู่ให้ห่างไกลกันที่สุด เพื่อว่าแต่ละคนจะได้เป็นคนโดยสมบูรณ์...สิ่งที่ ‘ธอโร’ เพียรแสวงหาอยู่ตลอดเวลาจึงเป็น...ธรรมชาติที่เปี่ยมไปด้วยพลัง” “วอลเดน...เป็นผลงานแห่งประสบการณ์ของชีวิตที่พูดถึงการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายแนบชิดกับธรรมชาติ กลับไปหาคุณค่าดั้งเดิมของหยาดเหงื่อและการใช้แรงงาน กลับไปดูไปฟังและเรียนรู้จากครูคนแรกซึ่งยิ่งใหญ่ที่สุด ไปคบหาสัจจะอันลี้ลับจากธาตุมูลของธรรมชาติ จากแดด จากลม จากฝน จากธารน้ำ ต้นไม้ ใบหญ้า จากป่า ขุนเขา สัตว์ และหนอนแมลง...จากน้ำค้าง พายุหิมะ เมฆหมอก และฤดูกาล ... คือการเรียนรู้ถึงกฎเกณฑ์ความเป็นไปแห่งปรัชญาธรรมชาติ ซึ่งก็คือเนื้อแท้แห่งสารัตถสัจจะในชีวิตมนุษย์ด้วย เพื่อมองให้เห็นถึงสิ่งจริงแท้และเท็จเทียมซึ่งดำรงอยู่ในชีวิตและสังคมมนุษย์ไปพร้อมๆกัน” สำหรับผม...ณ วันนี้ผมมองเห็นว่า ‘วอลเดน’ คือบทสะท้อนอันจำเป็นของความเป็นมนุษย์ยุคใหม่ ที่จะต้องไขว่คว้าหาความหมายอันมั่นคงให้แก่ตัวเอง...บนทางเลือกที่เต็มไปด้วยขวากหนามของอวิชชาที่พร่ามัว และทบซ้อน...ภายใต้เงื่อนไขของมายาจริตที่กลับกลายเป็นสัญญะแห่งการชี้นำสังคมให้ถอยห่างและตั้งตนเป็นศัตรูกับธรรมชาติด้วยหัวใจที่เดือดพล่านไปด้วยโลภจริตและโมหจริต ที่สามารถเคลื่อนย้ายความดีงามและความเป็นอัตลักษณ์อันบริสุทธิ์และมีคุณค่าให้ออกไปจากเบ้าหลอมของสัจธรรมที่เป็นเนื้อแท้ของความเป็นชีวิตได้...ทุกสิ่งดำเนินไปท่ามกลางวิกฤติแห่งวิกฤติของภาวการณ์ที่ไร้ระเบียบ...ปลอดพ้นจากการมีชีวิตอยู่อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งพร้อมจะจมดิ่งลงสู่ห้วงเหวแห่งความแตกดับ...โดยปราศจากเครื่องช่วยชีวิตจากสำนึกอันดีงามเพื่อค้ำยันจิตวิญญาณที่สูงส่งของความเป็นมนุษย์และธรรมชาติอันยิ่งใหญ่เอาไว้ ‘เฮนรี่ เดวิด ธอโร’...เสียชีวิตไปเมื่อปี พ.ศ.2405 ขณะที่มีอายุเพียง 45 ปีด้วยวัณโรค...แต่ผลงาน ‘วอลเดน’ ของเขากลับดำรงอยู่อย่างลึกซึ้ง ในจิตวิญญาณของผู้อ่านทุกผู้ทุกนาม...ตลอดมา...ยิ่งวันเวลาของชีวิตได้สร้างความตีบตันให้แก่การอยู่รอด...คุณค่าของชีวิตถูกย่ำยีตัวตนและศักดิ์ศรีจากหัวใจที่หยาบกระด้าง...หนังสือเล่มนี้จึงนับเป็นประโยชน์สุขในทางภูมิปัญญาที่สามารถยับยั้งความเสื่อมสลายของจิตใจให้ดำรงอยู่ได้...อย่างเข้าใจและรู้เท่าทันมิติแห่งชีวิตอันบอดใบ้ดังกล่าวนั้น...โดยแท้จริง...! “ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังเขียนงานเหล่านี้อยู่...ข้าพเจ้าใช้ชีวิตอยู่เพียงลำพังในป่าใหญ่...ห่างไกลจากเพื่อนบ้านข้างเคียงอาศัยอยู่ในกระท่อมซึ่งข้าพเจ้าสร้างขึ้นเองริมบึงวอลเดนและหาเลี้ยงชีวิตด้วยการใช้แรงงานเท่านั้น...ชีวิตในตัวเราก็เหมือนกับน้ำในแม่น้ำ หากมนุษย์เราจะรู้จักรับเอากระแสน้ำนั้นเก็บกักไว้ในจิตใจ...เราจะตื่นขึ้นก็ต่อเมื่อทิวานั้นไขแสง...และยังมีทิวาที่จะไขแสงขึ้นมาอีก...เพราะว่าดวงตะวันเป็นแค่เพียงดาวประกายพรึก”