ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย วันนี้จะขอนำเสนอเรื่องราวที่น่าตื่นเต้น และน่ายินดีหากเธอ ลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ จะได้รับการเสนอชื่อจากพรรคเดโมแครตให้ลงแข่งขันคู่กับโจ ไบเดน ตัวแทนชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากทรัมป์ หากโจ ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี แทมมีก็จะได้เป็นรองประธานาธิบดีโดยอัตโนมัติ และหากโจไบเดนมีปัญหาใดๆที่ไม่อาจจะเป็นประธานาธิบดีได้ โดยเฉพาะมีอายุมากแล้ว แทมมีก็จะได้เป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของสหรัฐอเมริกาทันที มาติดตามประวัติโดยย่อของพันโทหญิงลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ (Ladda Tammy Duckworth) นักการเมืองชาวอเมริกันเชื้อสายไทย สมาชิกวุฒิสภาแห่งสหรัฐฯจากรัฐอิลลินอยส์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 8 รัฐอิลลินอยส์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงกิจการทหารผ่านศึกของสหรัฐฯ สมัยประธานาธิบดีบารัก โอบามา ที่สำคัญเธอเป็นทหารผ่านศึกที่สูญเสียขาทั้ง 2 ข้าง ในสงครามที่สหรัฐฯรุกรานอิรัก โดยเธอเป็นนักบินเฮลิคอปเตอร์ที่ถูกยิงโดยจรวด ทำให้ขาขาดทั้ง 2 ข้าง แต่เธอมีสติที่ดี และเป็นห่วงเพื่อนที่ร่วมไปในเครื่องเดียวกัน จึงพยายามนำเครื่องลงจอดอย่างปลอดภัย และหมดสติไปทันทีเพราะเสียเลือดมาก ต่อมาเธอก็ได้รับการรักษาพยาบาลโดยทีมแพทย์ที่ต่อขาไททาเนียมให้เธอที่ขาข้างหนึ่งที่ขาดต่ำกว่าเข่า ส่วนอีกข้างแหลกละเอียดไม่สามารถทำอะไรได้ ส่วนแขนข้างขวาก็ได้เอาเนื้อที่ชายโครงมาปะไว้ เพราะมันเหวอะหวะ จนพอใช้งานได้แม้ไม่ปกติก็ตาม เธอได้รับเหรียญกล้าหาญสูงสุดหัวใจม่วง ด้วยวีรกรรมที่ได้พยายามช่วยชีวิตเพื่อนทหารที่ร่วมบินด้วยกัน แทมมีไม่ประสบความสำเร็จในการลงเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรเขต 8 ของรัฐอิลลินอยส์ ในครั้งแรก แต่เมื่อได้พยายามอีกครั้งภายหลังจากที่ได้รับโอกาสจากโอบามาให้ไปช่วยงานด้านทหารผ่านศึก เธอก็แน่นพอที่จะได้รับความไว้วางใจทางประชาชนในเขต 8 จนได้เป็น ส.ส. 2 สมัย และเมื่อได้จังหวะเธอก็สมัครเป็นวุฒิสมาชิกของรัฐอิลลินอยส์ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างงดงาม แทมมีเป็นส.ว.หญิงคนแรกที่ตั้งครรภ์ในระหว่างดำรงตำแหน่ง และภายหลังคลอดได้นำบุตรเข้าไปให้นมในที่ประชุมวุฒิสภา นอกจากนี้เธอยังเป็น ส.ว.หญิงคนแรกเชื้อสายไทย ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีอเมริกันเชื้อสายม้งชื่อ มูมีอ้า เคยได้รับเลือกเป็นวุฒิสมาชิกของรัฐมินนิโซตา แต่เป็นเพียงส.ว.ของรัฐเท่านั้น ครั้งนี้จึงนับเป็นเกียรติประวัติและความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งชาติ แต่ความแรงของเธอไม่ได้หยุดอยู่เพียงเท่านั้น เนื่องจากเธอได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้น จากหลายฝ่ายที่จะให้เป็นตัวแทนของพรรคเดโมแครต ในการลงสมัครคู่กับโจ ไบเดน ที่จะลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีกับโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งพรรครีพับลิกัน Joe Cotchett เพื่อนชี้ของโจ ไบเดน ซึ่งเป็นหัวคะแนนสำคัญในฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ อันรวมถึงรัฐสำคัญ คือ แคลิฟอร์เนีย ได้ให้สัมภาษณ์ว่าเขาได้พยายามชี้ชวนให้ไบเดนหันมาให้ความสนใจแทมมี ปัจจัยในทางบวกของแทมมีมีหลายอย่างที่จะได้รับการพิจารณา ประการแรกประวัติในการรับราชการทหารจนได้รับเหรียญกล้าหาญสูงสุด ประการที่ 2 เธอเป็นผู้หญิงที่มีความกล้าหาญและเป็นผู้นำที่น่าจับตา จนมีคนเปรียบเทียบเธอกับฮิลลารี คลินตัน ประการที่ 3 เธอเป็นตัวแทนของคนพิการและทหารผ่านศึกที่จะได้รับความเห็นใจและสนับสนุน ประการที่ 4 มีผู้สนับสนุนทางการเงินที่เป็นกอบเป็นกำดูได้จากคราวที่เธอลงสมัครเป็นวุฒิสมาชิก ประการที่ 5 เธอดังเป็นพลุแตกเมื่อลุกขึ้นมาตอบโต้ Tucker Carlson ที่โจมตีเธอ เมื่อเธอได้ปราศรัยสนับสนุนไม่เห็นด้วยกับการแบ่งแยกสีผิว โดย Fox News ได้ด่าเธอว่า “เป็นคนขี้ขลาดและฉ้อฉล” และ “เกลียดอเมริกา” อย่างไรก็ตามเธอก็มีข้อด้อยที่โจ ไบเดน จะต้องพิจารณาประกอบกับรายชื่อคนที่จะสมัครคู่กับเขาอื่นๆดังนี้ ประการแรก ไบเดน ได้รับแรงกดดันที่อาจต้องเลือกอเมริกันแอฟริกัน เพราะเขาได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากคนกลุ่มนี้ในการคัดเลือกเบื้องต้นของพรรค (Primary) ซึ่งนำความแปลกใจอย่างยิ่งต่อวงการ เพราะคาดว่าคนผิวสีจะทุ่มคะแนนให้เบอร์นี แซนเดอร์ส ผู้นำกลุ่มหัวก้าวหน้า ประการที่สอง คือเรื่องคุณสมบัติของแทมมี ว่าจะขัดกับรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯหรือไม่ เพราะเธอเกิดในกรุงเทพฯ ประเทศไทย เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2511 ปัจจุบันอายุ 52 ปี คู่สมรส ไบรอัน โบล์สบีย์ เธอเป็นบุตรของทหารอเมริกัน ซึ่งสืบสายมาจากพวกกู้ชาติ ซึ่งเดินทางมาทำงานที่กทม.และพบกับคุณแม่ซึ่งเป็นคนไทย แต่รัฐธรรมนูญสหรัฐฯระบุว่า คนที่จะเป็นประธานาธิบดีได้ต้องเกิดมาโดยถือสัญชาติอเมริกัน ตรงนี้จึงมีความคลุมเครือว่าคุณแม่ของเธอได้โอนสัญชาติก่อนเธอเกิดหรือไม่ ถ้าไม่ก็อาจมีข้อกฎหมายที่ต้องตีความ และจะถูกโจมตีจากคู่แข่ง ซึ่งบารักโอบามาเคยถูกโจมตีมาแล้วว่าเขาเกิดที่อินโดนีเซีย และคุณพ่อไม่ใช่อเมริกัน ต่อเมื่อโอบามาแสดงใบเกิดที่รัฐฮาวายการโจมตีก็ยุติลง ประการที่ 3 แทมมี ไปกล่าวโจมตีอดีตประธานาธิบดี 4 ท่านที่ถือว่าเป็นบิดาแห่งประเทศ คือ จอร์จ วอชิงตัน โทมัส เจฟเฟอร์สัน อับราฮัม ลินคอล์น และ ทีโอดอร์ รูสเวลท์ แม้ไม่เอ่ยชื่อแต่เธอเรียกว่าเป็นผู้ทรยศ นั่นคือ 3 ท่านแรกมีทาสผิวดำ ส่วนคนที่ 4 นั้น สนับสนุนการเหยียดผิว เหตุที่พาดพิงเพราะทรัมป์จะไปฉลองวันชาติสหรัฐฯที่เมาท์รัชมอร์ อันมีอนุสาวรีย์ของอดีตประธานาธิบดีสถิตอยู่ ซึ่งรูปปั้นนี้แกะสลักโดยผู้สนับสนุนคลูคลักซ์แคลน ขบวนการผิวขาวที่เข่นฆ่าคนผิวดำ เท่านั้นไม่พอเมาท์รัชมอร์เป็นเขตที่อยู่ของชาวอินเดียนพื้นเมืองลาโกตา อันเป็นส่วนหนึ่งของชนเผ่าซู ซึ่งได้ทำสัญญากับรัฐบาลผิวขาวที่ Fort Laramie 1851 ให้เป็นดินแดนของอินเดียน และต่อมารัฐบาลผิวขาวก็เบี้ยว เขตนี้ถือเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่เรียกว่า Black Hill ของอินเดียน แต่แทมมีก็แก้ว่าเธอพูดในหลักการและไม่เคยสนับสนุนให้รื้ออนุสาวรีย์ แต่คำพูดหนึ่งของเธอที่ทำให้ดังระเบิด ในการตอบโต้คาร์สสัน คือ “ลองมาเดินสักไมล์บนขาของฉันดูซิ” อีกคำพูดที่ลงในนิวยอร์กไทม์ คือ “การโจมตีด้วยอัตตา ขาดความมั่นคงในจิตใจของผู้ชาย(บางคน)ที่ไม่อาจแยกแยะได้ระหว่างความรักชาติที่แท้จริง กับความเกลียดของพวกชาตินิยม ไม่อาจจะลบล้างความรักของฉันที่มีต่อประเทศนี้ได้” อีกไม่ถึงเดือนเราก็คงได้รับทราบกันแล้วว่า โจ ไบเดน จะเลือกใครเป็นผู้ร่วมแข่งขันชิงประธานาธิบดี แต่ผู้เขียนเอาใจช่วยแทมมีอย่างเต็มที่ครับ เพราะเราแยกได้ระหว่างความรักชาติกับความคลั่งชาติ