นายแบรด ไฮนส์ รองประธานกรรมการบริษัท SiteMinder ประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค กล่าวถึง รายงานเกี่ยวกับการท่องเที่ยวฉบับล่าสุด ซึ่งจัดทำขึ้นโดย SiteMinder แพลตฟอร์มตัวกลางที่เข้าถึงลูกค้าให้กับธุรกิจโรงแรม ได้ระบุว่า ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมในประเทศไทยต้องปรับกลยุทธ์ทั้งในด้านการตลาด การขาย และการดำเนินการเพื่อรองรับการท่องเที่ยวภายในประเทศที่กำลังจะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่ง Changing Traveller Report ฉบับล่าสุดมีผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 600 คน ชี้ให้เห็นว่า คนไทยเกือบ 2 ใน 3 ที่ตอบแบบสอบถามกำลังวางแผนที่จะเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ โดยเกือบ 10% ของจำนวนดังกล่าวมีการจองห้องพักเป็นที่เรียบร้อย นอกจากนี้ยังพบว่ากว่า 74% ของผู้ตอบแบบสอบถามวางแผนที่จะท่องเที่ยวภายในสิ้นปี และกว่า 42% ในจำนวนนี้ วางแผนที่จะท่องเที่ยวในช่วง 3 เดือนข้างหน้า โดย นายแบรด กล่าวว่า ผลจากรายงานสอดคล้องกับการประกาศของรัฐบาลในการออกแพคเกจท่องเที่ยวด้วยงบกว่า 22,400 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและบรรเทาผลกระทบที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศไทยได้รับจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงทิศทางธุรกิจในอนาคตที่ดีขึ้นสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมในประเทศ และจากรายงานยังแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นที่ผู้ประกอบการจะต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการทำธุรกิจเพื่อรองรับการท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้น “จากเดิมนักท่องเที่ยวส่วนมากที่เข้าพักโรงแรมในประเทศไทยจะเป็นนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ แต่ในเวลานี้ ผู้ประกอบการจะต้องไม่ลืมที่จะวางกลยุทธ์และดำเนินงานเพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าคนไทยในประเทศ เพราะผลสำรวจระบุถึงนักท่องเที่ยวในประเทศที่กำลังวางแผนท่องเที่ยว ในขณะที่การเดินทางเข้าออกระหว่างประเทศยังคงถูกระงับ “นายแบรด กล่าว ทั้งนี้ นายแบรด กล่าวว่า แม้เทรนด์การจับคู่ท่องเที่ยวระหว่างประเทศหรือที่รู้จักกันในชื่อ travel bubble มีแนวโน้มที่จะช่วยเพิ่มจำนวนการจองห้องพักของนักท่องเที่ยวที่มาจากต่างประเทศในช่วงสองถึงสามเดือนข้างหน้าให้กับธุรกิจโรงแรม ถึงกระนั้นนักท่องเที่ยวชาวไทยก็เป็นกลุ่มลูกค้าที่ไม่ควรมองข้ามเนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีผลสำคัญต่อการฟื้นตัวของธุรกิจหลังการแพร่ระบาดในครั้งนี้ โดยผลการศึกษาระบุถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยมีผลต่อการตัดสินใจของนักท่องเที่ยวคนไทยอย่างมาก อีกทั้งผลการสำรวจยังพบว่า หลังสถานการณ์โควิด-19 นักท่องเที่ยวไทยกว่า 47% ใช้เวลาในช่วงวันหยุดสั้นลง และเหลือเพียง 11% เท่านั้นที่จะใช้เวลาท่องเที่ยวนานขึ้น ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับนักท่องเที่ยวคือการส่งเสริมเรื่องสุขภาพและมาตรการความปลอดภัย โดยจำนวนมากกว่าครึ่งหรือ 52% เห็นว่าปัจจัยสำคัญที่สุดในการจองที่พัก คือ มาตรการด้านความปลอดภัยและสุขภาพ ปัจจัยรองลงมาคือนโยบายการยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงการจองห้องพักโดยไม่เสียค่าธรรมเนียม( 21%) ขณะที่เกือบ 3 ใน 5 ของทริปเดินทางท่องเที่ยว จะถูกวางแผนภายในเดือนเดียวกับที่คนออกเดินทาง