หวั่นประชาชนแบกรับภาระเพิ่ม เหตุไฟฟ้าสำรองล้น 50% แต่กฟผ.ยังเดินหน้าตามแผนเดิม-เขื่อนแม่น้ำโขงยังเป็นเป้าหมาย เมื่อวันที่ 14 ก.ค.63 เครือข่ายประชาชนจับตาการลงทุนในเขื่อนลาว ได้จัดวงพูดคุยในหัวข้อ “เขื่อนลาว ไฟฟ้าไทยและบทบาทในภูมิภาคของ กฟผ.”โดยมีนายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ ผู้อำนวยการเครือข่ายพลังงานและนิเวศวิทยาในภูมิภาคแม่น้ำโขง มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ เป็นวิทยากร โดยนายวิฑูรย์กล่าวว่า มักมีคำถามอยู่เสมอว่าเราจะเอาไฟฟ้ามาจากไหน แต่ปัจจุบันคำตอบเปลี่ยนแปลงไปมากเพราะไฟฟ้ามีแหล่งที่มาได้มากมาย แต่ผู้วางแผนด้านไฟฟ้ายังมีคำตอบเดิมๆที่ไม่เคยเปลี่ยน ยังท่องแต่คำว่าสร้างเขื่อนและโรงงานถ่านหิน ทำอย่างไรเราถึงจะตอบคำถามเดิมด้วยคำตอบใหม่ๆ นายวิฑูรย์กล่าวว่า กำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ณ เดือนเมษายน 2563 ในระบบไฟฟ้าไทยมีกำลัง 50,306 เมกะวัตต์ โดย 32% เป็นของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ความต้องการสูงสุด เมื่อ 13 มีนาคม 2563 เวลา 14.00 น.อยูที่ 30,342 เมกะวัตต์ ทำให้มีไฟฟ้าเหลือหรือมีไฟฟ้าสำรองจำนวน 19,964เมกะวัตต์ คิดเป็น 65.79 % ซึ่งเราไม่เคยมีไฟฟ้าสำรองสูงเท่านี้มาก่อน ทั้ง ๆ ที่เราต้องการเพียงแค่ 15% ของไฟฟ้าสำรองสูงสุด แต่ตอนนี้เรามี 65% คือเกินความต้องการไปมาก และตรงนี้ได้ก่อให้เกิดผลกระทบด้านทรัพยากรและชุมชน ขณะที่ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดไม่แน่นอนและมีแนวโน้มขึ้นๆเลงๆเนื่องจากปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ เช่น โควิด แต่ กฟผ.ยังมีแผนสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตลอดโดยไม่มีความยืดหยุ่น กลายเป็นภาระด้านเศรษฐกิจและเกิดผลกระทบต่าง ๆ ผู้อำนวยการเครือข่ายพลังงานฯกล่าวว่า ขณะนี้มีแหล่งผลิตไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆเกิดขึ้นมากมาย หลายเขตอุตสาหกรรรมใช้ไฟฟ้าจากพลังงานความร้อนร่วมหรือ Co-generation บางโรงแรม-โรงพยาบาลมีการติดตั้งและใช้พลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาเซลล์ โดยไม่ซื้อไฟจาก กฟผ.เพราะราคาถูกกว่า ซึ่งวิธีการเหล่านี้เป็นระบบ ผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ(Independent Producer System) พบว่า มีความเติบโตขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะในเขตอุตสาหกรรม เช่นเดียวกับตามบ้านเรือนที่อยู่อาศัยมีการติดตั้งโซล่าเซลล์เพิ่มมากขึ้น ทำให้การใช้ไฟฟ้าจากระบบของ 3 การไฟฟ้าน้อยลง ผู้ผลิตไฟ้ฟ้าใช้เองใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยโดยไม่ต้องผ่านสายส่ง และไม่ต้องลงทุนและกังวลด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันพบว่า ราคาของไฟฟ้าหมุนเวียนราคาต่ำลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ เช่น ที่กัมพูชาผลิตไฟฟ้าจากโซลาเซล์ มีต้นทุนแค่ 2 บาท/หน่วย แต่ถ้าใช้ถ่านหินหรือแกส จะมีต้นทุนสูงกว่า 2 บาท บางแห่งสูงถึง 3 บาท ทำให้ระบบผูกขาดโดยกฟผ.เริ่มสั่นคลอน ดังนั้นถ้ากฟผ.ยังผลิตไฟฟ้ามากขึ้น และมีปริมาณไฟฟ้าสำรองมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วจะอยู่อย่างไร เป็นสิ่งที่ท้าทายกฟผ. แต่เนื่องจากทุนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตไฟฟ้า ไม่ใช่แค่เรื่องไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น ธนาคาร การก่อสร้าง ซึ่งทุนเหล่านี้ยังไม่รู้สึกอ่อนไหวกับเรื่องเหล่านี้จึงยังคงเดินหน้าสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าแบบเดิมไปเรื่อย ๆ แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี)จึงยังเหมือนเดิม “ตอนนี้เกิดความปั่นป่วนขึ้นในระบบไฟฟ้า กฟผ.เป็นผู้เล่นรายใหญ่และมีส่วนได้เสียมากที่สุด จะมองอนาคตอย่างไร ในการทำแผนพีดีพี กระทรวงพลังงานบอกให้ปรับแผน เพราะมีพลังงานหมุนเวียน การผลิตไฟฟ้าใช้เองมากขึ้น จึงต้องทำพีดีพี 2018 ซึ่งใช้ต่อไปอีก 20 ปีโดยแผนนี้จะมีการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 5.6 หมื่นเมกะวัตต์ คือสร้างมากกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบันโดยปลดโรงไฟฟ้าเก่า แม้จะยังใช้ได้อยู่แต่เขาอยากสร้างใหม่ ในพีดีพีนี้ระบุว่ามาจากพลังงานหมุนเวียนกว่า 2 หมื่นเมกะวัตต์แต่เมื่อดูรายละเอียด กลายเป็นว่าเอาไฟฟ้าจากเขื่อนไปเป็นพลังงานหมุนเวียนด้วย พลังงานที่อนุรักษ์จริงๆมีแค่ 8,000 เมกะวัตต์ โดย 5,000 เมกะวัตต์ เป็นไฟฟ้าที่มาจากแม่น้ำโขง เขาปฎิเสธไม่ได้เพราะ กฟผ.ไปเซ็นสัญญาไว้แล้ว และไปตกลงให้เขาสร้างเรื่อยๆโดยไม่ได้สนใจว่าไฟฟ้ามีสำรองมากแค่ไหน เราต้องจ่ายเงินในเรื่องที่ไม่จำเป็น เขาต้องเดินเครื่องที่เขื่อนไซยะบุรีเพราะสัญญาไว้แล้ว”นายวิฑูรย์ กล่าว นายวิฑูรย์กล่าวว่า ในแผนพีดีพี 2018 ทุกๆ 5 ปีจะมีการนำเข้าไฟฟ้าจำนวน 700 เมกะวัตต์มาจากลาว และในแผนยังระบุไว้ว่า จะมีการปลดโรงไฟฟ้าในสัญญาเก่า เช่น เขื่อนน้ำเทิน 2 จะถูกปลด ในปี 2035 ทั้ง ๆ ที่เมื่อตอนเริ่มต้นบอกว่าเขื่อนแห่งนี้จะอยู่อีก 100 ปี จึงเกิดคำถามว่าแทนที่เราจะบริหารโรงไฟฟ้าที่มีอยู่แล้วให้ใช้ได้นานที่สุด ทำไมไม่ทำ แต่กลับไปสร้างแห่งใหม่ เชื่อว่าเพราะเขาคิดว่าการใช้ของเดิมจะไม่เกิดการลงทุนใหม่ ทำให้คำตอบที่มีต่อสังคมก็ยังเป็นแบบเก่าเมื่อ 40 ปีที่แล้ว “ในแผนพีดีพีบอกว่าพลังงานหมุนเวียนที่จะเข้ามากว่า 8,000 เมกะวัตต์ อีก 10 ปีถึงจะเข้ามา เหมือนตัวเลขหลอกๆ เพราะเอาพลังงานหมุนเวียนอนุรักษ์ไปไว้ 10 ปีหลัง และคงต้องปรับแผนไปเรื่อยๆ แทนที่จะทำได้เลย ที่เราบอกอย่าสร้างเขื่อนในลาว เช่น เขื่อนไซยะบุรีที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 1,200 เมกะวัตต์ ซึ่งน้อยกว่าพลังงานหมุนเวียนอนุรักษ์ แต่เขาก็สร้าง ถามว่าเขาโง่ขนาดนั้นหรือ เขาตอบคำถามเหมือน 20-30 ปีที่แล้ว เขากำลังหาทางออกโดยกฟผ.หรือรัฐบาลไทย พยายามบอกว่าเมื่อลาวมีเขื่อนใหม่ๆเป็นแบตเตอรี่แห่งเอเชีย ประเทศไทยก็จะเป็นฮับแห่งเอเชียส่งขายไฟฟ้าไปประเทศต่างๆ”นายวิฑูรย์ กล่าว นายวิฑูรย์กล่าวว่า ธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือเอดีบี ได้พยายามสร้างสายส่งไฟฟ้าเชื่อมโยงทุกประเทศในอาเซียนหรือที่เรียกว่าอาเซียนพาวเวอร์กริด (ASEAN Power Grid)คือต่อสายส่งเข้าถึงทุกประเทศในอาเซียน โดยกฟผ.หวังเป็นตัวกลางใหญ่ขายไฟฟ้ากลายเป็นธุรกิจหาประโยชน์จากการหาไฟฟ้าที่มีอยู่ขาย คาดว่าผู้รับซื้อไฟฟ้ารายใหญ่จะเป็นสิงคโปร์ การที่ กฟผ.จะผันตัวเองไปเป็นพ่อค้าคนกลาง แต่ขาที่กฟผ.ยืนอยู่คือระบบผูกขาดในประเทศไทยโดยมีฐานเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าในประเทศไทย ถ้ากฟผ.มีกำไร ก็ลดราคาให้ผู้ใช้ไฟฟ้า แต่ถ้าเกิดขาดทุนและไม่มีใครซื้อไฟฟ้า ก็จะกลายเป็นภาระให้ประชาชนไทย ถือว่าเป็นความเสี่ยงเพิ่มขึ้น แต่เป็นคำตอบใหม่ที่กฟผ.พยายามอธิบาย