ปัจจุบัน ทารกแรกเกิดของไทย 1 ใน 1,000 คน จะมีความผิดปกติของเท้าโดยมีลักษณะงอเข้าด้านในแต่กำเนิด ซึ่งเรียกว่า โรคเท้าปุก
เท้าปุก เป็นภาวะที่เท้าผิดรูปลักษณะโก่งและบิดงอเข้าด้านใน ดูแล้วคล้ายหัวไม้กอล์ฟ โดยเป็นภาวะเท้าผิดรูปที่พบบ่อยที่สุด
การรักษาส่วนใหญ่ได้ผลดีมากกว่า 80-90% โดยรักษาแบบ Ponseti ซึ่งปัจจุบันทั่วโลกใช้เป็นมาตรฐาน
กองออร์โธปิดิคส์ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า ระบุ การรักษาแบบ Ponseti ประกอบด้วย 4 ขั้นตอนคือ
1.ดัดเท้าและคงรูป การดัดได้ด้วยเฝือกประมาณ 6 ครั้ง ครั้งละ 1 สัปดาห์
2.เมื่อเท้าส่วนกลางและหน้าได้รับการแก้ไขแล้ว จากดัดแล้วจึงตัดยืดเส้นเอ็นร้อยหวายและใส่เฝือกไว้ 3 สัปดาห์
3.การคงรูปเท้าให้ได้รูปทรงด้วยการใส่รองเท้าพิเศษ
4.เมื่ออายุได้ประมาณ 3 ขวบ มีคนไข้ประมาณ 80% ต้องมาย้ายเส้นเอ็นที่เท้าเพื่อปรับแนวแรงเท้าให้สมดุล
ควรเริ่มรักษาตั้งแต่แรกคลอด เนื่องจากเส้นเอ็นในเท้ามีความยืดหยุ่นสูง ทำให้ดัดสำเร็จได้ง่าย แต่หลักการรักษาแบบ Ponseti นี้สามารถใช้ได้ในทุกช่วงอายุ
การรักษาไม่สลับซับซ้อน แต่เด็กและครอบครัวจะต้องเผชิญกับความลำบากในการใส่เฝือก และรองเท้าพิเศษเป็นเวลานาน ทำให้ครอบครัวมีความกังวลในการดูแลมาก
ต้องไปพบแพทย์ทุกสัปดาห์ เพื่อปรับในช่วงดัดเท้า และติดตามลักษณะเท้าไปจนอายุประมาณ 8-12 ขวบ
ปัจจุบันมีแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกเด็กที่ปฏิบัติงานอยู่ตามโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศไทยประมาณ 20 ท่าน และมีแพทย์ออร์โธปิดิกส์ทั่วไปที่ผ่านการอบรมวิธีการรักษาอีกจำนวนหนึ่ง
ทั้งนี้ 3 มิ.ย.ที่ผ่านมา เป็นวันเท้าปุกโลก ซึ่งรพ.ระมงกุฏเกล้า ได้จัดงาน “วันเท้าปุกโลก 2560” (World Clubfoot Day 2017) เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนในการช่วยเหลือ แนะนำ ดูแลเด็กแรกเกิดที่เป็นเท้าปุก ให้ได้รับการบำบัดรักษาที่เหมาะสมและถูกวิธี