จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาว่าในช่วงตั้งแต่สิ้นเดือนมิถุนายน-กลางเดือนกรกฎาคม 2563 ฝนจะตกน้อยลง และจะตกเพิ่มขึ้นตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป โดยจะสิ้นสุดฤดูฝนประมาณกลางเดือนตุลาคม 2563 นั้น
เมื่อวันที่ 14 ก.ค. ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ได้ติดตามสถานการณ์น้ำในช่วงสิ้นเดือนมิถุนายน 2563 จนถึงปัจจุบันพบว่าเป็นไปตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ไว้ กรมชลประทานได้วางแผนการบริหารจัดการน้ำไว้ล่วงหน้าเพื่อเป็นการรองรับสถานการณ์ โดยมีการเพิ่มการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนภูมิพล เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ประกอบกับปรับลดปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เนื่องจากไม่อยู่ในช่วงอิทธิพลของน้ำทะเลหนุนสูง ส่งผลให้ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ +13.45 ม.รทก. (07:00 น.) จนสามารถบริหารจัดการน้ำในพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างได้ตามแผน
จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น กรมชลประทานจึงได้วางแผนจัดสรรน้ำและหมุนเวียนการส่งน้ำในช่วงที่มีปริมาณฝนตกลดลง เพื่อการอุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศ และส่งน้ำให้กับพื้นที่นาปีที่ได้เพาะปลูกไปแล้วจำนวน 2.63 ล้านไร่ โดยเพิ่มการระบายน้ำเข้าสู่แม่น้ำน้อย จากอัตรา 10 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 20 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที คลองชัยนาท-ป่าสัก และแม่น้ำท่าจีน จะยังคงการรับน้ำไว้ที่ 15 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที สำหรับพื้นที่ส่วนที่ยังไม่ได้เพาะปลูกข้าวนาปีอีกจำนวน 5.47 ล้านไร่ กรมชลประทานขอความร่วมมือเกษตรกรให้รอฝนตกสม่ำเสมอก่อน คาดว่าตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม 2563 เป็นต้นไปก็จะสามารถทำการเพาะปลูกได้
![](https://siamrath.co.th/files/styles/750/public/img/20200714/8efe556f3a057f197be40093b0fc49653867d75147ad75a07626441d2dc95542.jpg?itok=CYZiI12G)
![](https://siamrath.co.th/files/styles/750/public/img/20200714/4d8521ffa56e976f83f5ae71629692d2929bfcb51a48d6f8539a8593c39a888a.jpg?itok=OAzx2YUW)
![](https://siamrath.co.th/files/styles/750/public/img/20200714/bde53d3c0e8393a2d1985b0c115d7db17d40e011f9e613d7bc88e4edcd1a9cec.jpg?itok=uQYw6iwW)