รายงาน: โครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดราชบุรี ประสบความสำเร็จ ส่งเสริมเกษตรกรขยายผลอย่างครบวงจร ปรับปรุงบำรุงดินจนสามารถปลูกพืชได้หลากหลายภายใต้แนวทางการรวมกลุ่ม สนับสนุนแปรรูปเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิต พร้อมเปิดตลาดให้เป็นช่องทางจำหน่ายผลผลิตของเกษตรกร นายเปี๊ยก เข็มทอง ราษฎร หมู่ที่ 7 ตำบลเขาชะงุ้ม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี หนึ่งในหมอดินอาสาและเกษตรกรขยายผลของโครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดราชบุรี เปิดเผยว่า ปัจจุบันได้ทำการเกษตรแบบผสมผสานบนพื้นที่ 4 ไร่ 1 งาน โดยปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก ตั้งแต่ทำนา ปลูกพืชผัก พืชสมุนไพรเพื่อไล่แมลง และพืชสมุนไพรประเภทอาหาร เช่น ข่า ตะไคร้ มะกรูด โดยเมื่อปี 2559 ทางโครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ราชบุรี ได้เปิดอบรมให้กับราษฎรในโครงการไทยนิยมยั่งยืน จึงสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ด้วยการสมัครเป็นหมอดินอาสา หลังการอบรมได้นำสิ่งที่เรียนรู้มาปฏิบัติในพื้นที่ ในบ่อน้ำมีหอยขม ปลาซิว กุ้งฝอย บนดินมีไส้เดือน พร้อมปลูกหญ้าแฝกบริเวณขอบบ่อเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน และให้รากของหญ้าแฝกช่วยดึงธาตุอาหารที่อยู่ใต้ดินขึ้นมาเลี้ยงต้นพืช จึงไม่ต้องใส่ปุ๋ย จากเดิมพื้นที่ปลูกอะไรไม่ขึ้น แต่หลังจากปรับปรุงดินปัจจุบันปลูกได้ทุกอย่างที่ต้องการ เช่น ปลูกอ้อยคั้นน้ำ ปลายไร่อ้อยปลูกผักกระเฉด ผักบุ้ง ข่า ตะไคร้ มะกรูด โดยทางกลุ่มเกษตรกรเครือข่ายจะนำผลผลิต เช่น ผักกระเฉด ผักบุ้ง ดอกแค ถั่วฟักยาว แตงกวา และเครื่องแกงชนิดต่างๆ ไปจำหน่ายที่ตลาดอินทรีย์ โรงพยาบาลโพธาราม โรงพยาบาลบ้านโป่ง และบริเวณหน้าโครงการฯ ทำให้สมาชิกมีรายได้เฉลี่ยวันละ 300 บาท ปีหนึ่งประมาณ 150,000 บาทต่อคน “โครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดราชบุรี นั้น มีส่วนสำคัญมากให้การสนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่สอนให้รู้และเข้าใจใช้ประโยชน์จากไส้เดือน และนำพันธุ์ไส้เดือนมาให้สนับสนุน ให้ใช้สารเร่งพด.ในการผลิตปุ๋ยหมักไว้ใช้บำรุงต้นพืช อยากรู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับการปรับปรุงดินและพัฒนาการเพาะปลูกพืชชนิดต่างๆ เข้าไปที่โครงการฯ ก็มีตัวอย่างให้ดู สามารถนำกลับมาทำที่บ้านได้เลย” นายเปี๊ยก เข็มทอง กล่าว ทางด้าน นางปาริชาติ พักอิน ราษฎรตำบลเขาชะงุ้ม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เกษตรกรที่นำผลผลิตทางการเกษตรนำมาขยายผลแปรรูปเป็นเครื่องแกง เพื่อเพิ่มมูลค่ากล่าวว่า ได้รวมกลุ่มแม่บ้านในชุมชนมาร่วมกันผลิตน้ำพริกและเครื่องแกงจำหน่าย โดยนำวัตถุดิบจากเกษตรกรสมาชิกในโครงการขยายผลของโครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มฯ ที่เหลือจากการบริโภคในครัวเรือนและยังไม่มีที่จำหน่าย เพื่อให้กลุ่มมีรายได้เพิ่มขึ้น ครั้งแรกที่ผลิต มีอาจารย์จากวิทยาลัยเกษตรกรรมราชบุรีรับซื้อเพื่อนำไปทำอาหารให้นักศึกษารับประทาน จากนั้นก็ผลิตอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาในหลากหลายชนิดเครื่องแกง เช่น แกงเผ็ด แกงส้ม แกงเขียวหวาน แกงป่า น้ำพริกเผาผัดกุ้ง น้ำพริกเผาผัดปลาหมึก น้ำพริกปลาย่าง น้ำพริกแมงดา และน้ำพริกตาแดง ล่าสุดผลิตเครื่องต้มยำเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งชนิด เพื่อให้สะดวกแก่ผู้บริโภค ส่วนวัตถุดิบจะมี ข่า ตะไคร้ มะกรูด กระชาย มะขามเปียก ซึ่งจะรับซื้อจากสมาชิกในกลุ่ม เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสมาชิกอีกทางหนึ่ง “เครื่องแกงจะขายในราคาขีดละ 10 บาท ส่วนน้ำพริกเผาจะอยู่ที่กิโลกรับละ 140 บาท หากขายเป็นขีดจะอยู่ที่ขีดละ 15 บาท ที่ผ่านมาได้รับความนิยมในเครื่องแกงทุกชนิดที่ผลิตออกมา ผู้ซื้อชอบมากขายได้ทุกอย่าง เพราะวัสดุที่ใช้จะสดใหม่ และไม่มีสารเคมีเจือปน เนื่องจากเกษตรกรทุกคนปลูกในระบบอินทรีย์ ในการผลิตจะมาร่วมกันผลิตอาทิตย์ละ 1 วัน เนื่องจากผู้บริโภคซื้อครั้งหนึ่งสามารถเก็บไว้รับประทานได้หลายวัน รายได้ที่ผ่านมานับว่าดีพอควร สมาชิกบางรายมีรายได้จนสามารถส่งลูกเรียนจนจบปริญญาตรี และเลี้ยงครอบครัวอยู่ได้อย่างเพียงพอไม่เป็นหนี้เป็นสิน” นางสาวปาริชาติ พักอิน กล่าว โครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดราชบุรี ประสบความสำเร็จ ส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรขยายผลอย่างครบวงจร