โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน หนึ่งในนโยบายสร้างเข็มแข็งให้เศรษฐกิจฐานราก โรงไฟฟ้าชุมชนเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก ที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ที่มีศักยภาพในท้องถิ่นมาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า เช่นพลังงานลม พลังงานน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก เป็นโครงการตามมติ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานแห่งชาติ เป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กที่เน้นให้การใช้ทรัพยากรในชุมชน การมีส่วนร่วมของชุมชน ทั้งการร่วมเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า ในส่วนของชุมชนได้แก่วิสาหกิจชุมชน กองทุนหมู่บ้าน หรือกลุ่มเกษตรกรที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตาม ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยกลุ่มเกษตรกร พ.ศ. 2547 โรงไฟฟ้ายังต้องได้รับความเห็นยอมในการก่อสร้าง และไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม นายเรืองเดช ปั่นด้วง ผอ.กองวิจัยค้นคว้าพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กล่าวถึงรายละเอียดของโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ว่า “จากสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำ รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงาน ได้ริเริ่มโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน สร้างความเข็มแข็งให้เศรษฐกิจฐานราก ตาม นโยบายเอ็นเนอร์ยี่ ฟอร์ ออล เน้นการร่วมเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าของชุมชนเพื่อสร้างความยั่งยืน สร้างรายได้ให้ชุมชน ชาวบ้านมีรายได้จากการขายพลังงานไฟฟ้า เกิดการใช้ทรัพยากรในชุมชน ขั้นตอนการดำเนินงานของโรงไฟฟ้ามี 2 โครงการคือ 1. โครงการ Quick Win คือการเข้าไปดูโรงงานไฟฟ้าที่สร้างไว้แล้วแต่ติดขัดไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ นำเข้ามาแก้ไข ปรับปรุงให้สามารถผลิตไฟฟ้าและจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ไม่เกิน 100 เมกกะวัตต์ ภายในเวลา 1 ปี โครงการที่ 2 โครงการทั่วไปคือเปิดโอกาสให้ผู้สนใจเอกชนเข้ามาดำเนินกิจการโดยต้องเข้าไปร่วมมือกับชาวบ้าน ที่จัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนที่พร้อมจะจัดหาเชื้อเพลิงให้ให้โรงงาน ทั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงไฟฟ้าพลังงานแก๊สภาพจากพืชพลังงาน โครงการนี้เป็นโครงการที่จะต้องมีพื้นที่และคนที่ต้องจัดหาเชื้อเพลิงให้ เป็นการเริ่มต้นในการร่วมมือกันของผู้ประกอบการและชุมชน วิสาหกิจชุมชนที่จะตั้งโรงไฟฟ้าต้องรวมตัวกันไม่น้อยกว่า 200 ครัวเรือน มีความสามารถจัดหาเชื้อเพลิงป้อนให้โรงไฟฟ้าอย่างยั่งยืน จับมือกับผู้ประกอบการที่มีความพร้อมในการลงทุน รูปแบบนี้ผู้ประกอบการต้องลงทุนเอง 100 เปอร์เซ็นต์ ชุมชนเข้าร่วมเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าได้จากการที่ผู้ประกอบการมอบหุ้นบุริมสิทธ์ให้ 5 เปอร์เซ็นต์ คุณสมบัติของพื้นที่ที่สามารถจัดตั้งโรงไฟฟ้าได้ต้องมีจุดที่จะรับซื้อไฟฟ้า มีพื้นที่เหมาะสมกับประเภทของโรงไฟฟ้าเช่นโรงไฟฟ้าแก๊สชีวภาพจากพืชพลังงาน ต้องมีพื้นที่ที่ปลูกพืชพลังงานใกล้กับโรงไฟฟ้า พื้นที่ในการปลูกต้องมีความเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืช เพื่อป้องกันการขาดแคลนเชื้อเพลิง” “การจัดตั้งโรงไฟฟ้า Quick Win ต้องคำนึงถึงหลัก 5 ประการ คือ 1.เทคโนโลยี 2.เงินทุน 3.แหล่งเชื้อเพลิง 4.มีใบอนุญาต 5.การดูแลสิ่งแวดล้อม การเข้าร่วมลงทุนสำหรับผู้ประกอบการต้องเป็นผู้ประกอบการที่มีเงินทุน มีเทคโนโลยี สามารถร่วมมือกับชุมชนได้ รับฟังความคิดเห็นของชุมชน สำหรับข้อกังวลในเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้งในระยะสั้น และระยะยาวนั้น เริ่มจากการที่ผู้ประกอบการต้องงเป็นผู้ที่มีใบอนุญาตในการดำเนินงานจากทุกส่วนของราชการที่เกี่ยวข้อง พื้นที่ตั้งโรงงานต้องได้รับความเห็นชอบจากชุมชน ต้องได้รับคำอนุญาตจากกรมโยธาธิการและผังเมือง มีแหล่งน้ำในชุมชนที่พอเพียงกับการใช้ในโรงงานไฟฟ้า กรณีที่ใช้น้ำประปาต้องมีเอกสารยืนยันจากการประปาว่ามีปริมาณนำจ่ายให้โรงไฟฟ้าอย่างเพียงพอในการผลิตไฟฟ้า และต้องทำตามกำหนดเรื่องสิ่งแวดล้อมของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน โครงการนี้เป็นโครงการที่กระทรวงพลังงานตั้งใจที่จะเข้ามาช่วยให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ประโยชน์ที่ชาวบ้านจะได้รับคือ 1.การมีส่วนในการเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า 2.รายได้จาการขายพืชเชื้อเพลิงที่ปลูกในพื้นที่การตั้งโรงไฟฟ้า 3.ส่วนแบ่งรายได้จาการขายพลังงานไฟฟ้า 4.เกิดการจ้างงานในพื้นที่ 5.เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในพื้นที่สำหรับขั้นตอนการดำเนินโครงการ ในระยะแรกเป็นโครงการ Quick Win ก่อน หลังจากนั้นจะเป็นโครงการทั่วไป สำหรับโครงการ Quick Win ตอนนี้หลักเกณฑ์ และข้อกำหนดต่างๆจัดทำเรียบร้อย เหลือเพียงรอให้แผนพัฒนากำลังการผลิตพลังงานไฟฟ้า ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ก็สามารถเริ่มดำเนินการโครงการได้ทันที สามารถสอบถามรายละเอียดโครงการ Quick Win ได้ที่เว็บไซต์ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน” นอกจาการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้กับประชาชนผ่านโครงการด้านพลังงานแล้ว การเข้าไปดูแลและแก้ไขปัญหาการเกษตรให้กับเกษตรกร ก็นับว่าเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ด้วยเช่นกัน คณะทำงานศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 1 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดย พลโท พิชัย เข็มทอง ผู้อำนวยการ ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 1 กอ.รมน. ลงพื้นที่ จ.ศรีษะเกษ เข้าพบและร่วมหารือกับผู้ว่าราชการ จ.ศรีษะเกษ เพื่อหาแนวทางในแก้ปัญหาเกษตรกรในพื้นที่ร่วมกัน นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการ จ.ศรีษะเกษ ได้ให้รายละเอียดว่า “จังหวัดศรีษะเกษ ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร มีพื้นที่ทำการเกษตรประมาณ สี่แสนไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ปลูก ข้าว หอมแดง กระเทียม ยางพารา ข้าวโพด ศรีษะเกษเป็นจังหวัดที่มีความต่างจากจังหวัดในภาคอีสานอื่นคือเป็นศูนย์การการปลูกผลไม้ การเสริมสร้างความแข็งแรงให้ภาคเกษตรกรคือทำให้เกิดการรวมกลุ่มของเกษตรกร เพิ่มอำนาจต่อรอง นี่คือส่วนหนึ่งที่ทางจังหวัดจะเข้าไปเสริมให้เกษตรกร สำหรับ กอ.รมน.มีศักยภาพในการประสานกับหน่วยงานต่างๆให้เข้ามาช่วยเหลือทำงานร่วมกัน สร้างอัตลักษณ์ของสินค้าต่างๆ เช่น ข้าวมาตฐานGAPและเป็นข้าวที่ได้รับ GI สามารถยกระดับมาตรฐานของสินค้าทั้งราคาและตลาด สำหรับหอมแดงพันธุ์บางช้าง ได้ส่งตรวจประเมินผลและได้รับ GI แล้ว และผลไม้ที่เป็นไฮไลท์คือทุเรียนภูเขาไฟที่ได้รับมาตรฐาน G I เช่นกัน" สำหรับปัญหาการหอมแดงในพื้นที่จังหวัดศรีษะเกษคือ เป็นการทำเกษตรเชิงเดี่ยว จำนวนผลผลิตมีปริมาณมาก มีปัญหาเรื่องราคาและการรับซื้อ มีปัญหาเรื่องโรคและแมลงศัตรูพืช และทางกอ.รมน.จังหวัดศรีษะเกษได้ลงพื้นที่ปลูกหอมแดง ที่บ้านเห็นอ้ม ต.โพนยาง อ.วังหิน จัดกิจกรรมในโครงการการปฏิรูปสังคมแบบมีส่วนร่วม(สานเสวนา) เพื่อแก้ไขปัญหา พลโท พิชัย เข็มทอง ผอ.ศูนย์ประสานการปฎิบัติที่ 1 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กล่าวถึงการลงพื้นที่ในครั้งนี้ว่า “ทางกอ.รมน.เข้ามาช่วยประสานงานและอุดช่องว่างในการทำงานแก้ปัญหาของหน่วยงานราชการที่เข้ามาในพื้นที่ ให้ทำงานได้สอดประสานไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีประชาชนที่ประกอบอาชีพนั้นๆเป็นศูนย์กลาง จัดทำกิจกรรมสานเสวนาเพื่อรับฟังปัญหา แบ่งปันความรู้ในกลุ่ม ช่วยเหลือกัน สร้างความเข็มแข็งให้กลุ่มเกษตรกร ปัญหาที่ยังแก้ไขไม่ได้ก็จะส่งให้ กอ.รมน.จังหวัดดำเนินการแก้ไขต่อไป สำหรับเรื่องการนำเทคโนโลยีมาช่วยแก้ปัญหา ทางสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.)จะเข้ามาให้การช่วยเหลือ การรวมกลุ่มกันทำให้เกิดประโยชน์ในการแก้ไขปัญหา เป็นการแก้ปัญหาที่ถูกทางไปในแนวทางเดียวกัน การแก้ปัญหาแบบใช้กลุ่มอาชีพเป็นศูนย์กลาง ทำให้เราเข้าถึงความต้องการและการแก้ปัญหาของประชาชนได้อย่างถูกต้อง การจัดเวทีสานเสวนาในวันนี้ ทำให้เราได้ทราบถึงปัญหาและความต้องการที่แท้จริง ถูกต้อง นำไปสู่การแก้ปัญหาที่ถูกทางนำไปสู่นโยบายสาธารณะ เป็นพื้นฐานที่สำคัญของขบวนการพัฒนาการเมืองประชาธิปไตยคือเริ่มจากการพัฒนาเรื่องวิถีชีวิต การมีส่วนร่วมในการปรึกษาหารือรับฟังความคิดเห็น เป็นการพัฒนาทางการเมืองในภาคประชาชน ที่สามารถก้าวข้ามความขัดแย้ง ” คุณสมชัย สำเภา เกษตรกรผู้ปลูกหอมแดงใน ต. โพนยาง อ.วังหิน จ.ศรีษะเกษ หมอดินอาสาและปราชญ์ชาวบ้าน.กล่าวถึงการช่วยแก้ปัญหาต้นพันธุ์มีราคาแพงว่า “ การเพาะพันธุ์ต้นกล้าหอมแดงใช้เองจะช่วยลดต้นทุนการปลูก โดยซื้อเมล็ดพันธ์มาใช้ สัดส่วน 1 กิโลกรัม นำมาเพาะเป็นต้นกล้าจะได้ต้นกล้าที่สามารถปลูกได้ 4 ไร่ ลงทุน 7,500 บาท แต่ถ้าเกษตรกรซื้อหัวมาใช้เงินลงทุน 15,000 บาท ต่อไร่ ซึ่งเป็นต้นทุนที่ต่างกันมาก การเพาะต้นกล้าเราต้องใช้พื้นที่โล่งแจ้งได้รับอากาศ จะทำให้ต้นกล้าแข็งแรง ปลูกง่าย ได้หัวขนาดใหญ่ การแก้ปัญหาเชื้อราในหอมแดงให้ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาฉีดพ่น การแก้ปัญหาเรื่องหนอนคือใช้ไส้เดือนฝอย ทั้ง 2 อย่างเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ใช้สารเคมี ทำให้ไม่มีสารเคมีตกค้างในแปลงหอม และยังเป็นการลดต้นทุนด้วย” การจัดกิจกรรมสานเสวนาที่ จ.ศรีษะเกษ ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาของเกษตรกรผู้ปลูกหอมแดง ตรงตามความต้องการของเกษตรกร ผ่านการปรึกษาหารือ รับฟังความคิดเห็นจากเกษตรโดยตรง และยังเป็นตัวอย่างของการแก้ปัญหาในภาคการเกษตรให้กับเกษตรกรกลุ่มอื่นๆอีกด้วย การทำการเกษตรมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งการทำนา ทำสวน ทำไร่ แต่ที่จังหวัดสระแก้ว มีการทำการเกษตรอีกรูปแบบหนึ่งคือ การทำการเกษตรแบบวนเกษตร ดร.เกริก มีมุ่งกิจ ผู้ก่อตั้งวนเกษตรเขาฉกรรจ์ จ.สระแก้ว กล่าวถึงแนวทางในการทำวนเกษตรว่า “ ได้ศึกษาโครงการพระราชดำริต่างๆ และได้สนใจในทฤษฎีของป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่างเป็นเรื่องที่ทำง่าย แต่ยังไม่มีแปลงตัวอย่างให้ดูจึงเริ่มทำโดยเริ่มจากเงินทุน 2,800 บาท ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงใช้ได้กับทุกอาชีพ คือการพอใจในสิ่งที่ตัวเองมีและเป็น เริ่มจากสิ่งที่ตัวเองมีโดยเริ่มจาการใช้เงินทุน 1,400 บาท จากทั้งหมดที่มี 2,800 บาท สามารถทำ 55 ไร่ให้เกิดผล วนเกษตรเกิดจากคำว่า วน ที่แปลว่าต้นไม้ที่หมายถึงป่า กับคำว่าเกษตร เกษตรแยกเป็นเลี้ยงสัตว์และปลูกพืชที่กินได้ ปลูกต้นไม้ไว้ 1000 ต้นในที่ 5 ไร่เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลาในพื้นที่ ปลูกผักสวนครัวตามแนวต้นไม้ ปลูกพืชสมุนไพรใต้ร่มไม้ ปลูกพืชเพื่อใช้ประโยชน์และปลูกพืชเพื่อขาย เมื่อเราอายุมากขึ้นต้นไม้ 1,000 ต้นที่ปลูกไว้จะสร้างรายได้เป็นบำนาญของชีวิตตามที่ ในหลวงรัชกาลที่ 9ไ ได้สอนไว้ให้ปลูกพืชผสมผสาน ไม่ควรปลูกพืชเชิงเดี่ยว การปลูกพืชเชิงเดี่ยวเน้นทำเพื่อขายอย่างเดียวเช่นการปลูกสักทอง แต่ตอนนี้สักทองก็ไม่ประสบความสำเร็จ ปลายทางของการทำวนเกษตรคือการแปรรูปไม้จำหน่ายเป็นรายได้ การทำการเกษตรแบบผสมผสาน มีกิน มีใช้ มีขาย จะทำให้เราไม่ประสบปัญหา แม้จะเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด ก็ไม่สามารถสร้างความลำบากให้กับชีวิตได้ เพราะเรามีอยู่ มีกิน มีความสุขตามอัตภาพ การทำการเกษตรแม้ทำงานหนัก แต่ฝันดีทุกวัน จากหลักทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง จึงได้ทำนาไว้เพื่อกินเอง ในพื้นที่ 1 ไร่ ปลูกพืชผักเพื่อเป็นอาหารให้คนและสัตว์ ไม่ได้ทำเพื่อขาย และได้ศึกษาการทำนาแบบใช้น้ำน้อยในพื้นที่ 1 ไร่ โดยไม่ขังน้ำไว้ในนาปล่อยให้ดินได้รับออกซิเจนอย่างเต็มที่ ทำให้ข้าวเจริญเติบโตได้ผลผลิตเท่ากับการปลูกข้าว 15 ไร่ เป็นตัวอย่างของการทำนาสำหรับผู้ที่มี พื้นที่ไม่มากนัก" การพัฒนาพลังงานไฟฟ้าในชุมชน การแก้ไขปัญหาของเกษตรกร และการทำการเกษตรกรในรูปแบบใหม่ๆตามทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง สามารถช่วยให้ประชาชน อยู่ดี กินดี และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขอขอบคุณข้อมูลจากรายการเดินหน้าปฏิรูป ออกอากาศทาง สถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง5 ทุกวันพุธและวันพฤหัสบดีเวลา 21.00-22.00 น.