นีโอไวส์ ดาวหางที่ทั่วโลกกำลังรอเฝ้าชม โดย 23 ก.ค.นี้ จะเข้าใกล้โลกมากที่สุด และมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ขณะที่นาซาได้ค้นพบมุมมองใหม่ของดาวหางดวงนี้ เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก เผย ภาพ #ดาวหางนีโอไวส์ สุดชัดจากยานพาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบ โดยระบุ “เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2563 ยานพาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบ ยานสำรวจดวงอาทิตย์ที่โคจรอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดของนาซา จับภาพของดาวหางนีโอไวส์ หรือดาวหาง C/2020 F3 (NEOWISE) ในห้วงอวกาศเอาไว้ได้ เผยให้เห็นดาวหางในมุมมองที่ไม่เหมือนใคร และเห็นหางทั้งสองของดาวหางอย่างชัดเจน ภาพซ้าย คือภาพถ่ายที่ยังไม่ผ่านการประมวลผล ส่วนภาพทางขวา เป็นภาพที่ผ่านการประมวลผลแล้ว ด้วยการเพิ่มคอนทราสและลดแสงที่ไม่จำเป็น ทำให้เห็นรายละเอียดของดาวหางมากขึ้น หางส่วนล่างคือ “หางฝุ่น” มีลักษณะเป็นแถบกว้างฟุ้ง ๆ สะท้อนแสงอาทิตย์ได้ดี เกิดจากอนุภาคฝุ่นที่ฟุ้งกระจายจากนิวเคลียสขณะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ปรากฏเป็นทางโค้งสว่างที่มีทิศทางสัมพันธ์กับเส้นทางการโคจร หางส่วนบนคือ “หางไอออน” มักมีความยาวกว่าหางฝุ่นแต่สว่างน้อยกว่า เกิดจากแก๊สที่อยู่รอบ ๆ ดาวหางแตกตัวออกเป็นไอออนเนื่องจากได้รับพลังงานจากลมสุริยะ เกิดเป็นแนวแก๊สเรืองแสงที่มีทิศทางชี้ออกจากดวงอาทิตย์อย่างชัดเจน นอกจากนี้ ภาพจากยานพาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบ ยังเผยให้เห็นว่าหางไอออนยังแยกออกอีกเป็นสองส่วน นั่นหมายความว่า ดาวหางนีโอไวส์มีหางไอออนถึงสองหางด้วยกัน อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ยังต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อวิเคราะห์และยืนยันความเป็นไปได้ สำหรับช่วงนี้ ดาวหางนีโอไวส์สว่างจนมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าจากบนโลก ใครที่อยากเห็นดาวหางดวงนี้กับตาตัวเอง ตามไปอ่าน “3 เทคนิคหาตำแหน่งดาวหางนีโอไวส์” กันได้ที่ https://web.facebook.com/…/a.14830893189…/3299131640150427/… อ้างอิง : [1] https://www.nasa.gov/…/nasa-s-parker-solar-probe-spies-new…/ [2] http://www.narit.or.th/…/e-…/2020-1-9/Booklet_Comet_2018.pdf NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ระบุภาพข้างต้นเป็น อีกมุมมองที่สวยมาก ถ่ายโดยนักบินอวกาศบนสถานีอวกาศนานาชาติเมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา เป็นดาวหางนีโอไวส์กับโลกของเรา ทางขวามือมีดาวศุกร์สว่าง และเหนือดาวศุกร์ขึ้นไปยังมีกระจุกดาวลูกไก่ให้เห็นอีกด้วย