ไม่ง้อรัฐ! ชาวบ้านใน อ.พลับพลาชัย จ.บุรีรัมย์ หลายครัวเรือน ลงทุนควักเงินว่าจ้างช่างขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล เพื่อนำเอาน้ำบาดาลขึ้นมาไว้ใช้ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค และการเกษตร หลังประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก วันที่ 10 กรกฎาคม 2563 ชาวบ้านสะเดา หมู่ที่ 12 ต.สะเดา อ.พลับพลาชัย จ.บุรีรัมย์ ได้ทำพิธีบวงสรวงบูชาแม่พระธรณี และเจ้าที่เจ้าทาง ตามความเชื่อของวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อขออนุญาตทำการขุดเจาะบาดาล ในพื้นที่บริเวณทุ่งนา และบริเวณบ้านของตนเอง เพื่อนำน้ำบาดาลมาใช้ในการอุปโภค บริโภคในครัวเรือน และใช้เพื่อการเกษตร หลังจากในพื้นที่ ต.สะเดา อ.พลับพลาชัย จ.บุรีรัมย์ ได้ประสบกับปัญหาภัยแล้ง ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน เช่นเดียวกันกับในหลายพื้นที่ของ จ.บุรีรัมย์ ที่กำลังประสบกับปัญหาภัยแล้งอยู่ขณะนี้ ซึ่งสถานการณ์ภัยแล้งยังคงทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้แหล่งน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตรหลายแห่งแห้งขอดจนไม่มีน้ำ รวมถึงระบบน้ำประปาที่มีอยู่ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้ชาวบ้านในหลายครัวเรือนช่วงนี้ ต้องหันมาแก้ไขปัญหาภัยแล้งด้วยตนเอง โดยการว่างจ้างผู้ประกอบการรับจ้างขุดเจาะบาดาล มาทำการขุดเจาะบ่อบาดาลในพื้นที่บริเวณบ้าน และทุ่งนาของตนเอง เพื่อจะได้มีน้ำเพียงพอ ไว้ใช้สำหรับใช้เพื่อการอุปโภค บริโภค รวมถึงเพื่อการเกษตร นางเยียม สิทธิสังข์ บอกว่า ปีนี้ประสบกับภัยแล้งกว่าทุกปี และน้ำประปาที่ใช้อยู่ก็ไม่เพียงพอ มีการเปิด-ปิดเป็นเวลา เพื่อประหยัดน้ำ เนื่องจากน้ำที่ใช้ผลิตประปามีน้อย จึงตัดสินใจว่าจ้างให้ช่างมาเจาะบ่อบาดาล เพื่อจะได้มีน้ำไว้ใช้สอยในครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง จึงต้องลงทุนจ้างช่างมาขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลเอง เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำใช้ในครัวเรือน โดยเสียค่าจ้างเจาะบาดาล 8,000 บาท ด้านนายสุบิน ทรงประโคน ช่างรับขุดเจาะบ่อบาดาล บอกว่า ประกอบอาชีพนี้มา 10 กว่าปีแล้ว ส่วนค่าจ้างขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลเฉลี่ยครั้งละประมาณ 8,000 บาท ถึง 10,000 บาท แล้วแต่ความยากง่าย และขนาดความลึก โดยปกติแล้วในทุกปีเฉลี่ย 2-3 วัน หรือ 1 สัปดาห์ จะมีผู้มาว่าจ้างให้ไปเจาะบาดาลให้ แต่พอมาปีนี้ได้รับการติดต่อว่าจ้าง ให้ไปเจาะบาดาลแทบทุกวัน ทั้งในเขต อ.พลับพลาชัย, อ.ประโคนชัย รวมถึงอำเภอใกล้เคียงในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ ส่วนที่มีคนมาว่าจ้างให้ไปเจาะบาดาลแทบทุกวันนั้น อาจเป็นเพราะปีนี้แล้งหนัก และมีน้ำใช้ไม่เพียงพอ ชาวบ้านจึงหันมาอาศัยการเจาะบาดาล เพื่อความสะดวกสบายต่อการใช้น้ำ