คนข้างวัด / อุทัย บุญเย็น คำว่า “บุคคลสาธารณะ” ในที่นี้หมายถึงคนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง มักจะเป็นพวกดาราต่างๆ เช่น นักแสดงละคร-ภาพยนตร์ นักร้อง นักดนตรี นักเรียน ตลอดถึง “ศิลปิน” ในหลายสาขาเป็นต้น “ฌอน” เป็นเด็กหนุ่มก็อยู่ในประเภทบุคคลสาธารณะคนหนึ่ง แต่จะว่าเป็นดาราก็ไม่ใช่ เขามีคนรู้จักอย่างกว้างขวางคนหนึ่ง ทำงาน(Job) ที่เรียกกันว่า “ไลฟ์โค้ช” (ดูเหมือนจะหมายถึงคนที่แนะนำการดำเนินชีวิตที่ดี คนมักจะใช้คำว่าเป็น “แรงบันดาลใจ” คือมีความสามารถในการชี้นำด้วยคำพูดให้น่าเชื่อ น่าเลื่อมใส น่าปฏิบัติตาม (เหมือนกับ “พระสงฆ์” นั่นแหละ) สรุปว่า ฌอนเป็นคนรุ่นใหม่ ที่ทำงานเพื่อสังคม กิริยาและบุคลิกของเขา เป็นที่น่าเชื่อถือไม่น้อย ฌอนเกิดในสหรัฐอเมริกา แต่ครอบครัวคงพาพูดภาษาไทยไม่น้อย เขาจึงใช้ภาษาไทยได้ดีพอสมควร แม้เมื่อมาอยู่เมืองไทยใหม่ๆ เขาจะพูดภาษาไทยไม่คล่องนัก คำพูดคำจาของฌอน แม้จะฟังไม่คล่องหูนัก แต่เขาก็เป็นคนช่างพูดคนหนึ่ง ทำให้มีคนติดตามฟังและติดตามดูบทบาทของเขามากขึ้นๆ จนชื่อเขาเริ่มติดปากติดหูผู้คน(โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่) แต่ผมมีความรู้สึกว่า ฌอนมีอาการจงใจคัดคำไม่น้อย ผมเคยพูดกับเพื่อนๆว่า ฌอนพูดไทยไม่ชัด และเหมือนจงใจที่จะพูดด้วยท่วงทำนองอย่างนั้น (ซึ่งคงจะมีคนชอบอย่างนั้นไม่น้อย) ได้ฟังฌอนพูดครั้งแรกเมื่อเขาพูดกับ “อาจารย์เฉลิมชัย” ที่วัดร่องขุ่น ดูเหมือนอาจารย์เฉลิมชัยก็กล่าวยกย่องว่าเขาเป็นคนรุ่นใหม่ มีความคิดอ่านดีๆ (อาจารย์เฉลิมชัยเคยเห็นฌอนทางทีวี) ตั้งแต่นั้นมา ก็เห็นฌอนปรากฏตัวทางสื่อต่างๆบ่อยๆ ได้รู้ว่าเขามีกิจกรรมทางสังคมมากขึ้นๆ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก มองว่าฌอนเป็นคน “มีไฟ” คนหนึ่ง พบอีกทีทางยูทูบ จึงได้รู้ว่า ฌอนมีความเคลื่อนไหวที่ภาคเหนือ พูดออกทางยูทูบว่าพลเอกประวิตร เป็นคนใจดี ก็เอะใจว่า ฌอนมีใจฝักใฝ่ทางการบ้านการเมืองพอสมควร แต่ก็ไม่รู้ว่า เขาไปมีกิจกรรมช่วยดับไฟป่าแถวดอยสุเทพด้วย และมีข่าวตามมาว่า เขาถูกซุบซิบเรื่องเงินบริจาคที่มีการใช้ผิดประเภท เรื่องของฌอน ทำท่าจะลุกลาม ไม่ต่างอะไรกับไฟลามป่า เพราะเป็นเชื้ออย่างดีเมื่อเขามาอยู่ท่ามกลาง “การเมือง” ที่กำลังคุกรุ่น รอวันประทุอยู่อย่างทุกวันนี้ ฌอนไม่ต่างอะไรกับ “ดารา” และคนเด่นดังทางสังคม(ไทย) คือจะต้องกลายเป็น “เชื้อไฟ” อีกชิ้นหนึ่ง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อยากจะแสดงความเห็นไว้นานแล้วว่า ไม่ว่าจะเป็นดารา นักร้อง ไม่ว่าจะเป็นศิลปินสาขาใดๆก็ตาม บรรดาที่ได้ชื่อว่าเป็นคนของสังคม หรือเป็น “บุคคลสาธารณะ” ทั้งหลาย ไม่อยากให้แสดงตัวตนเป็นฝักฝ่ายทางการเมืองใดๆเลย โดยเฉพาะในยามที่บ้านเมืองกำลังเกิดความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงอย่างทุกวันนี้ จริงอยู่ ความเชื่อหรือ “ศรัทธา” ทางการเมืองนั้นมีอยู่ในจิตใจคนแน่ แต่ก็อยากให้เก็บซ่อนมันไว้ในส่วนลึก ไม่อยากให้เปิดเผยมันออกมาอย่างโจ่งแจ้ง เพราะความเชื่อหรือศรัทธานั้น ไม่มีคำอธิบายด้วยเหตุผลได้ และคนประเภทศิลปิน อย่างดารา นักร้อง และคนเขียนหนังสือนั้น มักจะเป็นคนแสดงออกทางความเชื่อหรือศรัทธาตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อม คือคิดหรือรู้สึกอย่างไร ก็แสดงออกอย่างนั้น จะลืมไปว่าตนมีคนอยู่ข้างหลังมากมาย ที่จะชอบหรือไม่ชอบอย่างนั้น คำว่า “บุคคลสาธารณะ” นั้น อยากจะให้หมายถึงคนระดับชั้นสูงด้วย ซึ่งเป็นบุคคลที่คนทั้งหลายเคารพนับถือหรือไว้ใจเป็นอย่างยิ่ง บุคคลสาธารณะเหล่านั้นเมื่อแสดงตัวตนเป็นฝักฝ่าย(ทางการเมือง) มักจะมีผลกระทบต่อส่วนรวมเป็นอันมาก สามารถสร้างความแตกแยกได้ลึกซึ้งยิ่งนัก อย่างไรก็ตาม ก็น่าเห็นใจ “บุคคลสาธารณะ” ทั้งหลายอยู่ไม่น้อย เพราะยังเป็นปุถุชน มีกิเลสตัณหา มีชอบมีชังเหมือนคนทั่วไป แต่อย่าลืมว่า ศรัทธานั้นดำรงอยู่ได้ด้วยศรัทธา บุคคลสาธารณะจะดำรงอยู่ได้ก็ด้วยศรัทธาของคน ไม่ใช่ดำรงอยู่ได้ด้วยตนเอง เช่น ดารา ถ้าขาดศรัทธา(ความเชื่อ ความรัก) ของแฟนๆหรือประชาชน ก็ย่อมเสื่อมถอย ไม่มีงานแสดง ไม่มีคนนิยม ซึ่งจะถูกกดดันจากหลายๆด้าน ในที่สุดก็จะหงอยเหงา ซบเซาไปเองอย่างที่เห็นๆอยู่ ดาราบางคนถึงกับมีอาการติดลบทางเศรษฐกิจ เพราะขาดโฆษณาสนับสนุน หรือถูกผู้จัดการแอนตี้ บางรายไม่มีช่องทีวีให้ออกก็มี เพราะเขาได้รับผลกระทบด้วย ทางออกเรื่องนี้ เห็นจะให้บุคคลสาธารณะสงวนท่าทีไว้ให้ได้ โดยคำนึงถึงศรัทธา(ความรัก ความเชื่อ ความนิยม) ของคนส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นแฟนๆของตนไว้ก่อน อย่าเปิดเผยตัวตนตามใจชอบหรือตามรสนิยม ให้รู้ว่า ตนเป็นคนของประชาชน เมื่อเปิดเผยตัวตนอยู่ข้างใดข้างหนึ่ง ก็จะสร้างความผิดหวังแก่ประชาชนของตนอย่างแน่นอน และพรรคการเมือง หรือใครก็ตามที่ได้ประโยชน์จากตนในการเปิดเผยตัวตนอย่างนั้น ก็ช่วยอะไรไม่ได้ด้วย มานึกดูก็เห็นชัดว่า “พระสงฆ์” ที่พระพุทธเจ้าออกแบบไว้ก็เป็นบุคคลสาธารณะประเภทหนึ่ง ซึ่งจะแสดงตัวตนเป็นฝักเป็นฝ่าย (โดยเฉพาะในทางการเมือง)ไม่ได้เลย แม้แต่การให้พระสงฆ์มีสิทธิ์มีเสียงในการเลือกตั้งนักการเมืองหรือพรรคการเมือง ก็ไม่เหมาะแก่พระสงฆ์ ซึ่ง พ.ร.บ.สงฆ์เข้มงวดในเรื่องนี้อย่างยิ่ง ว่าไปแล้วในสมัยพุทธกาล โดยเฉพาะในชมพูทวีปนักบวชทั้งหลายไม่มีบทบาททางการเมืองใดๆเลย นักบวชทุกลัทธิ(ทุกพระธรรมวินัยและทุกพรหมจรรย์) ไม่เป็นที่หวาดระแวงของฝ่ายแว่นแคว้น ไม่ถูกฝ่ายบ้านเมืองขัดขวางแต่อย่างใด พระพุทธเจ้าเอง แม้จะมาจากวรรณะกษัตริย์แคว้นศากยะ และแม้จะถูกพระเจ้าพิมพิสาร (พระราชาแคว้นมคธ) ทูลยกราชสมบัติให้ครอง (ให้ครองแคว้นมคธ) เมื่อพบกันครั้งแรก ก็ไม่ทรงไยดี หรือแสดงอาการยินดี แสดงว่า การเมือง(และการปกครองของทางโลก) ไม่ใช่สิ่งที่นักบวชพึงประสงค์แม้แต่น้อย เป็นท่าทีของพระสงฆ์ที่มีต่อการเมือง อย่างน่าสังเกต ในการวางพระองค์กับพระราชาของแคว้นต่างๆ (โดยเฉพาะแคว้นระดับมหาอำนาจอย่างแคว้นมคธและแคว้นโกศล) ของพระพุทธเจ้า เป็นการวางพระองค์อย่าง “บุคคลสาธารณะ” ที่เด่นชัดจึงไม่เคยปรากฏว่า มีคำติฉินนินทาพระสงฆ์ในเรื่องนี้ แม้แต่การเข้าวังของพระสงฆ์ พระพุทธเจ้าก็ทรงบัญญัติวินัยสงฆ์ให้คำนึงถึงความเหมาะสมเป็นอันมาก เพื่อไม่ให้มีเรื่องราวหรือถูกติฉินนินทาจากคนทั่วไป กรณีของ “ฌอน” เห็นได้ชัดว่า เขาเป็นบุคคลสาธารณะ ประเภทหนึ่ง เมื่อไปแสดงตัวตนนิยมชมชอบนักการเมือง จึงถูกต่อว่าต่อขานอย่างรุนแรง และทำท่าจะลุกลามไปถึงเรื่องอื่นๆด้วย บุคคลสาธารณะคนอื่นๆ ก็อย่าได้แปลกใจที่เมื่อตนเปิดเผยตัวเองเป็นฝักเป็นฝ่ายทางการเมืองแล้ว จะถูกตราหน้าว่าเป็นคนของฝ่ายโน้นฝ่ายนี้ และค่อยๆหมดความนิยมไปตามๆกัน เขียนถึงเรื่องนี้ ก็อยากจะติงสื่อมวลชนสำนักต่างๆที่ปัจจุบันทำท่าว่าจะถือข้างทางการเมืองมากขึ้นทุกวัน อยากจะให้ตั้งข้อสังเกตว่า สื่อมวลชน เช่น สื่อทีวี(รวมถึงสื่อทางโซเชียลทั้งหลาย) สื่อหนังสือพิมพ์ เป็นต้น ก็จัดว่าเป็นบุคคลสาธารณะประเภทหนึ่ง น่าสังเกตว่า สื่อที่เลือกข้าง(ทางการเมือง) อย่างชัดเจน มักจะ “แคบ” ในการแสดงออกทางความคิดเห็น แล้วก็ค่อยๆเสื่อมความนิยมลงไปเอง ผิดกับสื่อที่ทำหน้าที่ของสื่ออย่างตรงไปตรงมา ชนิด “นิคฺคณฺเห นิคฺคหารหํ ปคฺคณฺเห ปคฺคหารหํ” (บนหัวน.ส.พ.สยามรัฐ) ซึ่งเตือนใจสื่อว่า “ข่ม(ตำหนิ) คนที่ควรข่ม ยกย่อง(ชม)คนที่ควรยกย่อง” ย่อมจะคงความนิยมอยู่นานกว่า (หรือ “นานเท่านาน” นั่นแหละ) ก่อนจะจบบทความวันนี้ ขอตั้งข้อสังเกตไว้เรื่องหนึ่ง คือการแจกจ่ายเงินของรัฐบาล อยากให้มีการปรับปรุงวิธีคิดและวิธีการในรัฐบาลต่อๆไป (ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญฉบับไหนก็ตาม) มีความเห็นว่า การแจกจ่ายเงินแก่ประชาชน คงจะมีอยู่ต่อๆไป และอาจจะเกิดอุปัทวภัยต่างๆให้รัฐบาลต้องเดือดร้อนมากขึ้นๆ โดยเฉพาะเกรงว่า โรคระบาดแปลกๆ คงจะเกิดถี่ขึ้น และอาจจะเกิด “สงครามชีวภาพ” (สงครามที่ใช้อาวุธทางเคมีประหัตประหารกันในรูปการผลิตเชื้อโรคฆ่ากัน) เพราะดูเหมือนว่า ร่างกายของคนมีจุดอ่อนมากมายให้เข้าทำลายด้วยเชื้อโรคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางปอด ทางลำไส้ ทางตับไต ทางเลือด ฯลฯ เช่น ที่เกิดโรคไข้หวัดนก โรคซาร์ส โรคเมอร์สเป็นต้น โรคที่ผลิตเชื้อง่ายที่สุด เห็นจะเป็นประเภทโรคหวัดใหญ่ อย่างโควิด หรือโคโรนาไวรัสนี่แหละ เมื่อเกิดโรคระบาดขึ้น รัฐบาลก็จำเป็นจะต้องหาวิธีบำบัดบรรเทา หรือรักษาให้หาย ด้วยการแจกจ่ายเงินให้แก่ประชาชน เพื่อเป็นการเยียวยากันตามสมควร การแจกจ่ายเงินที่ทำอยู่ เป็นเจตนาที่ดีของรัฐบาล แต่ก็เห็นว่า น่าจะยังมีปัญหาอยู่ เข้าใจว่า เงินคงจะถึงประชาชนได้ไม่ทั่วถึง การสำรวจกลุ่มเป้าหมาย(คนรับเงิน) ยังน่าเป็นห่วงว่าจะเกิดการผิดพลาดและสับสนได้มาก อยากให้รัฐบาลนึกถึงวิธีการใช้บัตรประชาชนอย่างที่เคย ใช้วิธี “30 บาทรักษาทุกโรค” พัฒนามาเป็น “บัตรทอง” และใช้ “บัตรประชาชน” ในที่สุด ซึ่งทำให้การรักษาโรคของประชาชนที่โรงพยาบาลต่างๆ เข้าถึงประชาชนทุกหมู่เหล่าได้ในที่สุดอย่างทุกวันนี้ ไม่อยากให้รัฐบาลใช้วิธีการสำรวจ (สุ่มหา) กลุ่มเป้าหมาย เป็นเกษตรกร เป็นคนทำงานด้านต่างๆ ฯลฯ แล้วกำหนดจำนวนเงินแจกจ่ายเป็น 3,000-5,000 บาท แก่กลุ่มเป้าหมายครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งคงทั่วถึงได้ยาก ถ้าแจกจ่ายเงินเยียวยาตามบัตรประชาชน น่าจะทั่วถึงได้ดีกว่า ให้ใช้บัตรประชาชนนั้นแหละเป็นบัตร ATM ไปรูดบัตรได้เอง เพราะในบัตรประชาชนมีข้อมูลประชาชนอยู่พร้อมแล้ว ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ จำนวนที่แจกจ่ายไม่ต้องมาก สัก 1,000 -2,000 หรือ 3,000 บาทก็พอ ซึ่งเป็นเงินจากเงินภาษีที่จ่ายซื้อของกินของใช้ของทุกคนนั่นเอง ทุกวันนี้ เรา(ประชาชนทุกคน) ต้องจ่ายเงินภาษีไปกับการซื้อของกินของใช้ถึง 7% (และคงจะถึง 10% ในไม่ช้า) บางครอบครัวต้องแบกภาระเลี้ยงดูเด็กๆ คนเฒ่าคนแก่ คนพิการ ฯลฯ ที่ช่วยตัวเองไม่ได้ การสำรวจหากลุ่มเป้าหมายอย่างที่ทำอยู่ แม้จะพบกลุ่มเป้าหมายแล้ว แต่ก็จะไม่พบ “ภาระ” ที่แท้จริงของประชาชนได้ คงจะเกิดความเหลื่อมล้ำมากอยู่ จะหาโอกาสเขียนถึงเรื่องนี้อีกครับ