หลังยื่นร้องต่อป.ป.ช.แล้ววันนี้ กับบทบาทหน้าที่คชก.กทม. ระบุที่นัดประชุม 13 ก.ค.นี้เป็นวาระปกติ โครงการต้องแก้ไขทุกปัญหา-ทุกข้อร้องเรียนให้ได้ ไม่มีปล่อยผ่าน จากกรณีชุมชนซอยสุขุมวิทซอย 61 และชุมชนเอกมัย ซอย 1 เขตวัฒนา คัดค้านรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการ “IMPRESSION EKKAMAI” ที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านอาคาร การจัดสรรที่ดิน และบริการชุมชน กรุงเทพมหานคร (คชก.กทม.) มีมติให้เจ้าของโครงการฯ นำข้อกังวลของประชาชนไปปรับปรุงแก้ไขในรายงาน EIA ซึ่งรายงาน EIA ฉบับที่ปรับปรุงแก้ไขแล้ว ยังไม่ได้แก้ปัญหาที่ชาวชุมชนร้องเรียน แต่ คชก.กทม.กลับนัดประชุม เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบโครงการดังกล่าวในวันที่ 13 ก.ค.63 นั้น ซึ่งสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและชาวสุขุมวิท 61 ได้รวมตัวกันเดินทางไปยื่นร้องเรียนต่อ ป.ป.ช.ในวันที่ 9 ก.ค.63 เพื่อขอให้ตรวจสอบและเอาผิดคณะกรรมการ คชก.ชุดดังกล่าวทั้งคณะตามกฎหมายนั้น นายชาตรี วัฒนเขจร ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อม กทม.กล่าวว่า คชก.กทม. ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา ผู้แทนจากหน่วยงานอนุญาตที่เกี่ยวข้องที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งมีแนวทางการพิจารณารายงาน EIA ตามขั้นตอนของกฎหมายและหลักเกณฑ์การพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรสิ่งแวดล้อม (สผ.) โดยยึดหลักแนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการจัดทำรายงาน EIA ของ สผ. ซึ่งแนวทางดังกล่าวได้กำหนดให้บริษัทที่ปรึกษา/เจ้าของโครงการ ต้องรับฟังความคิดเห็นและข้อห่วงกังวลของผู้ที่อาจได้รับผลกระทบจากโครงการไว้อย่างชัดเจน และจะต้องนำเสนอข้อห่วงกังวลดังกล่าวในรายงาน EIA รวมทั้งกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เพียงพอ รวมถึงการเยียวยาตามหลักวิชาการและหลักธรรมาภิบาล สำหรับโครงการ “IMPRESSION EKKAMAI” ได้เข้าสู่กระบวนการพิจารณารายงาน EIA ของ คชก.กทม. ตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด โดยในกระบวนการพิจารณารายงาน EIA สองครั้งที่ผ่านมา คชก.กทม. ได้มีมติไม่ให้ความเห็นชอบต่อรายงานดังกล่าว ต่อมาโครงการฯ ได้จัดทำรายงาน EIA ฉบับใหม่ และยื่นรายงาน EIA เข้าสู่การพิจารณาของ คชก.กทม. โดยจะเข้าสู่การพิจารณาในวันที่ 13 ก.ค.นี้ ถือเป็นการเข้าสู่วาระการประชุมตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ โครงการฯ จะต้องแก้ไขรายงานตามที่ คชก.กทม. มีมติไม่ให้ความเห็นชอบไว้ให้ครบทุกประเด็น รวมถึงประเด็นข้อห่วงกังวลของผู้ร้องเรียน ทั้งในประเด็นเดิมและประเด็นที่ผู้ร้องเรียนส่งมาเพิ่มเติมในการพิจารณารายงาน EIA รอบใหม่นี้