คอลัมน์ "ด้วยสมองและสองมือ"
อีกหนึ่งผลงานนักวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี สร้างคุณค่าและเพิ่มมูลค่าให้พืชผลทางการเกษตร โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ กรณัท สุขสวัสดิ์ สาขาวิชาสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ นำใบตะไคร้ที่เหลือใช้ มาพัฒนาคุณภาพขบวนการย้อมสีธรรมชาติจากใบตะไคร้ และต่อยอดพัฒนาลวดลายผ้า โดยได้รับทุนสนับสนุน จากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ภายใต้โครงการพัฒนายกระดับ OTOP ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรม การย้อมสีธรรมชาติจากตะไคร้ กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านดงบัง จังหวัดปราจีนบุรี
ผศ.กรณัท เผยว่า นำใบตะไคร้ซึ่งเป็นของเหลือใช้ทางการเกษตร มาพัฒนาเป็นสีย้อมธรรมชาติสำหรับย้อมเส้นฝ้าย เพื่อใช้ในการทอผ้าของกลุ่มฯ พัฒนาและออกแบบลวดลายผ้าที่ได้จากการย้อมสีธรรมชาติจากใบตะไคร้ ให้เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่ม พัฒนาและแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่ทันสมัยขึ้น ซึ่งสีที่ใช้กันในชีวิตประจำวัน ทั้งสีที่ผสมอาหารและสีย้อมผ้า ได้มาจากการสังเคราะห์สารเคมีและสีจากธรรมชาติ แต่สีสังเคราะห์หลายชนิดหากนำมาใช้ผสมอาหารจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย แตกต่างจากสีที่ได้จากธรรมชาติ ซึ่งใช้ผสมอาหารได้โดยไม่มีอันตราย และใช้เป็นสีย้อมผ้าที่ให้สีสันสวยงาม นอกจากไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ผลิตและผู้บริโภค ยังไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และวัตถุดิบหาได้ง่ายในชุมชนไม่ต้องใช้สีเคมีที่นำเข้าจากต่างประเทศ และการย้อมสีธรรมชาติสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง และเป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่น
ทคนิคคือผสมใบหูกวางลงไป ทำให้เส้นฝ้ายที่ย้อมมีสีเข้มขึ้น โดยสารช่วยติด คือ นำสารส้มมาแกว่งกับน้ำเปล่าที่สะอาดและการใส่สนิมเหล็ก ช่วยในการทำให้เพิ่มความเข้มของสี
“สีย้อมธรรมชาติจากใบตะไคร้ เป็นสีย้อมผ้าที่ปลอดภัย มีคุณสมบัติทนต่อการซัก ทนต่อแสงแดด และทนต่อการรีดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” นำเส้นฝ้ายที่ได้รับการย้อมมาทอและพัฒนาลวดลายผ้า คือ ลายปราจีนบุรี แปรรูปผลิตภัณฑ์สิ่งทอฯ ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค สร้างเอกลักษณ์กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านดงบัง จังหวัดปราจีนบุรี
ผู้สนใจผ้าทอมือการย้อมสีธรรมชาติจากใบตะไคร้ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านดงบัง คุณปราณี โทร.089-5454557