จากสถานการณ์การท่องเที่ยวภายในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในช่วงเก็บตัวอยู่กับบ้าน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเป็นเวลานาน ส่งผลให้จำนวนการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยหดตัวลง 99% โดยแหล่งท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต่างๆ ต้องปิดบริการชั่วคราว เพราะไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา และไม่เกิดการเดินทางในประเทศ แต่ในเวลานี้มีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว ในโครงการเที่ยวปันสุข ประกอบด้วย แพ็กเกจเราเที่ยวด้วยกัน กรอบวงเงิน 20,000 ล้านบาท และแพ็กเกจกำลังใจ กรอบวงเงิน 2,400 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 22,400 ล้านบาท เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม – ตุลาคม 2563 ดำเนินการโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งมีการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับ กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) แต่ ในมุมมองของผู้ประกอบการท่องเที่ยวจะสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภาคการท่องเที่ยวได้เพียงใดคงต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ ด้านด้วยกัน ผลดีต่อภาคการท่องเที่ยว โดย นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ที่จะเปิดลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.เราเที่ยวด้วยกัน.com ในวันที่ 15 กรกฎาคมนี้ น่าจะมีประชาชนสนใจลงทะเบียนจำนวนมาก ซึ่งจะเป็นผลดีต่อภาคการท่องเที่ยว เพราะช่วยกระตุ้นให้การท่องเที่ยวไทยกลับมาฟื้นตัวหลังหยุดชะงักในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า การท่องเที่ยวทางภาคเหนือจะได้รับความสนใจมากที่สุด เนื่องจากเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น และมีจังหวัดที่เป็นเมืองท่องเที่ยวจำนวนมาก ทั้งนี้ นายชัยรัตน์ กล่าวว่า จากการสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวจำนวน 770 ราย ระหว่างวันที่ 10-25 พฤษภาคม 2563 พบว่า มีดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์อยู่ที่ 37 ในสถานการณ์ท่องเที่ยวไตรมาส 3/2563 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความคาดหวังการท่องเที่ยวในไตรมาส 3 จะดีขึ้น แต่มีผลประกอบการในระดับที่ต่ำกว่าปกติมากที่สุด โดยคาดการณ์ถึงจำนวนและรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไตรมาส 3 น่าจะมีประมาณ 0.4 ล้านคน ติดลบ 96% สร้างรายได้ 20,622 ล้านบาท ติดลบ 96% มีมาตรการควบคุมดูแล ด้าน นายวิชิต ประกอบโกศล นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวต่อว่า ตั้งแต่เกิดการระบาดโควิด-19 จนถึงปัจจุบัน ผ่านไปแล้วกว่า 6 เดือน สถานการณ์ของธุรกิจนำเที่ยวขาเข้า (อินบาวด์) ยังไม่ดีอย่างต่อเนื่อง แม้ว่ารัฐบาลจะผ่อนคลายด้วยการอนุญาตให้ชาวต่างชาติบางกลุ่ม เช่น แขกของรัฐบาล นักธุรกิจ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศได้ แต่คนกลุ่มนี้มีสัดส่วนเพียง 5% ของชาวต่างชาติ ที่เดินทางเข้าไทยทั้งหมดเท่านั้น ส่วนที่เหลืออีก 95% คือ นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าไทย ดังนั้นในการดำเนินงานต่อไปของภาครัฐบาล ควรเร่งพิจารณาแนวทางการจับคู่ท่องเที่ยวระหว่างกัน (Travel Buble) กับประเทศที่มีความเสี่ยงโควิด-19 ต่ำ และมีการกำหนดโปรแกรมท่องเที่ยวแบบตายตัว มีมาตรการควบคุมดูแล และมีใบรับรองแพทย์ถึงการไม่ติดเชื้อโควิด-19 โดยมีการซื้อประกันก่อนการเดินทาง พร้อมตรวจหาเชื้อซ้ำที่เมืองไทยอีกครั้ง เพื่อเปิดทางให้ธุรกิจท่องเที่ยวไทยได้ทำมาหากิน ให้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือฟื้นฟูเศรษฐกิจต่อไป ทั้งนี้ในปี 2563 คาดการณ์ว่า น่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยไม่เกิน 10 ล้านคน แต่ถ้าหากรัฐบาลไม่มีมาตรการกระตุ้นตลาดต่างชาติ ก็น่าจะส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปีอาจเหลือเพียง 8 ล้านคนเท่านั้น โดยในจำนวนนี้น่าจะสร้างรายได้ให้กับภาคท่องเที่ยวประมาณ 4 แสนล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดต่างชาติมาเที่ยวไทยในปีนี้หายไปกว่า 1.6 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบกับรายได้ของปี 2562 ซึ่งทำได้ประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท ทำเส้นทางทัวร์ที่มีคุณภาพ ในส่วน นายภูริวัจน์ ลิ้มถาวรรัตน์ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) กล่าวว่า ในส่วนของนักท่องเที่ยวที่จะกลับมาหลังจากใช้โครงการเที่ยวปันสุขฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภาคการท่องเที่ยวแบ่งออกเป็น 2 มุม คือ ในมุมนักท่องเที่ยวทั่วไปก็น่าจะมีการเดินทางมากขึ้น เนื่องจากไม่มีมาตรการบังคับเหมือนช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาด แต่การท่องเที่ยวเวลานี้ก็จะไม่เหมือนเหมือนปีที่ผ่านๆ มา เนื่องจากนักท่องเที่ยวจะออกเดินทางในแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมใกล้ๆ กรุงเทพฯในระยะ 300 กิโลเมตร โดยเฉพาะจังหวัดริมทะเลจะได้รับความนิยมมาก เช่น ชลบุรี บางแสน จันทบุรี ระยอง ตราด เสม็ด เกาะล้าน ซึ่งคาดว่าในไตรมาสที่ 3 เข้าสู่โลว์ซีซั่นจะมีการเดินทางท่องเที่ยวประมาณ 20-30% ขณะที่ แพ็กเกจกำลังใจ ที่มีกรอบวงเงิน 2,400 ล้านบาท เป็นการขอบคุณ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ซึ่งเป็นผู้ที่เสียสละในการทำงานอย่างหนักและเป็นผู้ที่มีส่วนช่วยให้ประเทศไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยสนับสนุนค่าใช้จ่ายเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไม่เกินคนละ 2,000 บาท สำหรับการเดินทาง 2 วัน 1 คืนนั้น ถ้าจะทำเส้นทางทัวร์ที่มีคุณภาพ จำนวนเงินที่ให้มาค่อนข้างจะน้อยเกินไป ซึ่งในเรื่องนี้ นายภูริวัจน์ กล่าวว่า ได้มีการพูดคุยกับทางภาครัฐไปแล้วถึงแพ็กเกจกำลังใจถ้าดำเนินการไป 1 เดือน มีเสียงตอบรับค่อนข้างน้อย ก็จะต้องกลับมาหารือกันใหม่ เพราะจากการตรวจสอบกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ไปทางสาธารณสุขจังหวัด พบว่า กลุ่มอสม.ส่วนใหญ่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป น่าจะเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการใช้โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ๆ และ ใช้งานในระบบดังกล่าวผ่านแอปพลิเคชั่นต่างๆ ทุกขั้นตอน และน่าจะส่งผลถึงการตัดสินใจออกเดินทางในครั้งนี้พอสมควร