นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แม้ไทยจะไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศมากว่า 1 เดือน และมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ แต่ด้วยมาตรการเฝ้าระวัง เช่น การรักษาระยะห่างทางสังคม การระงับการบินระหว่างประเทศ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ทางศูนย์งานวิจัยกรุงศรีอยุธยาคาดการณ์ถึงเศรษฐกิจไทยในปีนี้น่าจะหดตัว 10.3% ซึ่งต่ำกว่าช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชียปี 2541 แต่เศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวและเติบโตที่ 2.9% ในปี 2564
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกที่พุ่งขึ้นเกิน 10 ล้านราย และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งความเสี่ยงของการเกิดการระบาดรอบสองในหลายประเทศ อาจทำให้การบังคับใช้มาตรการห้ามเที่ยวบินระหว่างประเทศนานกว่าที่คาดไว้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก เนื่องจากประเทศไทยพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวในสัดส่วนที่สูง จึงเป็นหนึ่งในประเทศที่ค่อนข้างจะได้รับผลกระทบของโควิด-19 เป็นอย่างมาก โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาไทยในปีนี้จะลดลงถึง 83% แม้จะมีการเปิดประเทศด้วยการท่องเที่ยวแบบจับคู่เดินทาง (Travel Bubble Policy) แต่คาดว่าถึงกลางปี 2564 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติก็ยังคงน้อยกว่า 1 ล้านคนต่อเดือน
โดย นายสมประวิณ กล่าวต่อว่า จากการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และผลกระทบทางลบที่ส่งต่อไปยังธุรกิจหลายภาคส่วน อาจทำให้แรงงานในไทยประมาณ 80% ได้รับผลกระทบในช่วงที่มีการระบาดหนักของโควิด-19 จากเดิมคาดไว้ที่ 50% และในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ น่าจะยังมีแรงงานที่ได้รับผลกระทบประมาณ 30% จากเดิมคาดไว้ที่ 10% ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของครัวเรือนและความสามารถในการใช้จ่ายของประชาชน
ส่วนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาสู่ระดับต่ำสุดที่ 0.5% และการผ่อนคลายมาตรการทางการเงินต่างๆ น่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจได้บางส่วน อย่างไรก็ตาม หลังจากพ้นช่วงเวลาของมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs คาดว่าหนี้สินของภาคธุรกิจและหนี้สินของภาคครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นเป็นลำดับต่อไป ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเลิกจ้างงานและภาคการเงินของประเทศ
อย่างไรก็ตาม นายสมประวิณ กล่าวต่อว่า นอกจากการระบาดของโควิด-19 ในปีนี้ที่คาดว่าจะฉุดให้เศรษฐกิจไทยหดตัว 10.6% ยังมีเรื่องของความล่าช้าด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและปัญหาภัยแล้งน่าจะส่งผลให้การเติบโตของ GDP ลดลงไปอีก 1% และ 0.4% ตามลำดับ แม้จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทยอยออกมา ซึ่งคาดว่าจะหนุนให้เศรษฐกิจโตได้ประมาณ 1.7%
ถึงกระนั้นนโยบายการเงินและการคลังที่ประกาศออกมาอาจจะไม่เพียงพอในการยับยั้งการถดถอยของเศรษฐกิจ และอาจไม่มากพอที่จะกระตุ้นให้การเกิดการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนและการลงทุนของภาคเอกชน โดยศูนย์วิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยา มองว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวในรูปแบบตัวยู (U-shaped Recovery) แต่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะเปลี่ยนไปเป็นการฟื้นตัวแบบตัวแอล (L-shaped Recovery) จากการระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงและยาวนานเกินกว่าที่คาดไว้