นาง ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โรงแรมดุสิตธานีเป็นหนึ่งในตำนานอาคารสถาปัตยกรรมโมเดิร์นยุคแรกๆ ของเมืองไทยที่ก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2510 ออกแบบโดยสถาปนิกชาวญี่ปุ่นซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ผสมผสานเอกลักษณ์ไทยและความเป็นสากลเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืนและโดดเด่น เคยเป็นอาคารที่สูงที่สุดในประเทศไทย ออกแบบและตกแต่งทันสมัยที่สุดในยุคนั้น แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป โจทย์ของธุรกิจโรงแรมเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ดังนั้นเพื่อสร้างประสบการณ์อันเหนือระดับให้แก่ลูกค้าให้สมกับการเป็นโรงแรมระดับโลกในทศวรรษใหม่ จึงต้องทุบทิ้ง และดีไซน์รูปแบบของโรงแรมขึ้นมาใหม่ โดยอยู่ภายใต้การวิเคราะห์ถอดรหัส และวิจัย เพื่อศึกษาแนวความคิดการออกแบบจาก คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผศ.ดร.ไธพัตย์ ภูชิสส์ชวกรณ์ ทั้งนี้ได้มีการวิเคราะห์ถอดรหัส และวิจัย เพื่อศึกษาแนวความคิดการออกแบบโรงแรมดุสิตธานี โดย ผศ.ดร.ไธพัตย์ ภูชิสส์ชวกรณ์ ภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ศึกษาวิจัยและถอดรหัสการออกแบบโรงแรมดุสิตธานี กล่าวถึงการออกแบบโรงแรมดุสิตธานี ว่า มีความน่าสนใจที่จะทำการศึกษา วิเคราะห์และตีความหลายประการด้วยกัน นับตั้งแต่ที่มาของแนวความคิดในการออกแบบ ตลอดจนรูปแบบที่ปรากฏ ทั้งภายในภายนอก รวมไปถึงการแฝงไว้ซึ่งคติสัญลักษณ์ที่เชื่อมโยงมาจากวัฒนธรรมความเชื่อของชาวไทย ที่ได้มีปรากฏอยู่ในการออกแบบของ โยโซ่ ชิบาตะสถาปนิกชาวญี่ปุ่นผู้ออกแบบโรงแรมดุสิตธานีครั้งแรก ที่ได้ผสมผสานความเป็นไทยในหลากหลายมิติ ทั้งรูปแบบสถาปัตยกรรม คติความเชื่อ และวัฒนธรรมค่านิยม ออกมาเป็นสถาปัตยกรรมแบบ modern architecture ของเมืองไทยในยุคนั้น เพราะนอกจากได้แรงบันดาลใจจากพระปรางค์วัดอรุณแล้ว แนวคิดการออกแบบในแง่ความทันสมัยเป็นสากลนั้น สถาปนิกได้เชื่อมโยงเข้ากับชื่อ ดุสิตธานี ซึ่งเป็นเมืองจำลองประชาธิปไตยที่รัชกาลที่ 6 ทรงสร้างขึ้น ส่วนในแง่ความเป็นไทย คือการจำลองสวรรค์ชั้นดุสิตมาสู่งานออกแบบนั้นเอง ดีไซน์ใหม่ของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ส่วน ดีไซน์ใหม่ของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566 ออกแบบโดยบริษัท สถาปนิก 49 จำกัด ภายใต้แนวคิดหลักคือการสืบสานคุณค่าดั้งเดิม ตลอดห้าทศวรรษที่ผ่านมาของโรงแรมดุสิตธานี โดยตีความและออกแบบเป็นอาคารสถาปัตยกรรมหลังใหม่ ผ่านชุดข้อมูลและงานวิจัยของคณาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อนำความทรงจำและความเรืองรองของตำนาน 50 ปีที่แล้ว มาสู่การเริ่มต้นประวัติศาสตร์ยุคที่ 2 โดยลดทอนรายละเอียดให้เรียบง่าย เน้นเส้นสายและรูปทรงเรขาคณิต แต่ยังคงไว้ซึ่งความสูงค่า สง่างาม ควบคู่ไปกับความทันสมัยที่เต็มไปด้วยศักยภาพของทำเลที่ตั้งย่านธุรกิจใจกลางเมือง และเป็นจุดเชื่อมต่อของโครงข่ายรถไฟฟ้าและรถไฟใต้ดิน  ซึ่ง นายสมเกียรติ โล่ห์จินดาพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สถาปนิก 49 จำกัด กล่าวว่า พื้นที่ 23 ไร่แห่งนี้จะประกอบด้วยกลุ่มอาคารสูง 3 อาคาร เป็นการออกแบบประโยชน์ใช้สอยในลักษณะมิกซ์ยูส ซึ่งเป็นไปตามศักยภาพของทำเลที่ตั้ง โดยประกอบด้วยโรงแรม ห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน และอาคารที่พักอาศัย ภาพรวมของโครงการทั้งหมดยังคงเจตนารมณ์ดั้งเดิมของการก่อตั้งโรงแรมดุสิตธานี คือการออกแบบสถาปัตยกรรมระดับไอคอนิก โดยนอกจากรูปทรงและรายละเอียดภายในอาคารแล้ว กลุ่มอาคารสูง ได้แก่ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ จะเป็นอาคารสีทอง เซ็นทรัล พาร์ค ออฟฟิศเซส จะเป็นอาคารสีเทา และดุสิต เรสซิเดนเซส จะเป็นอาคารสีพิงค์โกลด์ เปรียบเสมือนอัญมณีสามกษัตริย์ ใจกลางแยกพระราม 4 – สีลม ซึ่งเมื่อมองจากทางอากาศ โครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์คจะโดดเด่น ไม่กลืนไปกับหมู่อาคารอื่นๆ โดย โครงสร้างสถาปัตยกรรมของโรงแรมดุสิตธานีใหม่ จะใช้รูปแบบคล้ายตึกเดิมซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนฐาน คือล็อบบี้ ห้องอาหาร และห้องนภาลัยบอลรูม ส่วนตัวอาคารคือห้องพักจำนวน 259 ห้อง จากเดิม 510 ห้อง และส่วนยอดเป็นรูฟท็อปบาร์ และยอดแหลมสีทองอันเป็นเอกลักษณ์ของโรงแรมดุสิตธานี ออกแบบในรูปทรงเดิมทุกประการ แต่ขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อให้มีสัดส่วนเหมาะสมกับอาคารที่ใหญ่กว่าเดิม โดยยอดเสาเดิมจะถูกติดตั้งไว้ภายใน แล้วนำยอดเสาใหม่ครอบลงไป ในเวลาค่ำเมื่อเปิดไฟ จะมองเห็นเสาเดิมที่อยู่ด้านใน  สำหรับ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ จะสร้างเสร็จและเปิดใช้เป็นอาคารแรกในปี 2566 โดยเอกลักษณ์และความสง่างามดั้งเดิมจะยังคงได้รับการอนุรักษ์ไว้ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการนำของเดิมมาใช้ และการตีความแล้วออกแบบใหม่ให้ร่วมสมัย ซึ่งนอกจากจะผสานอยู่ในทุกรายละเอียดของอาคารใหม่แล้ว เรื่องราวที่เป็นเสมือนบันทึกหน้าหนึ่งของวงการโรงแรมและวงการสถาปัตยกรรมเมืองไทย จะจัดทำเป็น Heritage Floor โดยนำรายละเอียดการออกแบบทั้งหมดที่มหาวิทยาลัยศิลปากรทำงานวิจัย ถอดรื้อ และเก็บหลักฐานไว้ก่อนทุบอาคาร มาจัดทำเป็นชั้นนิทรรศการถาวรเพื่อการศึกษาต่อไป