รายงาน: พื้นที่ดินเปรี้ยวจัดทั่วไทยใช้ปลูกผักกูดได้ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศึกษาพร้อมสร้างแปลงสาธิต พบลงทุนน้อยเพียงครั้งเดียวเก็บยอดขายได้หลายปี มีกำไรอย่างต่อเนื่อง พร้อมขยายผลสู่การรับรู้ของผู้สนใจนำไปปฏิบัติใช้ในพื้นที่ที่ดินเปรี้ยวจัด ไม่เหมาะปลูกพืชชนิดอื่นๆ
นางสายหยุด เพ็ชรสุข ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส เปิดเผยว่า ศูนย์ฯ ได้จัดทำแปลงสาธิตในการปรับปรุงดินในสภาพดินเปรี้ยวจัดให้สามารถทำการเพาะปลูกได้ในหลายชนิดพืชที่นิยมปลูกในพื้นที่ภาคใต้ และประสบความสำเร็จสามารถขยายผลสู่การปฏิบัติใช้ของราษฎรในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง และหนึ่งในนั้นก็มีการปรับปรุงดินเปรี้ยวจัดเพื่อใช้ปลูกผักกูด พืชประเภทผักเพื่อสุขภาพที่นิยมบริโภคของคนไทยในปัจจุบัน
การเตรียมพื้นที่เนื่องจากดินเปรี้ยวจัดและเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อปลูกผักกูดนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องขุดยกร่อง เพื่อยกแปลงให้สูงขึ้นป้องกันน้ำท่วม โดยวางแนวร่องให้เหมาะสม ความกว้างของร่องปลูกและร่องน้ำขึ้นอยู่กับพื้นที่นั้นๆ ขั้นแรกทำการปาดหน้าดินบริเวณสันร่องและร่องคูมาวางกลางสันร่อง แล้วขุดดินบริเวณร่องคูในระดับดินล่างลึกไม่เกิน 1 เมตร มาวางไว้บริเวณขอบนอกของสันร่องเพื่อควบคุมระดับน้ำไม่ให้ต่ำกว่าชั้นดินล่าง (ดินเลน) จากนั้นเตรียมหลุมปลูกด้วยการขุด ขนาดความกว้าง x ยาว x ลึกเท่ากับ 30 x 30 x 20 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างแถว ประมาณ 20 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างต้น 20 เซนติเมตร ให้หว่านหินปูนฝุ่นบริเวณสันร่องประมาณ 2 - 3 ตันต่อไร่ และในหลุมปลูกให้ผสมดินปนกับปุ๋ยหมักในอัตรา 5 กิโลกรัมต่อหลุม
การเตรียมต้นผักกูดเพื่อนำมาปลูก ให้นำต้นพันธุ์ผักกูดที่แตกหน่อจากต้นแม่ตัดส่วนใบออกแล้วนำไปปลูกลงตรงกลางหลุมที่เตรียมไว้ ควรปลูกหลังจากทำการปรับปรุงดินแล้วประมาณ 15 วัน ทำร่มเงาภายในแปลงโดยใช้ตาข่ายพรางแสง ซึ่งในการเลือกใช้ตาข่ายพรางแสงนั้นจะขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ หากเป็นพื้นที่โล่งแจ้งไม่มีร่มเงาควรใช้ตาข่ายพรางแสงที่ประมาณ 70% หากเป็นพื้นที่ที่มีร่มเงาอยู่แล้ว ควรใช้ตาข่ายพรางแสงที่ประมาณ 60% เพื่อช่วยลดการระเหยของน้ำช่วยรักษาความชื้นให้กับต้นผักกูด พร้อมช่วยให้ประหยัดน้ำและเวลาในการรดน้ำได้ ทำให้ยอดผักแตกยอดออกมาดีและเร็ว
“ผักกูดสามารถปลูกร่วมกับพืชชนิดอื่นๆ ได้ เช่น การปลูกร่วมกับกล้วย เพราะรากกล้วยสามารถเก็บความชุ่มชื้นให้กับดินได้ดี และใบกล้วยยังช่วยในการพรางแสงให้ผักกูด แต่ต้องให้น้ำช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับดิน ส่วนการดูแลรักษาหลังปลูกให้ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 และสูตร 46-0-0 ในอัตรา 12.5 กิโลกรัมต่อพื้นที่ 1 ไร่ โดยใส่ปุ๋ยทุกๆ 3 เดือน กำจัดวัชพืช โดยการถอนหญ้าในแถวผักกูดและตัดหญ้าบริเวณขอบร่องเดือนเว้นเดือน ให้น้ำ 2 เวลาต่อวัน คือ ช่วงเช้าและช่วงบ่าย เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น เนื่องจากผักกูดจะเจริญเติบโตได้ดีในสภาพดินที่ชื้นแฉะ พร้อมตัดแต่งก้านใบทุกๆ 4 เดือน” นางสายหยุด เพ็ชรสุข กล่าว
ผู้อำนวยการศูนย์ฯ เผยถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิตว่า เกษตรกรสามารถเก็บยอดผักกูดได้เมื่อผักกูดอายุประมาณ 7 เดือน และเก็บได้ทุกๆ 3 วัน หรือเลือกเก็บผักกูดที่มีลำต้นอวบและหน้างอ โดยการหัก หากยอดอ่อนจะหักได้ง่าย ก้านจะกรอบ สามารถเก็บได้ต่อเนื่อง เมื่อผักกูดอายุครบ 1 ปี ให้ใช้เท้าเหยียบแปลงหรือล้มต้นเก่า เพื่อให้ยอดอ่อนแตกใหม่ โดยไม่ต้องปลูกต้นใหม่พร้อมใส่ปุ๋ยปรับปรุงดินตามขั้นตอนการดูแลรักษาที่กล่าวมา
ทั้งนี้ จากการปลูกผักกูดในพื้นที่ 1 ไร่ โดยการวิจัยของแปลงสาธิตการปลูกผักกูดภายในศูนย์ฯ พบว่า ผักกูดสามารถให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า ตั้งแต่ปีแรกที่ดำเนินการปลูก โดยปีที่ 1 ค่าลงทุนอยู่ที่ประมาณ 13,240 ประกอบด้วย ขุดยกร่อง 10,000 บาท ค่าวัสดุปรับปรุงดินใช้ประมาณ 1.8 ตันราคา 3,240 บาท ค่าปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี 870 บาท ค่าปุ๋ยเคมีสูตร 46-0-0 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปีประมาณ 1,150 บาท ค่าปุ๋ยคอก อัตรา 66 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปีราคาประมาณ 165 บาท ค่าดูแลรักษาประมาณ 1,000 บาท รวมค่าลงทุนที่ประมาณ 17,425 บาทต่อปี โดยผลผลิตในปีแรกจะเก็บได้ประมาณ 900 กิโลกรัม และในปีต่อไปจะเก็บได้เพิ่มมากขึ้น รายได้โดยรวมในปีแรกจะอยู่ที่ประมาณ 22,500 บาท ในปีที่ 2 ประมาณ 60,000 บาท ปีที่ 3 ประมาณ 75,000 บาท ปีที่ 4 ประมาณ 90,000 บาท และปีต่อๆ ไป จะเก็บเกี่ยวได้เพิ่มมากขึ้น หากมีการปรับปรุงบำรุงรักษาเพื่อให้ผักกูดมีการแตกยอดอย่างต่อเนื่องตามกรรมวิธีที่กล่าวมาข้างต้น
สำหรับพื้นที่ที่ดินมีลักษณะเปรี้ยวในประเทศไทย ส่วนใหญ่พบกระจายอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง และบริเวณชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร สระบุรี สมุทรปราการ สุพรรณบุรี นครปฐม ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี ชลบุรี และจันทบุรี นอกจากนี้บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกภาคใต้ ได้แก่ บริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส อย่างไรก็ดี พื้นที่เหล่านี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดิน หรือมีการระบายน้ำออกจากพื้นที่ในรูปแบบต่างๆ เพื่อเอื้อต่อการเพาะปลูกพืช หากสนใจปลูกผักกูดสามารถทำได้ตามข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น
เกษตรกรหรือผู้สนใจสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่คลิปวีดีโอช่อง YouTube SARA-D วิถีเกษตร กับศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ทาง URL: https://youtu.be/AHtn3Uwlglo ในหัวข้อ “การปลูกผักกูด ในพื้นที่ดินเปรี้ยวจัด”