วารินทร์ พรหมคุณ หมายเหตุ - ที่โรงแรมรอยัล ภูเก็ต ซิตี้ จ.ภูเก็ต เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)ได้จัดการประชุมแถลงแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579ภาคใต้ โดย ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมช.ศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดประชุมและปาฐกถาพิเศษ "แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579กับการขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0" @ น้อมนำศาสตร์พระราชา 5 ประการ โดย ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล่าวถึง "ศาสตร์พระราชากับการพัฒนาการศึกษา" ความว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยเรื่องการศึกษาอย่างมาก โดยทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ พร้อมด้วย รมช.ศึกษาธิการ เข้าเฝ้าฯ และทรงมีพระราชดำรัสต้องการเห็นมหาวิทยาลัยราชภัฏแต่ละแห่งมีความโดดเด่นในแต่ละสาขาวิชา ให้เป็นที่กล่าวขานหรือเป็นที่ยอมรับ ขณะที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำรัสแก่ข้าราชการ และประชาชนที่ จ.พะเยา ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9ทรงใส่พระราชหฤทัยเรื่องการศึกษาเป็นอย่างมากเรื่องโรงเรียนคุณธรรม อยู่ในดวงพระราชหฤทัย จึงเป็นสิ่งที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 มีพระราชปณิธาน ต้องการเห็นครู อาจารย์ ช่วยกันสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่9 "พระราชดำรัสของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ใครก็ตามเมื่อได้รับฟังแล้วจะรู้สึกซาบซึ้งใจอย่างมาก คือ ตลอดรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีรับสั่งถึงเรื่องโรงเรียนคุณธรรมอย่างมาก ดังนั้น ผมจึงขอฝากให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ช่วยกันขับเคลื่อนแผนการศึกษาชาติระยะ 20ปี ให้คนไทยได้รับการศึกษาเรียนรู้ตลอดเวลา โดยนำศาสตร์พระราชา5ประการ ได้แก่ 1.ความพอเพียง 2.ความซื่อสัตย์สุจริต3.ความรับผิดชอบ4.ความกตัญญู และ5.ความมีคุณธรรมจริยธรรม มาขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมโดยมุ่งเน้นคุณภาพนักเรียน ให้เป็นเด็กดี รักพ่อแม่ เคารพครูอาจารย์ และขยันหมั่นศึกษา ตาม พระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" รมช.ศึกษาธิการ กล่าวและว่า อีกเรื่องที่ขอฝาก คือ เวลานี้เด็กเขียนย่อความไม่ค่อยเป็น ทั้งที่การย่อความเป็นหัวใจของการเรียนรู้ จึงขอให้ฝึกเด็กทุกวันอย่างน้อย15นาที รวมถึงขอฝากโรงเรียน ผู้บริหาร และครูว่าอย่าทิ้งเรื่องของการโฮมรูม เพราะครูแนะแนวยังมีความสำคัญและจำเป็นอยู่ @ สกศ. พร้อมเดินหน้า 3 ภารกิจ ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการ สกศ. กล่าวว่า ภารกิจ สกศ.พร้อมสนองนโยบายด้านการศึกษาภายหลังคณะรัฐมนตรี(ครม.) แต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งนอกเหนือจากขับเคลื่อนแผนการศึกษาชาติ ระยะ 20 ปีตามกรอบดำเนินงานที่มีอยู่แล้ว สกศ. พร้อมเดินหน้า 3 ภารกิจร่วม ประกอบด้วย 1.ร่วมปฏิรูป ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการอิสระฯ ที่มีผู้แทนจากภาคธุรกิจและบุคคลภายนอกกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) 2.ร่วมสร้างสรรค์โดยขับเคลื่อน 5 เรื่องสำคัญคือ การจัดตั้งกองทุนพัฒนาการศึกษา ที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี และอีก 4 เรื่อง ต้องขับเคลื่อนให้เกิดเป็นรูปธรรมภายใน 2 ปี เช่น การจัดทำแผนการศึกษาปฐมวัย การจัดทำแผนผลิตและพัฒนาครูทั้งระบบ การปรับหลักสูตรการเรียนการสอน ทุกระดับตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับอุดมศึกษา รวมทั้งการปรับโครงสร้างใหม่ ศธ. ตามความจำเป็น และ 3.ร่วมพัฒนา ซึ่งรัฐธรรมนูญ ได้บัญญัติแนวทางการยกระดับและพัฒนาการศึกษาชาติ ว่าทุกหน่วยงานจัดการศึกษาจึงต้องขับเคลื่อนตาม 6 ยุทธศาสตร์ของแผนการศึกษาแห่งชาติ ภายใต้วิสัยทัศน์ คนไทยทุกคนได้รับการศึกษา และเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ ดำรงชีวิตอย่างเป็นสุข สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 @ ไม่มีสิ่งใดปิดกั้นการเรียนรู้ ขณะที่ ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดี ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาเฉพาะกิจ ด้านจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ กล่าวว่า แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579เป็นแผนของประชาชนทุกคน ซึ่งจัดทำโดยยึดตามแนวทางประชาธิปไตย และนโยบายรัฐบาลและ ครม. เพื่อร่วมกันสร้างคน สร้างชาติ และขับเคลื่อนประเทศไทยให้สามารถ ก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง และสอดรับกับบริบทการเปลี่ยนแปลงของโลกศตวรรษที่ 21 ดังนั้น ระบบการศึกษาที่เปลี่ยนไป สถานภาพของครูก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปเป็นการชี้แนะแนวทางชีวิต ไม่ใช่แค่สอนความรู้แก่ผู้เรียนเท่านั้น การปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 รวมถึงการปฏิวัติดิจิทัล ที่เน้นการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งต้องการทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพสูงสามารถยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขัน เปิดโอกาส สร้างความเท่าเทียม ไม่มีสิ่งใดปิดกั้นการเรียนรู้ของทุกคนได้อีกต่อไป @ เด็กไทยเป็น 4 โรคหลัก ผศ.ดร.ณรงค์ พุทธชีวิน อดีตรองประธานกรรมาธิการการปฏิรูปการศึกษา สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปท.) กล่าวว่า คนคือทรัพยากรที่มีคุณค่ามากที่สุด ในการขับเคลื่อนแผนการศึกษาชาติ ในอดีตปรากฏการณ์การจัดทำแผนจะเป็นเรื่องของพิธีกรรม การจัดทำเอกสาร เพื่อให้มีแผนเท่านั้น แต่ไม่สามารถขับเคลื่อนแผนสู่การปฏิบัติได้ เด็กไทยจึงเป็น 4 โรคหลัก คือ สมาธิสั้น มองโลกแง่ร้าย อยากอยู่คนเดียว และขาดความสุข ซึ่งเป็นผลมาจากระบบการศึกษาที่ล้มเหลว ดังนั้น เมื่อมีแผนการศึกษาชาติระยะ 20 ปีแล้ว ทุกภาคส่วน ทุกหน่วยงานต้องรุมกันจัดการศึกษาเพราะการศึกษาเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ใช่เรื่องของครูอาจารย์ หรือโรงเรียนที่จะเป็นพระเอกคนเดียว "ปรากฏการณ์การศึกษายุคใหม่ ไม่ใช่เรื่องของวุฒิ แต่เป็นเรื่องของสมรรถนะ สถานประกอบการจะไม่ถามแล้วว่าจบระดับไหนแต่จะถามว่าทำอะไรเป็นบ้าง เพราะฉะนั้นการเรียนรู้ไม่ใช่แค่การมานั่งเรียนในห้องเรียนอีกต่อไป จำเป็นต้องมีการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนอย่างเหมาะสมกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยยิ่งขึ้น สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา มีการทำแผนที่ดี และมีเป้าหมายที่ชัดเจนโดย ต้องเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมจัดทำแผนโดยยึดโยงกับแผนการศึกษาแห่งชาติ อย่าปล่อยให้แผนการศึกษาเป็นเรื่องที่อยู่บนหิ้งอีกต่อไป ที่สำคัญมหาวิทยาลัยในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยเดิม หรือมหาวิลัยตังใหม่ ก็สามารถเป็นพี่เลี้ยงชั้นดีในการส่งเสริมขับเคลื่อนแผนประสบความสำเร็จได้"ผศ.ดร.ณรงค์ กล่าว @ ท้องถิ่นพัฒนาสมรรถนะเด็ก น.ส.สมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าวว่า การจัดการศึกษาของเทศบาลนครภูเก็ต สอดคล้องกับแผนการศึกษาชาติ 20 ปี โดยได้ร่วมมือกับสภาการศึกษาจังหวัด และผู้ประกอบการพื้นที่ ซึ่งต้องการเด็กที่มีความอดทน และมีคุณธรรมจริยธรรมให้ความสำคัญกับคนดีมากกว่าคนเก่ง ท้องถิ่นยังต้องการแรงงานที่มีสมรรถนะสูง เทศบาลริเริ่มใช้โปรแกรมสารสนเทศเพื่อการศึกษานำมาเป็นฐานข้อมูลการแก้ไขปัญหาการศึกษาของสถานศึกษาในพื้นที่ เพื่อพัฒนาสมรรถนะเด็กให้มีความเป็นเลิศ และสามารถชี้แนะแนวทางการประกอบอาชีพในอนาคตได้ รวมทั้งการใช้งบประมาณจัดการศึกษาได้อย่างตรงจุด และเกิดประสิทธิภาพประสิทธิผลสูงสุด นำไปสู่การจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาจังหวัดภูเก็ต และได้รับความร่วมมืออย่างดีจากสถาบันอุดมศึกษา ผู้ประกอบการ ภาคเอกชน เครือข่ายการศึกษาต่าง ๆ ในพื้นที่ขับเคลื่อนการศึกษาร่วมกัน ------------------- "...4 โรคหลัก คือสมาธิสั้น มองโลกแง่ร้าย อยากอยู่คนเดียว และขาดความสุข..." -------------------