“ศิลปาชีพเกาะเกิด-สีบัวทอง”สร้างบันไดนาคพระเมรุมาศ เปรียบสะพานสายรุ้งส่งเสด็จสู่สวรรค์ “พญาอนันตนาคราช” 7 เศียรตกแต่งชั้น 4 ต้นแบบปราสาทพระเทพบิดร วัดพระแก้ว นร.ศิลปาชีพฯรวมใจสุดฝีมือทำถวายสมพระเกียรติ คาดต้นแบบบันไดนาคเสร็จเดือนมิ.ย. เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 60 นายสุดสาคร ชายเสม ผู้ออกแบบและควบคุมการจัดสร้างราวบันไดนาคประติมากรรมประดับพระเมรุมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิอดุลยเดช กล่าวว่า กรมศิลปากร โดยนายสมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร นายช่างศิลปกรรมอาวุโส กลุ่มงานศิลปประยุกต์และเครื่องเคลือบดินเผา สำนักช่างสิบหมู่ ได้มอบหมายให้ศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด จ.พระนครศรีอยุธยา และศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง จ.อ่างทอง ดำเนินการจัดสร้างราวบันไดนาคพระเมรุมาศ เพราะมีทักษะความสามารถด้านช่างฝีมือ มีประสบการณ์จัดสร้างฉากโขนพระราชทานกว่า 10 ปี โดยตนเป็นผู้ออกแบบและควบคุมทุกขั้นตอนการจัดสร้างราวบันไดทั้ง 4 ชั้น ชั้นละ 8 นาค รวมทั้งสิ้น 32 นาค โดยยึดหลักแนวคิดในการออกแบบอย่างยิ่งใหญ่ สมพระเกียรติ ถวายแด่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ยึดความเชื่อเรื่องพญานาคเป็นสัญลักษณ์ของน้ำและเสมือนสะพานสายรุ้งเชื่อมโลกมนุษย์กับโลกสวรรค์ การสร้างพระเมรุมาศในครั้งนี้เป็นการส่งเสด็จพระองค์ท่านสู่สรวงสวรรค์ นายสุดสาคร กล่าวอีกว่า งานสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศ นายก่อเกียรติ ทองผุด นายช่างศิลปกรรมชำนาญงาน สำนักสถาปัตยกรรม ผู้ออกแบบพระเมรุมาศ ออกแบบมีบันไดทั้งสี่ด้าน มี 4 ชั้น โดยให้ตนออกแบบรูปแบบแตกต่างกัน นำมาสู่การศึกษาและค้นคว้าข้อมูลรูปแบบนาคที่งดงาม โดยใช้ต้นแบบงานช่างไทยชั้นครูทั้ง 4 ชั้น สำหรับชั้นที่ 1 นาค 1 เศียร รูปแบบรัตนโกสินทร์ ต้นแบบเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช จัดสร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 ขนาดยาว 1.50 เมตร ขณะนี้ทำพิมพ์ยาง ประกอบและพ่นสีทองเสร็จแล้วส่วนหนึ่ง อยู่ในขั้นตอนการประดับเลื่อม บันไดพระเมรุมาศชั้นที่ 2 เป็นนาค 3 เศียร คชนาค ออกแบบอ้างอิงจากประติมากรรมนาคพบที่เตาแม่น้ำน้อย วัดพระปรางค์ จ.สิงห์บุรี ความยาว 2.50 เมตร อยู่ในระหว่างการปั้นแต่งเก็บรายละเอียดต้นแบบให้มีชีวิตชีวา ชั้นที่ 3 นาค 5 เศียร เป็นพญาวาสุกรีนาคราช ต้นแบบจากราวบันไดนาควัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร จ.สระบุรี นักวิชาการยกย่องว่ามีความงามอย่างไทยแท้ๆ นาคสวมมงกุฎยอดชัย โดยตัดทอนรูปแบบให้เหมาะสมและคงลวดลายดั้งเดิมมาสร้างต้นแบบราวบันไดชั้นนี้ ความยาวกว่า 3.35 เมตร และบันไดนาคชั้นที่ 4 ชั้นพระเมรุมาศประธาน ชั้นสำคัญที่สุดเป็นพญาอนันตนาคราช ต้นแบบจากปราสาทพระเทพบิดรในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นนาค 7 เศียร โดยแต่ละเศียรเป็นหน้าเทวดา ตามคัมภีร์พระนารายณ์บรรทมสินธุ์บนแท่นพญาอนันตนาคราช เพื่อถวายพระเกียรติแด่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ราวบันไดความยาว 5.10 เมตร ขณะนี้แบบบันไดนาค 4 ชั้นผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุมาศเรียบร้อยแล้ว ส่วนการลงสีราวบันไดนาคแต่ละชั้นจะยึดตามประติมานวิทยาและคติความเชื่อ อย่างไรก็ตาม จะมีการประชุมหารือรูปแบบวิธีการลงสีกับสำนักช่างสิบหมู่ นายสุดสาคร กล่าวอีกว่า ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดไม่ได้ในหลวง รัชกาลที่ 9 ตนและครู นักเรียนศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด จ.อยุธยา และศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง จ.อ่างทอง มากกว่า 50 คน จะจัดสร้างประติมากรรมราวบันไดนาคอย่างสุดความสามารถ สร้างสิ่งที่ดีที่สุดถวายพระองค์ท่านครั้งสุดท้าย ทั้งยังช่วยสืบสานประวัติศาสตร์ไทยและงานช่างไทย ที่โรยราเต็มที พระเมรุมาศองค์ประธานสถาปัตยกรรมตามหลักโบราณราชประเพณี บันไดพระเมรุมาศส่วนประกอบก็ควรเป็นรูปแบบไทยประเพณีเช่นกันเพื่อให้สมพระเกียรติและแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยให้ทั้งโลกได้ประจักษ์ “คาดว่าต้นแบบราวบันไดนาคทั้ง 4 ชั้น จะแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน เพื่อทำพิมพ์ยางซิลิโคนและหล่อไฟเบอร์กลาส ประกอบและลงสี ทุกขั้นตอนนักเรียนศิลปาชีพจะดำเนินการทั้งหมด เป็นงานที่ละเอียดอ่อนและยากมาก ตนจะควบคุมการทำงานให้ถูกต้อง คาดว่าภายในเดือนสิงหาคมนี้ จะแล้วเสร็จพร้อมนำไปติดตั้งประดับพระเมรุมาศ อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ได้ส่งแท่นราวบันไดที่หล่อแล้วเสร็จบางส่วนไปที่ท้องสนามหลวง เพื่อให้กรมศิลปากรสร้างฐานรับก่อนนำราวบันไดไปติดตั้งไว้ด้านบนด้วย” นายสุดสาคร กล่าว