บรรณาลัย เรื่องและรูป: อบเชยป่า รู้จักรากเหง้าเผ่าพันธุ์ไท ผ่านวัฒนธรรมข้าว (ตอน 1) เวลาที่ล่วงเลยผ่าน ยุคสมัยอันเร็วรี่ฉุดดึงเราให้พุ่งไปข้างหน้า ใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับเทคโนโลยีจนละเลยธรรมชาติ เป็นเหตุให้หลงลืม ต้นกำเนิด รากเหง้าเค้าความเป็นมาแต่ก่อนเก่าที่มีเรื่องราวให้เรียนรู้ไม่จบสิ้น รากข้าวหรือในที่นี้หมายถึงรากเหง้า หรือต้นกำเนิด ความเป็นมาของข้าวที่คนไทยเราหุงกินอยู่ทุกมื้อไป มีที่มาที่ไปอย่างไร สอดคล้องกับวิถีชีวิตและภูมิปัญญาดั้งเดิมที่สืบทอดผ่านวัฒนธรรมของบ้านเมืองเรามาจนทุกวันนี้อย่างไร เป็นเรื่องน่ารู้น่าสนใจอย่างยิ่ง คล้อยหลังแรกนาขวัญเพียงหนึ่งวัน ยามดีบ่ายสี่โมงเศษๆ ของเย็นวันเสาร์ที่ 13 พฤษภาคมที่ผ่านมา บริเวณทางเชื่อมด้านหน้าหอศิลป์ สถานีรถไฟฟ้า BTS และห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง ห้างสรรพสินค้าสยามดิสคัฟเวอรี่เป็นจุดเริ่มต้นของขบวนเซิ้งแห่บั้งไฟที่คึกคักสนุกสนาน เป็นขบวนเซิ้งจากคณะน้ำเต้าปุ้งวิเศษศิลป์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ออกมาร่ายรำทำเพลงประกอบเสียงพิณเสียงแคน ขึ้นไปจนถึงชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ ที่บริเวณ หน้าห้อง 408 เป็นบริเวณจัดกิจกรรมวิชาการชุด Rice of Southeast Asia : Origin of Tai Ancient Culture โดย SEA-Junction หรือชุมทางอุษาคเนย์ ชื่อเต็มคือ Southeast Asia Junction ร่วมกับเอเชียโทเปีย และนิตยสารทางอีสาน เปิดการบรรยายสาธารณะในหัวข้อ ต้นเค้าวัฒนธรรมไท ดึกดำบรรพ์ พร้อมด้วยเครือข่ายสนับสนุนอาทิ จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม สำนักพิมพ์ชนนิยม ฯลฯ มีมุมจำหน่ายของที่ระลึก หนังสือหนังหาน่าสนใจ เครื่องดื่มพร้อมของว่างไว้ให้จิบและรองท้อง ขบวนรำเซิ้งที่งดงามเต็มไปด้วยสีสันมาหยุดลงที่หน้าห้อง ก่อนเข้าสู่พิธีไหว้นาตาแฮก นำโดยหัวหน้าคณะ ยุทธพงศ์ มาตย์วิเศษ หรือจารย์ครูธรรมยอดแก้วของลูกศิษย์ลูกหา พ่วงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านวัฒนธรรมอีสาน จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม เป็นธรรมเนียมการเซ่นไหว้ผีที่ปกปักรักษาท้องไร่ท้องนา ก่อนเริ่มลงมือปักดำนั่นเอง บ้างเรียกพิธีปักกกแฮกก็มี จากนั้นจึงเข้าสู่บรรยากาศของการบรรยายพิเศษเป็นภาษาอังกฤษโดย ทองแถม นาถจำนง บก.นสพ.สยามรัฐรายวัน นักประวัติศาสตร์ นักเขียน กวี และนักปรัชญา มีจุมพล อภิสุข ศิลปินผู้บุกเบิกศิลปะแสดงสดในไทยเป็นผู้แปลสรุปประเด็นต่างๆ ให้ฟังกันอีกทีทั้งในภาคไทยและภาคอังกฤษ บอกเล่าความเป็นมาของวัฒนธรรมข้าว ตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ ก่อนที่ไทยเราจะรับเอาวัฒนธรรรมแบบพราหมณ์และพุทธศาสนาเข้ามามีบทบาทสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน รวมถึงเป็นรากเหง้าร่วมกันของกลุ่มภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออุษาคเนย์ทั้งหมด ทองแถม นาถจำนง กล่าวสรุปความเป็นมาจากการศึกษาเรื่องราวอารยธรรมข้าว และวัฒนธรรมของชนเผ่าไทมาอย่างยาวนานว่า รากเหง้าดั้งเดิมในกลุ่มวัฒนธรรมไททั้งหมด สรุปรวมอยู่ใน 5 คำ คือ ข้าว ผี แถน ขวัญ เงือก ข้าว : การผลิตข้าว กำหนดให้เกิดพิธีกรรมต่างๆ ในรอบ 12 เดือนสืบมา หรือที่ทางอีสานเรียก ฮีต 12 ผี : คือระเบียบโลกที่คนต้องเคารพ แถน : คือจ้าวแห่งผีที่ดูแลโลกและคน ขวันหรือขวัญ : คือตัวเชื่อมระหว่างความเป็นคนกับโลกธรรมชาติ มีผีเป็นตัวแทน เงือก : จ้าวแห่งน้ำ หรือปัจจุบันคือพญานาค ผู้ดูแลน้ำ และการเดินทางของผีขวัญของคนที่ตายแล้ว กลับไปเมืองแถน วัฒนธรรมก่อกำเนิดขึ้นมาจากวิถีการผลิตหรือวิถีทำมาหากิน เรื่องราวของวัฒนธรรมข้าวย้อนกลับไปได้ถึงอารยธรรมดึกดำบรรพ์ กลุ่มชนพื้นเมืองทางใต้ของจีนแผ่นดินใหญ่และแถบอุษาคเนย์ อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มมีน้ำมากเป็นหลัก จึงก่อเกิดวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน เช่น ประเพณีในแต่ละช่วงของการผลิตข้าว ธรรมเนียมการอยู่อาศัยบนบ้านเสาสูง มีวิถีชีวิตที่ผูกพันอยู่กับน้ำและมีความชำนาญทางเรือ เป็นต้น กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมข้าวร่วมกันนี้มีหลายชาติพันธุ์ หลายตระกูลภาษา กลุ่มชนวัฒนธรรมข้าวที่เป็นบรรพชนสายหนึ่งของชนเผ่าไท เป็นชนกลุ่มหนึ่งในกลุ่มวัฒนธรรมซึ่งจีนเรียกว่า ผู หรือไป่ผู หรือผูร้อยจำพวก เป็นชนเผ่าที่กระจายตัวกันอยู่อย่างกว้างขวางมานมนาน หมายถึงชนเผ่าที่อยู่อาศัยตั้งแต่แถบลุ่มแม่น้ำฮั่นสุยลงมาจนถึงอุษาคเนย์ ต่อมาชาวผูที่อยู่ใกล้กับจีนแยกตัวออกเป็นสองสาย กลุ่มหนึ่งพัฒนาเป็นชนเผ่าฉู่ หรือ ฌ้อ และรับอิทธิพลจากจีนตงง้วนคือบริเวณใจกลางของแผ่นดินจีนเป็นหลัก อีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่ใต้ลงมาจากชาวฉู่ เรียกว่า เยวี่ย อยู่กระจายตัวกันตั้งแต่เซี่ยงไฮ้ลงมาจนถึงเวียดนามเหนือ ชนกลุ่มไป่เยวี่ยนี้เอง คือบรรพชนของกลุ่มชนที่ใช้ภาษาตระกูลไท-กะได มีวัฒนธรรมประเพณีที่ย้อนกลับไปในอดีตกาลนานโพ้นกว่า ๖,๐๐๐ - ๒,๐๐๐ ปี ผ่านมา มาถึงยุคราชวงศ์ฮั่น หรือราว 200 ปี ก่อนคริสตกาล จีนหันมาเรียกชนพื้นเมืองทางใต้กลุ่มนี้ว่า Lak ครั้นถึงยุคราชวงศ์เว่ย และราชวงศ์จิ้น อยู่ในราวช่วงหลังคริสต์ศตวรรษที่ ๓ เป็นต้นมา จีนก็หันมาเรียกว่า Lau ซึ่งมักออกเสียงว่า เหลียว แต่คนโบราณนั้นอ่านว่า เหล่า จนมาถึงยุคราชวงศ์ถัง คือราวคริสต์ศตวรรษที่ ๗-๑๐ ที่นิยมเรียกกันทั่วไปว่า เหล่า ดังนั้นคำเรียกว่า เหล่า หรือ ลาว หรือจึงนับว่าเริ่มเรียกกันมาตั้งคริสต์ศตวรรษที่ ๓ และเนื่องจากเป็นกลุ่มชนกลุ่มใหญ่ที่กระจายตัวกันอย่างกว้างขวาง เวลาเรียกแบบเป็นกลุ่มย่อยให้เฉพาะเจาะจงจึงเติมชื่อสถานที่เข้าไป เช่น เหล่า ในจังหวัดหนานผิง ก็เรียกหนานผิงเหล่า เป็นต้น มาถึงราชวงศ์ซ่ง ก็เลิกเรียกว่า เหล่า แต่หันมาเรียกกลุ่มชนพื้นเมืองทางใต้ว่า หมาน แทน และต่อๆ มาก็เรียกปะปนกันไป ทั้ง หมาน อี๋ เหมียว... และเริ่มเรียกชื่อกลุ่มย่อยมากขึ้น รวมถึงชื่อเผ่า ไต-ไท ที่เริ่มปรากฏขึ้นในยุคราชวงศ์ซ่ง อย่างไรก็ตามจากวัฒนธรรมข้าวดึกดำบรรพ์ที่ชาวไป่ผู่ –ไป่เยวี่ยมีร่วมกัน ก็ได้พัฒนาแตกสายกลายเป็นความหลากหลายที่แตกต่างกันไปมากยิ่งขึ้น กลุ่มที่ใกล้ชิดกับชนชาติไท คือกลุ่มที่ใช้วัฒนธรรมแถน ที่ทุกวันนี้ยังพบได้ชัดเจน ในวัฒนธรรมชนชาติลาว ชนชาติไท ชนชาติจ้วง วัฒนธรรมแถน เป็นวัฒนธรรมร่วมกันของกลุ่มชนทั้งผืนแผ่นดินในภูมิภาคอุษาคเนย์ รวมไปถึง ยูนนาน กวางสี กวางตุ้ง กุ้ยโจว และหูหนาน รวมถึงภูมิภาคในกลุ่มประเทศเป็นเกาะต่างๆ ในภูมิภาค อุษาคเนย์ รวมไปถึงไหหลำ และไต้หวันด้วย กลุ่มชาติพันธุ์ไท หรือกลุ่มวัฒนธรรมในกลุ่มตระกูลภาษาไท – กะได เป็นสาขาหนึ่งของตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากภาษาเยวี่ย หรือภาษาผู ซึ่งอันที่จริงวัฒนธรรมดั้งเดิมก่อนที่วัฒนธรรมจากชมพูทวีปจะแผ่เข้ามา ชนพื้นเมืองเหล่านี้มีระบบความเชื่อของตนเองอยู่ก่อนแล้ว คือ ระบบผีฟ้าหรือ วัฒนธรรมผีแถน นั่นเอง ความหมายดั้งเดิม คำว่า ผี แถน หรือ ผีฟ้า หมายถึงเทวดา ในภาษาตระกูลไท ต่อมาคำว่า ผี จึง หมายถึงวิญญาณ ในภาษาไท รุ่นหลัง โลกทัศน์เกี่ยวกับจักรวาลของชนชาติไท-ลาว นับแต่อดีต มีความผูกพันอยู่กับความเชื่อเรื่อง ปู่แถน หรือ ผีแถน ในฐานะเช่นเดียวกับพระเจ้าผู้สร้างโลก แม้แต่ในโลกมลายู ที่แม้ภายหลังชาวมลายาจะหันมานับถือศาสนาอิสลามและเปลี่ยนมานับถือ องค์อัลเลาะห์ (Allah)ที่เป็นพระเจ้าองค์เดียวของศาสนา แต่เขาก็ยังนิยมเรียกพระเจ้าของเขาว่า ตูฮัน (Tuhan) เป็นส่วนใหญ่ คำว่า ตูฮัน (Tuhan) คือคำที่คลี่คลายมาเป็น แถน หรือในที่นี้ หมายถึง เทวดา และ ตูฮัน นั้นเท่ากับ เทวดาผู้เป็นใหญ่ซึ่งอยู่บนฟากฟ้า หรือแถนหลวง นั่นเอง (ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจากหนังสือ “วัฒนธรรมข้าวไท” โดย ทองแถม นาถจำนง เรียบเรียง) โปรดอ่านต่อตอนจบ