นายนิมิต วันไชยธนวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวถึงการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเพื่อคนทั้งมวลในจังหวัดสุพรรณบุรี และพื้นที่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งจัดโดย สำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง อพท. 7 โดยมีผู้แทนองค์กรทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ร่วมลงนามความร่วมมือ จำนวน 17 องค์กร เพื่อส่งเสริม และปรับปรุงพัฒนาตึกอาคาร สถานที่ แหล่งท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร จุดแวะพัก และบริการที่เกี่ยวข้อง ในจังหวัดสุพรรณบุรี และพื้นที่เชื่อมโยง ให้มีอารยสถาปัตย์ (Friendly Design) หรือสิ่งอํานวยความสะดวกต่างๆ รองรับนักท่องเที่ยวทุกกลุ่มวัย และทุกสภาพร่างกาย ให้สามารถเข้าถึงได้ และใช้บริการต่างๆได้ โดยสะดวก โดย นายนิมิต กล่าวว่า สุพรรณบุรี เป็นจังหวัดที่มีการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่ผสมผสานกันอย่างลงตัว มีสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ ซึ่งเวลานี้ได้ร่วมกันพัฒนาอาคารสถานที่ราชการ รวมถึงส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ให้มีอารยสถาปัตย์ เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึง และใช้บริการได้อย่างสะดวก ปลอดภัย และเสมอภาคเท่าเทียม โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และผู้พิการ ด้าน นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า แนวทางการดำเนินงานของ อพท.คือ การใช้กลไกการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเป็นเครื่องมือพัฒนาชุมชนและแหล่งท่องเที่ยว เพื่อสร้างความสุข ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งมีภารกิจในด้านการประสาน ส่งเสริม สนับสนุน เพื่อบริหารจัดการการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษให้เกิดความยั่งยืนเป็นการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561 -2580) ซึ่งมีกรอบแนวคิดที่สำคัญด้านการท่องเที่ยวในการสร้างความสามารถในการแข่งขัน โดยดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวทุกกลุ่ม ทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ สำหรับแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติฉบับที่ 2 (พ.ศ.2560 –2564) ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ส่งเสริมการเข้าถึง และรองรับการท่องเที่ยวที่ปราศจากอุปสรรค โดยแผนการพัฒนาในครั้งนี้จะเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจ และจัดให้มีการท่องเที่ยวที่มีความพร้อมด้านอารยสถาปัตย์ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามข้อตกลงร่วมกัน 3 ข้อ ซึ่งข้อ 1.สร้างความรู้ ความเข้าใจ และประสานความร่วมมือในหน่วยงาน ภาครัฐ ภาคเอกชน ในจังหวัดสุพรรณบุรี ให้มีการจัดการการท่องเที่ยวที่มีความพร้อมด้านอารยสถาปัตย์ และเป็นต้นแบบแหล่งท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล ข้อ 2. สร้างเครือข่ายความร่วมมือในหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน เพื่อพัฒนาปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวสถานบริการ ในจังหวัดสุพรรณบุรี ให้มีความพร้อมด้านอารยสถาปัตย์อย่างยั่งยืน ข้อ 3.ส่งเสริม สนับสนุน และผลักดันให้สถานประกอบการ สถานบริการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในจังหวัดสุพรรณบุรี ให้มีความพร้อมด้านอารยสถาปัตย์ ด้าน นายณัฐปคัลภ์ อัครวิชญ์ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสุพรรณบุรี กล่าวว่า การท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล เป็นสิ่งที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ ซึ่ง ททท.ได้สนับสนุนเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมามีโครงการที่สร้างแรงบันดาลใจให้นักท่องเที่ยวทุกกลุ่ม โดยเฉพาะผู้พิการและผู้สูงอายุได้ออกมาเปิดประสบการณ์เดินทางท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวที่พร้อมด้วยอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวลทุกภูมิภาคในประเทศไทย พร้อมกันนี้ได้บูรณาการร่วมกับโครงการ Amazing Thailand Safety and Health Administration (SHA) เพื่อทำให้นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์ที่ดี มีความสุข และมั่นใจในความปลอดภัยด้านสุขอนามัยด้วย กลุ่มผู้สูงอายุ และผู้พิการ ขณะที่ นายสรชัด สุจิตต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสุพรรณบุรี เขต 1 และผู้บริหาร PPT Station สาขาเลี่ยงเมืองสุพรรณบุรี กล่าวว่า อารยสถาปัตย์ มีความสำคัญและจำเป็นสำหรับคนทั้งมวล เพราะจะช่วยให้สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้สะดวก ปลอดภัย ซึ่งทาง PPT เองได้จัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ที่จอดรถวีลแชร์ ทางลาด ห้องน้ำ Friendly Design รวมถึงป้ายสัญลักษณ์ ที่จะทำให้ทุกคนสามารถใช้บริการภายในปั๊มน้ำมันได้อย่างสะดวก และปลอดภัย ส่วน นายกฤษนะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล กล่าวว่า อารยสถาปัตย์ มีคุณค่า และมีความสำคัญในการอำนวยความสะดวกให้เกิดการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยพักพื้น สตรีมีครรภ์ และเด็กเล็ก สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้สะดวก ปลอดภัย