ลานบ้านกลางเมือง / บูรพา โชติช่วง เดินตรอกโรงยา แลชาวแพแม่น้ำสะแกกรัง ฝนแล้งก็บ่น ฝนตกหนักจัดเต็มก็บ่น นี่แหละมนุษย์ วันหยุดสัปดาห์ที่แล้วก็เลยถือโอกาสหนีน้ำเร่งระบายในเมืองกรุงออกต่างจังหวัด มุ่งสู่เมืองอุทัยธานี ดินแดนที่อุดมไปด้วยธรรมชาติป่าเขาลำเนาไพร หลากหลายชาติพันธุ์ ประเพณีและวัฒนธรรม ส่วนทริปนี้หมุดหมายอยู่แค่นั่งเรือชมวิถีชาวแพแม่น้ำสะแกกรัง โบสถ์วัดวาอาราม เย็นมาหาของกินถนนคนเดินตรอกโรงยา ไปเที่ยวนี้แลบ้านไม้ ตึก อาคารร้านค้าทาสีม่วงกันเป็นทิวแถวตลอดริมฝั่งแม่น้ำสะแกกรัง และถนนย่านการค้า ด้วยเพราะที่นี่มีพระตำหนักของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาสร้างประทับไว้ริมฝั่งแม่น้ำสะแกกรัง จากคำเล่ามัคคุเทศก์ท้องถิ่นบอก “พระองค์ทรงชอบให้เรียกบ้านมากกว่าพระตำหนัก” เมื่อนั่งเรือผ่านมัคคุเทศก์ก็ชี้ให้ดู แลเห็นเป็นบ้าน(พระตำหนัก)หลังเดียวสองชั้น ไม่ได้ใหญ่โตและรั้วติดชาวบ้าน ประวัติเมืองอุทัยธานี ท่านสามารถเสริท์ค้นข้อมูลแหล่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจังหวัดอุทัยธานีได้ ส่วนตรงนี้เพียงกล่าวสั้นๆ ทางหลักฐานโบราณคดี เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์เมื่อประมาณ 3,000 ปี มาแล้ว โดยพบหลักฐานยืนยันในหลายพื้นที่ เช่น โครงกระดูก เครื่องมือหินกะเทาะจากหินกรวด และภาพเขียนสมัยก่อนประวัติศาสตร์เขาปลาร้า นอกจากนี้มีตำนานเล่า และเรียกชื่อ “เมืองอู่ไทย” ต่อมาเรียกกันเป็น “เมืองอุไทย” “เมืองอุไทยธานี” กระทั่งมาสะกดคำ “เมืองอุทัยธานี” และยังเป็น “เมืองพระชนกจักรี” ตามคำขวัญของจังหวัด เมืองอุทัยธานีในด้านความหลากหลายทางชาติพันธุ์ มีทั้งกะเหรี่ยง ละว้า ขมุ ลาว มอญ จีน และไทยอยู่ร่วมกันผ่านทางวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีซึ่งกันและกัน อีกวิถีชีวิตดูจะเรียบง่าย ในด้านการค้าในเมืองนั้นโดยเฉพาะคนไทยเชื้อสายจีน “เปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวกันมาก” มัคคุเทศก์ท้องถิ่นว่าอย่างนั้น ในขณะที่วิถีชีวิตชาวแพ เลี้ยงปลากระชังอีกทั้งเรือนแพแต่ละหลังมีการปลูกผักบุ้งไว้กินไว้ขาย บางหลังทำเป็นโฮมสเตย์ รองรับนักท่องเที่ยวที่ชอบดื่มด่ำธรรมชาติ อินไปกับแม่น้ำสะแกกรัง “ปัจจุบันมีชาวแพอาศัยอยู่ในแม่น้ำหน้าเมืองเพียง 90 กว่าหลังคาเท่านั้น ด้วยเพราะไม้ไผ่ที่จะมาทำแพหายากขึ้น ทำให้วิถีชาวแพบางส่วนขึ้นบก” มัคคุเทศก์คนเดิมว่า ที่ริมฝั่งชาวแพยังมีวัดอุโบสถาราม หรือที่ชาวบ้านเรียก วัดโบสถ์ ให้นักท่องเที่ยวข้ามสะพานแม่น้ำสะแกกรัง (หน้าเมือง) ไปเดินชมโบราณสถาน จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถและพระวิหาร ตามข้อมูลประวัติวัดอุโบสถาราม เดิมชื่อวัดโบสถ์มโนรมย์ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำสะแกกรัง สร้างขึ้นประมาณ พ.ศ. 2324 อุโบสถขนานเสมอกับพระวิหาร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก และเจดีย์ 3 องค์หลากรูปแบบ สร้างเรียงไว้ทางทิศตะวันตกด้านริมแม่น้ำ เป็นแบบอย่างของการสร้างวัดในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย รัตนโกสินทร์ตอนต้น ภายในพระอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังเขียน เล่าเรื่องพุทธประวัติและเทพชุมนุม ตามแบบประเพณีนิยม สมัยรัชกาลที่ 3 ส่วนพระวิหารมีจิตรกรรมฝาผนัง เขียนเล่าเรื่องพระอสีติมหาสาวก (พระภิกษุสาวกผู้ใหญ่ 80 รูป) นอกจากนี้มีรายละเอียดภาพ รูปบ้านเรือน เรือกลไฟ การแต่งกายของผู้คนแบบตะวันตกที่นิยมกันสมัยรัชกาลที่ 5 ส่วนผนังด้านนอกด้านหน้าพระวิหาร เขียนเป็นภาพเรื่องนมัสการรอยพระพุทธบาท สระบุรี เป็นประเพณีนิยมของประชาชนในลุ่มน้ำภาคกลาง ที่สืบปฏิบัติกันมาสมัยกรุงศรีอยุธยา ด้านริมน้ำมีมณฑปแปดเหลี่ยมสร้างต่อฐานไพที ใช้เป็นที่อัฐิพระครูสุนทรมุนี (จัน) อดีตเจ้าคณะจังหวัด ซึ่งมณฑปนี้อยู่ระหว่างบูรณะ หลุดจากโบราณสถาน วิถีชาวแพ มาเดินชมบรรยากาศถนนคนเดินตรอกโรงยา ตรอกเล็กที่มีระยะทางราว 200 เมตร ชุมชนเก่าแก่ชาวจีนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากริมแม่น้ำสะแกกรัง ในอดีตเป็นแหล่งสูบฝิ่นเปิดอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ตามข้อมูล สมัยนั้นทั้งคนซื้อคนขายสูบฝิ่นกันอย่างเสรี ชาวบ้านจึงเรียกกันติดปากว่า “ตรอกโรงยา” หรือชาวจีนเรียก “เซ็กเกี๋ยกั้ง” จนกระทั่งปี พ.ศ. 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ ประกาศให้ฝิ่นเป็นสิ่งเสพติดผิดกฎหมาย ตรอกโรงยาจึงต้องปิดตัวลงไปโดยปริยาย ทำให้ตรอกโรงยาเงียบเหงา จนเวลาล่วงผ่านมาปี พ.ศ. 2553 ตรอกโรงยากลับมามีชีวิต คึกคักอีกครั้ง ด้วยกลายมาเป็นถนนคนเดิน เต็มไปด้วยข้าวของกิน เสื้อผ้า อีกจิปาถะวางขายแบกะดิน แผงลอย ไปจนถึงร้านรวง บ้านพักอาศัย เปิดร้านขายของ เคล้าด้วยกิจกรรมทางวัฒนธรรมทุกวันมาอวดศิลปการแสดงและดนตรี บนถนนคนเดินคู่ขนานไปบ้านไม้สองชั้น ที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงของเดิมนัก ตึกอาคารพาณิชย์บางห้องแทรกลงสองข้างทางในตรอก ตรอกโรงยา เป็นอีกหนึ่งในชุมชนแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของเมืองอุทัยธานี เรียนรู้บนถนนตรอกเล็กๆ เส้นนี้ที่ถูกเรียกตรอกโรงยา อย่างที่โครงการถนนสายวัฒนธรรมตั้งชื่อ “ถนนสั้น ตำนานยาว” ประมาณนั้น เป็นอันว่าจบทริปสั้นๆ เดินตรอกโรงยา ล่องเรือแลชาวแพแม่น้ำสะแกกรังเท่านี้