ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย ความจริงประการแรกก็คือโควิด-19 ไม่ใช่ตัวปัญหาที่ทำให้เศรษฐกิจไทยตกต่ำ แต่โควิดเป็นตัวเร่งทำให้ปัญหาที่หมักหมมสะสมกันมายาวนานได้ปะทุแตกตัวเหมือนฝีหนองเรื้อรังแล้วมาแตกเองในช่วงนี้ ความจริงต่อมาคือการเมืองไทยไม่เคยก้าวรุดหน้าไปสู่ความมีเสถียรภาพ หรือเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงเลย การเมืองไทยเวียนว่ายอยู่ในวงจรอุบาทว์ มีเลือกตั้ง มีรัฐธรรมนูญ แล้วก็มีการรัฐประหารยึดอำนาจ แล้วก็มีการเลือกตั้ง แล้วยึดอำนาจเวียนวนไปอย่างนี้ ประชาชนก็เข้าใจว่ามีการเลือกตั้งเมื่อไรก็เป็นประชาธิปไตย มีรัฐธรรมนูญก็เป็นประชาธิปไตย และนักการเมืองก็คือตัวแทนในระบอบประชาธิปไตย แต่ในความเป็นจริง การเลือกตั้งกลายเป็นเพียงเครื่องมือเข้าสู่อำนาจและแสวงประโยชน์ แต่หลังเข้าคูหาประชาชนได้ใช้อำนาจอธิปไตยเสร็จก็ใบ้กิน ไม่ได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบการบริหารบ้านเมืองของรัฐบาล ส่วนรัฐธรรมนูญนั้นในระบอบเผด็จการ เช่น นาซีก็มีรัฐธรรมนูญ ระบอบคอมมิวนิสต์แบบจีนก็มีรัฐธรรมนูญ อังกฤษไม่มีรัฐธรรมนูญแต่ใช้จารีตและแบบอย่างที่มาจากอดีต จึงไม่มีการเขียนรัฐธรรมนูญ แต่อังกฤษก็อยู่ในระบอบประชาธิปไตย ความจริงอีกอย่างก็คือใครก็ตามที่มาบริหารบ้านเมืองไม่ว่าจะผ่านการเลือกตั้ง หรือมาจากการยึดอำนาจก็ล้วนเป็นนักการเมืองทั้งนั้น หากมาบริหารบ้านเมืองทั้งทางตรงทางอ้อมต่างก็เป็นนักการเมืองทั้งนั้น เมื่อการเมืองไม่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง จึงไม่มีเสถียรภาพ ซึ่งต่างกับการกล่าวอ้างถึงความมั่นคงอันเป็นคนละเรื่อง ความมั่นคงนั้นคือการยึดติดกับที่ แต่เสถียรภาพนั้นปรับเปลี่ยนได้ตามกลไกที่มีเหตุมีผลเป็นธรรม นอกจากนี้ความมั่นคงก็ยังแตกต่างกันมากระหว่างความมั่นคงของรัฐกับความมั่นคงของรัฐบาล เพราะรัฐจะต้องดำรงอยู่ตลอด แต่รัฐบาลเปลี่ยนได้เสมอ หากไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่มีเหตุผลของประชาชน ด้านสังคมเราถูกปลูกฝังให้ติดยึดกับแนวคิดที่แบ่งชนชั้น โดยใช้วิธีการต่างๆ ด้วยการใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือ เช่น ใช้ศาสนาพราหมณ์ที่มีหลักคิดในการแบ่งชนชั้นวรรณะมาครอบงำ ใช้วรรณคดีมอมเมา และใช้การศึกษาเป็นตัวครอบงำการคิดนอกกรอบ ด้านเศรษฐกิจ เรามีคนเพียง 1% ที่มีสิทธิเหลือสินทรัพย์ถึง 90% เรามีการกระจุกตัวของรายได้ประชาชาติถึง 50% ที่กทม. ที่เหลือกระจายไปตามภาคต่างๆ ภาคใต้มีส่วนแบ่งน้อยที่สุด แต่มีความแตกต่างของรายได้สูงกว่าภาคอื่น ยกเว้นกทม. ในภาพรวมช่องว่างระหว่างคนจนคนรวยในประเทศไทย จัดอยู่ในอันดับต้นๆ และเลวร้ายไปทุกที ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจ อันมีโควิด-19 เป็นตัวเร่ง ทำให้ฝีแตก ทุกอย่างจึงล้มครืนลงมา ด้วยเหตุนี้เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวในปี 2564 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ก็เกิดประเด็นคำถามว่าจะเป็นได้อย่างไร ในเมื่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยมันบิดเบี้ยวมานานนมจนการพังครั้งนี้ทำให้ยากจะลุกขึ้นได้ หากจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจกันอย่างจริงจัง ก็ต้องยอมรับว่าเราจะฝันกลางวันกลางฤดูฝนว่าเราจะฟื้นตามเศรษฐกิจโลกคงจะยากนอกจากจะทำการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างจริงจัง โดยแบ่งขั้นตอนเป็นระยะดังนี้ 1.ระยะเฉพาะหน้า ต้องทุ่มงบประมาณไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านล้านในการเยียวยาและพยุงเศรษฐกิจ นั่นคือต้องพยุงอำนาจซื้อของประชาชน เพราะการบริโภคของประชาชนนับเป็น 50% ของ GDP โดยประมาณ คาดกันว่าคนจะตกงานไม่ต่ำกว่า 8 ล้านคนในสิ้นปีนี้ SME จะล้มละลายไม่ต่ำกว่า 80%-90% จึงต้องแก้จุดนี้ให้ได้ก่อน 2.ระยะสั้นต้องทำการปรับความรู้ความชำนาญของแรงงานที่ไม่สอดรับต่อการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างนี้ หรือเพิ่มเติมความรู้ให้สอดรับต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เช่น แอร์โฮสเตสตกงานก็มาฝึกให้เป็นผู้ช่วยพยาบาล หรือยกระดับเป็นพยาบาล เพื่อรองรับอุตสาหกรรมด้านสุขภาพและการแพทย์เป็นต้น ใช้มาตรการทางภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจให้มีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ หรือการวิจัยพัฒนา 3.ระยะสั้นปานกลาง ปรับโครงสร้างภาษีให้เน้นการใช้ภาษีทางตรงเป็นตัวหลักของรายได้ แทนภาษีทางอ้อม และพยายามลดขนาดงบประมาณขาดดุลเพื่อลดภาระหนี้สาธารณะ อนึ่งภาษีทางตรงจะช่วยลดช่องว่างทางรายได้ที่ได้ผลอย่างหนึ่ง นอกเหนือจากการสร้างระบบสวัสดิการที่มีประสิทธิภาพให้กับประชาชนระดับต่างๆที่สมเหตุสมผล ปฏิวัติการศึกษาให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของโลก ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตร วิธีการถ่ายทอด และบุคลากรทางการศึกษา ส่วนระยะปานกลางและระยะยาวขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เราคงไปกำหนดอะไรตายตัวได้ยาก ที่สำคัญเราจะต้องผลักดันให้ประเทศไทยยกระดับการเมืองไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้นคือ อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน และประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานของรัฐบาลทุกขั้นตอน ทุกวันนี้เรายังไม่เห็นว่ารัฐบาลได้มีมาตรการอะไรอย่างจริงจังที่จะแก้ปัญหา นอกจากปัดสวะไปวันๆ เช่น ให้พวกตกงานย้ายไปอยู่ภาคเกษตร ซึ่งมันพูดง่ายทำยาก โดยเฉพาะตราบใดที่ยังไม่มีการ Reskill คนในภาคอุตสาหกรรม หรือภาคบริการให้สามารถทำการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญคือ การผูกขาดในตลาดการเกษตร ทำให้เกษตรกรยิ่งทำยิ่งจนยิ่งทำยิ่งเป็นหนี้ หากเรามีเป้าหมายจะเป็นมหาอำนาจทางด้านการเกษตร เราต้องปรับปรุงโครงสร้าง ทั้งกระบวนการเพื่อให้มีการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม อันจะเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรได้มีพลังสร้างรายได้ที่เป็นกอบเป็นกำให้แก่ประเทศชาติ การวางนโยบายด้านการเกษตรจึงเป็นปัจจัยสำคัญ ตัวอย่างเช่นการสร้าง Zonning เน้นการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เช่น ออร์แกนิค หรือการผลิตข้าวคุณภาพ เน้นตลาดบน แทนการไปผลิตข้าวคุณภาพ ปานกลาง และต่ำแข่งกับเวียดนามหรือ อินเดีย ยิ่งรัฐบาลล่าช้าในการดำเนินนโยบาย เศรษฐกิจก็จะยิ่งทรุดตัวลงไปลึกเข้าไปทุกที ถึงสิ้นปีเมื่อคนว่างงาน 8-10 ล้านคน SME เจ๊ง ร้านอาหารเจ๊ง ห้างสรรพสินค้าปิดตัว อสังหาริมทรัพย์ล้ม มันจะเป็นคลื่นที่กระทบกันไปทั่ว เพราะกำลังการซื้อหดหาย อุตสาหกรรมอุปโภคบริโภคก็จะต้องลดการผลิต บางแห่งต้องปิดตัว หนี้ภาคเอกชนเพิ่มท่วมหัว ธนาคารขาดทุน หุ้นกู้กลายเป็นเศษกระดาษ และในที่สุดหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ก็จะดิ่งลงเหว ดังนั้นการใช้นโยบายการคลังที่จะผันเงินลงช่วยพยุงสถานภาพของธุรกิจและการบริโภคของประชาชน แม้จะต้องเป็นหนี้เพิ่มขึ้นก็ต้องทำ นอกจากนี้ผู้เขียนใคร่ขอเสนอให้ใช้นโยบายการเงินมาเสริม นั่นคือการใช้นโยบาย QE (Quantitative Easing Monetary Policy) โดยพิมพ์ธนบัตรเพิ่มอัดฉีดเข้าในระบบ ซึ่งจะทำให้ไม่เสียวินัยทางการเงิน แต่เงินนี้ไม่ต้องใช้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย หากไม่มีกฎหมายรองรับ รัฐบาลก็เสนอสภาฯแก้ไข พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ไม่ยากถ้าทำได้จริงมัน จะมีประโยชน์ในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะแบงก์ชาติจะเอาเงินนี้ไปซื้อหุ้นกู้ต่างๆ และตราสารหนี้ ซึ่งกำลังจะกลายเป็นเศษกระดาษ และจะมีผลกระทบต่อกองทุนสวัสดิการสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญ และสหกรณ์ต่างๆที่ถือหุ้นกู้ไว้มาก เนื่องจากให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝากที่ดอกเบี้ยต่ำมาก ถ้าเป็นตามที่ผู้เขียนคาดนี่ก็เป็นอีกมาตรการที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจ ยิ่งถ้าธนาคารชาติพยายามใช้มาตรการทางการเงินเพื่อลดค่าเงินบาทลงก็จะช่วยการส่งออกและการท่องเที่ยวได้อีกทาง ค่าเงินบาทแข็งค่าเหลือเกิน เพราะเราลดนำเข้าในอัตราที่สูงกว่าการส่งออก จึงเกินดุลมาโดยตลอด นี่ยังไม่ได้เขียนถึงปัญหาคอร์รัปชันที่เป็นมหากาพย์เลยนะ