งบประมาณกระทรวงกลาโหม ยังคงเป็นเป้าหมายของฝ่ายค้าน ในศึกอภิปราย ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ปี 2564 ในสภา 1-2 ก.ค. ที่ผ่านมา ยิ่งในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำหลังสถานการณ์โควิด จนต้องมีการกู้เงินด้วยแล้ว แม้ว่างบประมาณของกลาโหมปี 2564 จะลดน้อยลง จาก งบฯปี 2563 ที่ได้ 231,745 ล้านบาท แต่ ปี 64 งบฯ 2.33 แสนล้านบาท ก็ยังมาเป็น อันดับ 4 ของกระทรวงทั้งหมด ทั้งพรรคเพื่อไทย และ พรรคก้าวไกล ที่พุ่งเป้ามาที่งบฯกลาโหม โดยเฉพาะ งบฯในการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ที่ถูกชะลอมาจากงบฯปี 2563 หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ ได้สั่งให้ กลาโหม ตัดงบประมาณ ปี 2563 ด้วยการชะลอโครงการต่างๆ รวม 1.77 หมื่นล้าน เพื่อโอนเงินไปสู่งบฯกลาง นำไปใช้ในการแก้ปัญหาโควิดฯ ดังนั้นในงบฯปี 2564 จึงมีการนำโครงการที่ถูกชะลอ มาจากปี 2563 มาบรรจุไว้ รวมทั้งโครงการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ทั้ง โครงการเรือดำน้ำ จีน S26T. ลำที่ 2 และ 3 รวมงบฯ 2.25 หมื่นล้าน ส่วนกองทัพอากาศนั้น มีโครงการจัดซื้อ เครื่องบิน ฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้น T-50TH จากเกาหลี อีก 2 ลำ ที่เป็นการทยอยจัดซื้อ เป็นลอตที่ 4 งบประมาณ 2,450 พันล้านบาท ที่ถูกชะลอ มาจาก งบฯปี 2563 ในส่วนของทบ. เสนอซื้อรถเกราะ Stryker ล็อตที่ 2 งบฯ 4.5 พันล้าน ที่ชะลอมาจากปี 2563 ที่จะซื้อ 50 คัน ผ่านโครงการความช่วยเหลือทางการทหาร Foreign Military Sales -FMS จากสหรัฐอเมริกา ทบ.สหรัฐฯ ให้เพิ่ม อีกราว 80 คัน รวมได้ 130 คัน ที่จะมีทั้งรถเกราะ รถพยาบาล รถลาดตระเวน รวม 5 แบบ และ การจัดซื้อ รถถัง VT 4 จาก จีน- รถเกราะ VN1 จากจีน ลอตที่ 2 ด้วย แต่กองทัพเรือ โดนหนักสุด ในการต่อต้านการซื้อเรือดำน้ำ อีก 2 ลำ เพราะมองว่า ยังชะลอได้อีก งานนี้ ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.พรรคเพื่อไทย อภิปรายถล่มเรือดำน้ำ โดยเฉพาะ โดยกดดัน ให้ พล.อ.ประยุทธ์. ชะลอออกไป จนกว่า เรือดำน้ำ ลำแรก จะมาปี 2566 ลองใช้ดูก่อน จนทำให้ “บิ๊กช้าง” พล.อ. ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ต้องชี้แจงถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นหาก เรือดำน้ำ อีก2 ลำ เข้าประจำการ ช้ากว่ากำหนด เพราะ สั่งซื้อลำหนี่ง ต้องใช้เวลา 6-7 ปี ซึ่งลำที่ 2-3 หากสั่งการ ในงบฯปี 2564 จะเข้าประจำการ หลังปี 2569 ที่จะทำให้เรา ตามหลังประเทศอื่น 8-10 ปี ในปัจจุบัน ความสำคัญด้าน Maritime security หรือ ความมั่นคงทางทะเล และ เศรษฐกิจทางทะเล อีกทั้ง 4 ประเทศ ในภูมิภาคนี้ มีเรือดำน้ำ เข้าประจำการ จำนวนมาก แต่ไม่ใช่ว่าจะไปแข่งขัน หรือรบ กับเขา แต่เราต้องรักษาความมั่นคง ส่งออก และการรักษาดุลอำนาจทางทะเล และเป็น ยุทธศาสตร์ทางทะเล ที่ต้องมี เรือดำน้ำ 3 ลำ นั้น เป็นจำนวนต่ำที่สุดแล้ว ทั้งนี้พื้นที่ทางทะเล มี 2/3 โดยลำหนึ่งปฏิบัติงานในพื้นที่ อีกลำหนึ่งดูแลพื้นที่ ฐานทัพ ส่วนอีกลำหนึ่งหมุนเวียนซ่อมบำรุงตามวงรอบ และเป็นการจัดซื้อ แบบ. จี ทูจี ที่ทาง จีน ได้ให้ข้อเสนอที่ดีที่สุดทั้งอาวุธติดเรือการอบรมและการถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมทั้งการประกัน 2 ปีและอะไหล่อีก 8 ปี ถือเป็นยุทโธปกรณ์ที่มีความสำคัญต่อการรักษาความมั่นคงทางทะเล ขณะที่พรรคก้าวไกล โดย วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ก็พุ่งเป้าถล่มงบฯกลาโหม ในภาพรวม และการนำโครงการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ที่ชะลอมาจาก ปี 2563 มาไว้ในปี 2564 ถึง 22 โครงการ ราว 4,400 ล้านบาท และงบฯผูกพัน ที่สูงถึง 36% ฝ่าย กลาโหม รู้ดีว่า งบฯกลาโหม เป็นเป้าในการอภิปรายโจมตี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ในฐานะ รมว.กลาโหม จึงสั่งการให้ พล.อ. ชัยชาญ รมช.กลาโหม เตรียมพร้อมในการชี้แจงข้อมูล ในสภา โดย ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จะชี้แจง ด้วยตนเอง และรวมทั้ง มอบหมายให้ พล.อ. ชัยชาญ ช่วยชี้แจง และมีทีม นายทหาร ฝ่ายงบประมาณ และ ยุทธการ ของ กลาโหม และ 3 เหล่าทัพ มาตั้งทีม พร้อมให้ข้อมูล ในการชี้แจง ที่สภาฯ เพราะงบฯกลาโหม เป็นเป้าในการถูกฝ่ายค้าน โจมตี อีกเช่นเคย เพราะกองทัพ เป็นเป้าทางการเมือง อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ เป็น รมว.กลาโหม ด้วย โดยประเด็นที่ ถูกเน้น ที่ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ชัยชาญ ชี้แจงคือการตอกย้ำว่า อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ใช้อยู่ในกองทัพล้วนเป็นของเก่า 70-80% โดยเฉพาะเฮลิคอปเตอร์ ของกองทัพบกกองทัพอากาศ รวมทั้งเครื่องบิน ทอ.พี่ใช้ประจำการมา 40 - 50 ปีแล้ว และการเตรียมพร้อมกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์ เพื่อพร้อมรับสถานการณ์ความขัดแย้งตามแนวชายแดนที่เกิดขึ้นจากความไม่ชัดเจนของแผนที่และเส้นเขตแดนที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ “แต่หากเกิดวิกฤติการณ์ และถ้าเราไม่มีกำลังที่พร้อมเราก็ไม่สามารถที่จะควบคุมสถานการณ์และอาจเพลี่ยงพล้ำได้” พล.อ.ขัยชาญ ระบุ พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงว่า การที่ต้องจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ เพราะ ที่ใช้อยู่ เป็น ของเก่า ถึง 70-80% เพื่อที่จะได้ ไม่ต้องเสียงบฯซ่อม แต่ที่ผ่านมา ไม่ค่อยได้รับการสนับสนุน ให้จัดซื้อใหม่ การที่ต้องเตรียมกำลัง เตรียมความพร้อม เพราะสถานการณ์ที่ชายแดน ที่มันอาจจะเกิดขึ้น หรือไม่ก็ตาม เพราะ ไม่ใช่สั่งซื้อวันนี้ แล้วเดือนหน้าได้ ไม่ใช่มีวางขายหน้าร้าน ทั้งนี้ ที่ชายแดน เราใช้กำลังทหาร หลายหมื่นคนดูแลในกองกำลังต่างๆ “ในฐานะที่เป็น รมว.กลาโหม ด้วย ผมจะทำให้ดีที่สุด ขอให้เข้าใจกันบ้าง เพราะพวกท่าน ก็มี ลูกหลานเป็นทหาร เราต้องห่วงใยเขา ต้องมีอาวุธ ที่ป้องกันเขาได้ ไม่ให้เกิดความสูญเสีย” พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ งบกองทัพ งบกระทรวงกลาโหมโดยเฉพาะการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ถูกถล่มหนักที่สุด ที่แม้ว่าจะผ่านการพิจารณาของสภาในวันที่ 3 กรกฎาคมนี้ก็ตาม แต่ยังมีขั้นของกรรมาธิการที่จะต้องแปรญัตติงบประมาณ และต้องมีการชี้แจงงบประมาณในช่วงเดือนสิงหาคมนี้อีก ที่จะมีการอภิปรายถล่มงบประมาณจัดซื้ออาวุธของกองทัพอีกระลอกหนึ่งโดยเฉพาะโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ แม้ว่า จะเป็น ความจำเป็นของกองทัพเรือ ที่มีความรับผิดชอบในการดูแลความมั่นคงทางทะเลและผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจำนวนมหาศาล ที่ต้องมีเรือดำน้ำครบทั้ง 3 ลำเป็นอย่างต่ำ และจะต้องเข้าประจำการในห้วงเวลาที่ไม่ต่างกันมากนัก เพราะพลังอำนาจบางอย่าง ไปทางทะเลและการทหารก็เป็นสิ่งที่นักการเมืองไม่เข้าใจ รวมถึงกองทัพบก ในฐานะที่ “บิ๊กแดง” พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. เป็นเป้าหมายของฝ่ายการเมืองด้วย จึงคาดว่าของกองทัพบกก็จะถูกถล่มเช่นกัน แต่ท้ายที่สุดแล้ว.เป็นการวัดใจ พล.อ.ประยุทธ์ ว่ามีใจที่จะสนับสนุน และให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง หรือไม่ เพราะตอนที่ พล.อ.ประยุทธ์ ขอให้ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ตัดงบประมาณปี 2563 เพื่อมาช่วยแก้ปัญหาโควิดนั้น กองทัพก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี แต่ก็น่าจับตามอง เพราะผู้บัญชาการเหล่าทัพ ชุดนี้ ก็ล้วนที่จะเกษียณราชการในอีกไม่กี่เดือนนี้แล้ว ทั้ง “บิ๊กกบ” พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด. พล.อ.อภิรัชต์ ผบ.ทบ. “บิ๊กลือ” พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผบ.ทร. และ “บิ๊กนัต” พล.อ.อ. มานัต วงษ์วาทย์ ผบ.ทอ. ล้วนจะเกษียณราชการ 30 ก.ย. นี้ แล้ว อำนาจการต่อรอง และน้ำหนักในการเจรจา ก็อาจจะน้อยลง พล.อ.ประยุทธ์ ก็อาจจะไม่ค่อยเกรงใจ จึงมีโอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์ อาจจะ อาศัยสถานการณ์ทางการเมือง ในการชะลอโครงการต่างๆ ออกไปก่อน เพื่อลดกระแสการโจมตีรัฐบาลลง แล้วปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้บัญชาการเหล่าทัพคนใหม่ที่จะขึ้นมาและผลักดันในงบประมาณปี 2565 ต่อไป จึงถือ เป็นการวัดใจส่งท้าย ผบ เหล่าทัพ ชุดนี้เลยทีเดียว