คนข้างวัด / อุทัย บุญเย็น เดือนมิถุนายน เป็นเดือนที่มีวันสำคัญของชาติไทยหลายรายการอยู่ หนึ่งวันที่สำคัญคือ เป็นวันรัฐธรรมนูญของชาติ เพราะนับตั้งแต่มีประเทศไทยมา เราเพิ่งมีรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายสูงสุดของชาติเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ก่อนหน้านั้นเราไม่มีกฎหมายเป็นแม่แบบในการปกครองประเทศ อยู่กันมาด้วยการปกครอง(ใช้อำนาจ) ของพระมหากษัตริย์ตลอดมา แบบ “บิดาปกครองลูก” เมื่อมีการปฏิวัติใหญ่ (เรียกว่า “อภิวัติ”) โดยคณะบุคคลชื่อ “คณะราษฎร” นำโดย ดร.ปรีดี พนมยงค์ ก็ได้มีการตรากฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรก การปกครองรูปแบบใหม่นี้ เรียกว่า “ระบอบประชาธิปไตย” อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข อันเป็นการปกครองของสากล (หรือประเทศทางตะวันตก) โดยมาก ตามหลังประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นแม่แบบของระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ประมาณ 200 ปี ประเทศไทยมีภูมิหลังต่างจากประเทศทางตะวันตกอยู่หลายประการ เมื่อนำระบอบประชาธิปไตยมาใช้ จึงมีอาการลุ่มๆดอนๆตลอดมา ทุกวันนี้ แม้ประเทศไทยจะได้ชื่อว่าเป็นประเทศประชาธิปไตย แต่เราก็ยังมีความขัดแย้ง จนกลายเป็นความแตกแยกอย่างลึกซึ้ง ในการเป็นอยู่อย่างประชาธิปไตย จนมีคำพูดว่า “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” เข้าใจว่า เป็นเพราะ “ภูมิหลัง” ของคนไทย ต่างจากภูมิหลังของชาวตะวันตกนั่นเอง คำว่า “ไพร่” หรือ “ทาส” ของคนไทย มีความแตกต่างจากระบบทาสของประเทศทางตะวันตกไม่น้อย ทาสของประเทศไทยส่วนใหญ่เป็น “คนใช้” หรือเป็น “บ่าว” ทำหน้าที่รับใช้เจ้านายในบ้าน ไม่มีการซื้อขายแบบ “ปศุสัตว์” อย่างทาสในประเทศทางตะวันตก (แต่ระยะหลังๆมาก็มีการซื้อขายทาสกันบ้าง โดยได้แบบอย่างจากประเทศทางตะวันตก) ระบบทาส(ไทยเรียกพวกคนชั้นทาสว่า “ไพร่”) ของไทย เป็นแบบชาวตะวันออกอย่างอินเดียเป็นต้น เป็นทาสโดยโคตรตระกูล ที่เป็นระบบวรรณะอย่างหนึ่ง มีการสืบทอดกันโดยสายเลือดหรือญาติพี่น้อง การยกเลิกทาส เป็นการให้รางวัลอย่างหนึ่งอย่างเป็นทางการ การเรียกคนหนุ่มไปเป็นทหาร ที่เรียกว่า “ทหารเกณฑ์” เป็นระบบทาสที่ใช้อยู่ในประเทศทางตะวันออก จึงมีคำว่า “ชายไทย” มีหน้าที่รับใช้ชาติ ส่วนในประเทศทางตะวันตก การใช้ทาสไปรบ เป็นภาวะจำยอมของคนเป็นทาส ต้องไปรบเพื่อแลกกับเงิน เพราะคนเป็นทาสถูกซื้อมาแล้ว อย่างไรก็ตาม การเป็นทหารโดยการเกณฑ์ก็เป็นการบังคับเช่นกัน แต่เป็นการบังคับให้เกิดสำนึกร่วมกันเพื่อการรักษาชาติหรือแผ่น ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เพื่อจะให้นึกถึง “ภูมิหลัง” ของแต่ละภูมิภาค หรือประเทศที่แตกต่างกัน ทำให้การพัฒนาระบอบการปกครองดำเนินไปต่างกันอยู่ แต่มานึกดูอีกที ก็นึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าเรื่องศรัทธาและปัญญา ในคำสอนของพระพุทธเจ้า มีการตั้งข้อสังเกตว่าถ้ามีคำสอนเรื่อง “ศรัทธา” ก็จะมีคำสอนเรื่อง “ปัญญา” ด้วยเสมอ คือ ศรัทธามาคู่กับปัญญาเสมอ ถ้ามีแต่ศรัทธา(ความเชื่อมั่น) ไม่มีปัญญาพิจารณาคู่กัน ก็จะเป็นคนเชื่ออะไรง่ายๆ หรือถ้ามีปัญญามากไปก็จะมีความคิดไปในทางฟุ้งซ่าน ความแตกแยกของคนไทย น่าสังเกตว่า มีคนสองจำพวกนี้กำลังมีบทบาททางการปกครอง หรือทางการเมืองมากอยู่ ส่วนคนที่มีศรัทธาและปัญญาคู่กัน เป็นคนไม่พูด ไม่แสดงบทบาท น่าสังเกตว่า ฝ่ายคนที่หนักไปทางศรัทธา มักจะอาศัยความเชื่อที่มีต่อสถาบันของชาติ ในการดึงคนเข้ามาเป็นฝ่ายตน เช่นมีการปลุกใจด้วย “สี” อันเกี่ยวกับสถาบัน แม้แต่สีของธงชาติก็สร้างความแตกแยกได้ ส่วนคนที่มีความรู้หรือหนักไปทางปัญญา มักจะเอนเอียงไปทางความรู้ที่ตนได้รู้หรือได้ร่ำเรียนมา ซึ่งก็สามารถดึงคนที่ฝักใฝ่ทางข้อมูล(ความรู้) เข้ามาเป็นฝ่ายตนได้เช่นกัน จึงตั้งข้อสังเกตว่า มีคนฝ่ายที่หนักไปทางศรัทธาพวกหนึ่ง และมีคนที่หนักไปทางปัญญาอีกพวกหนึ่ง แบ่งแยกและสร้างความแตกแยกกันอยู่ แสดงว่า คนไทยสองฝ่ายนี้ไม่ได้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า อันที่จริง อยากให้ตั้งสติว่า สังคมชาวพุทธเป็นสังคมแห่งศรัทธาและปัญญา เมื่อมีศรัทธา(ความเชื่อมั่น) ก็จะต้องใช้ปัญญาด้วย เมื่อมีปัญญา(ฝักใฝ่ในความรู้) ก็จะต้องมีหลักให้ยึดด้วย มีความเห็นว่า รัฐธรรมนูญน่าจะเป็นหลักยึดที่ดีที่สุดในระบอบประชาธิปไตย แต่ก็มีคนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยึดมั่นในศรัทธาหรือในปัญญาด้านเดียวกันอยู่ มานึกดูก็ยังอุ่นใจได้บ้างว่า อายุ 88 ปีของประชาธิปไตยในประเทศไทย ซึ่งยังล้มลุกคลุกคลานอยู่นี้ ถ้าเปรียบเทียบกับประชาธิปไตยในสหรัฐอเมริกาหรือประเทศทางตะวันตก เราก็ยังเป็นเด็กอ่อนหัดอยู่ ยังมีเวลาที่จะก้าวเดินอีกไกล เมื่อใดที่คนส่วนมากพอใจหรือเข้าใจที่จะเป็นประชาธิปไตย เราก็คงเป็นประชาธิปไตยตามเขาได้ ถ้าเป็นประชาธิปไตยไม่ได้ ก็ต้องกลับไปอยู่ในระบอบการปกครองแบบเดิม คือมีคนทำหน้าที่เป็น “พ่อ” ปกครองลูกนั่นแหละ ดูๆไปแล้วก็น่าห่วงการก้าวสู่การปกครองระบอบใหม่ของไทย เพราะเท่าที่เห็น แม้แต่นักวิชาการซึ่งมีความรู้ทางการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ก็ยังเห็นว่า คนมีสิทธิมีเสียงที่ไม่มีความรู้หรือมีความรู้ต่ำ ไม่ควรจะมีสิทธิมีเสียง(ในการเลือกผู้แทนเข้าสภาฯ) เท่ากับคนมีความรู้ที่สูงกว่า ได้แต่แอบคิดว่า แล้วคนพิการ คนด้อยโอกาสด้านต่างๆและชาวนาที่ไม่มีความรู้(ทางการเมือง) จะทำอย่างไร คนด้อยโอกาสต่างๆ ควรจะมีโอกาสเลือกผู้แทนฯ เข้าไปเป็นปากเป็นเสียงของเขาด้วยมิใช่หรือ? แอบคิดอยู่เงียบๆว่า การมีสิทธิมีเสียงในระบอบประชาธิปไตย น่าจะหมายถึงการที่ทุกคนต้องจ่ายเงินภาษีเข้ารัฐมิใช่หรือ เพราะการมีระบอบประชาธิปไตย ก็เพื่อให้คนส่วนมากของประเทศอยู่กันได้ เนื่องจากรัฐมีระบบเก็บเงินภาษีจากทุกคน ทั้งทางการศึกษา (โรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย ฯลฯ )ทั้งทางการค้าขายเครื่องอุปโภคบริโภคทุกอย่าง (โดยเฉพาะมีระบบการค้าเสรีให้คนได้เปรียบทางสังคม เปิดร้านสะดวกซื้อและร้านหรือห้างขายส่งต่างๆ) ซึ่งรายได้ส่วนหนึ่งได้จากประชาชนทุกหมู่เหล่า ต้องจ่ายเข้าบำรุงรัฐในรูปเงินภาษี จำได้ว่าในสังคมระบอบเดิม (แบบพ่อปกครองลูก) เราไม่มีโรงเรียน ไม่มีวิทยาลัย-มหาวิทยาลัยมากมาย ไม่มีการค้าขายแบบเสรีผูกขาดอย่างทุกวันนี้ รัฐก็ไม่มีการจัดเก็บภาษี(เป็นเปอร์เซ็นต์) จากงานบริการของรัฐด้านต่างๆ (เก็บอย่างมากก็เงินภาษีจากที่ดิน-ที่นา) นั่นเป็นสังคมระบบเดิมที่เราเคยอยู่กันมา แต่เมื่อมีโรงเรียนมีวิทยาลัย-มหาวิทยาลัย มีร้านค้า ที่รัฐมีรายได้จากเงินภาษีเป็นกอบเป็นกำ รัฐก็จำเป็นต้องใช้ระบอบการปกครองแบบใหม่มาดูแลประชาชน การมองเรื่องสิทธิ์เรื่องเสียงก็จะต้องเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา คือมาให้ความสำคัญกับเงินภาษีของประชาชนมากกว่าอย่างอื่น ความเท่าเทียมในเรื่องสิทธิ์และเสียงของประชาชน น่าจะดูจากเงินภาษีที่คนจ่ายเข้ารัฐโดยทางอ้อม เช่น เงินภาษีร้านค้า 7% เป็นต้น ไม่ใช่ดูจากฐานะความรู้หรือฐานะความเป็นอยู่ในสังคมระบบเดิมมิใช่หรือ? จึงอดคิดไม่ได้ว่า นักวิชาการ(บางจำพวก) น่าจะเข้าใจผิดเรื่องสิทธิ์และเสียงของประชาชน(ในระบอบประชาธิปไตย) อยู่ จึงเห็นความเป็นประชาชน(ผู้เสียภาษี) ไม่เท่าเทียมกัน อันเป็นความเชื่อในสังคมแบบเดิม น่าจะทำความเข้าใจอย่างหนึ่งว่า ความแตกแยกที่เป็นไปอยู่ทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากศรัทธาและปัญญาที่คนในสังคมไทยมีอย่างไม่สมดุล คือหนักไปข้างหนึ่งเกินไป ไม่เป็นสังคมชาวพุทธตามคำสอนของพระพุทธเจ้า อยากให้เผื่อใจ (คิดถึงอกเขาอกเรา) ไว้สำหรับฝ่ายที่ยังอยู่กับความเชื่อ(ศรัทธา) ในสังคมระบบเดิมและฝ่ายที่อยู่กับข้อมูล(ความรู้)ใหม่ๆ (ซึ่งรัฐนั่นเองเป็นผู้ให้ความรู้ในโรงเรียน ในวิทยาลัย-มหาวิทยาลัย) เคยนึกถึงสังคมสงฆ์ของพระพุทธเจ้า สังเกตได้ว่า ในสังคมของอริยะไม่เคยปรากฏการแก่งแย่งแข่งขันเอาแพ้เอาชนะกันเพื่อตัวเอง เพราะเริ่มต้นท่านก็ไม่เห็นแก่ตัว (ละ “สักกายะทิฏฐิ”) ไม่เห็นแก่หมู่คณะ ต่างจากสังคมอื่น(อย่างสังคมของพระเทวทัต) ซึ่งแม้จะมีการปฏิบัติธรรมได้ฌานสมาบัติก็ตาม ก็ยังเห็นแก่ตัว เห็นแก่อำนาจ เห็นแก่ความเป็นใหญ่เหนือคนอื่นอยู่ สังคมสงฆ์ของพระพุทธเจ้า (มีผู้ใช้คำว่า “สังฆะ”นั่นแหละ) เป็นสังคมที่อยู่ด้วยศรัทธา (เชื่อมั่นในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า) และเป็นสังคมที่อยู่ด้วยปัญญา (แสวงหาความรู้ อยู่กับความเป็นจริงตลอดเวลา) ไม่อยู่ด้วยความงมงายด้านใดด้านหนึ่งเกินไป ก็เลยมาระลึกถึงระบอบประชาธิปไตยอายุ 88 ปีของไทย ซึ่งแทนที่จะมาเอื้อให้สังคมไทยอยู่กันอย่างผาสุก กลับอยู่กันด้วยความแตกแยก ด้วยศรัทธาและปัญญาที่ยังไม่สมดุล ไม่สมกับเป็นสังคมชาวพุทธตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นห่วงว่า ถ้าศรัทธายังนำสังคมมากไป สักวันหนึ่งอาจจะมีคนฉวยโอกาสชูสีและชูธงธรรมจักรสร้างความแตกแยกก็ได้ หรืออาจจะมีคนประเภทนักวิชาการนำความรู้แปลกๆให้คนเข้าใจผิดตามก็เป็นได้ ที่เป็นดังนี้ เพราะ “ภูมิหลัง” ของสังคมไทย ต่างจากประเทศอื่นที่นิยมไปทางระบอบประชาธิปไตยก็เป็นได้ ว่าก็ว่าเถิดเราอยู่ในสังคมชาวพุทธ แต่ดูเหมือนจะไม่มีความรู้ในเรื่องความเป็นชาวพุทธกันเสียเลย เห็นแต่ “ความรู้” หรือปัญญาแบบสังคมอื่นกันทั้งนั้น!